เล่มที่ 4
การศาสนา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
วันสำคัญ

ในทางพระพุทธศาสนา มีดังนี้

๑. วันวิสาขบูชา

            ซึ่งถือว่า เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ (วันเพ็ญ) เดือน ๖ ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองครั้ง ก็เลื่อนไปทำพิธีในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗

พิธีเวียนเทียนในวันวิสาขบูชา วัดธารน้ำไหล (สวนโมกขพลาราม) อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานีพิธีเวียนเทียนในวันวิสาขบูชา วัดธารน้ำไหล (สวนโมกขพลาราม) อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

๒. วันอาสาฬหบูชา

            คือ วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์เป็นครั้งแรก ซึ่งเรียกว่า ปฐมเทศนา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘

๓. วันเข้าพรรษา

            ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถ้าหากปีใดมีเดือน ๘ สองครั้งก็เข้าพรรษาในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ หลัง

๔. วันออกพรรษา

            ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ หลัง จากออกพรรษาแล้ว รุ่งขึ้นวันแรม ๑ ค่ำ มักนิยมบำเพ็ญกุศลเรียกว่า คือ ตักบาตร เนื่องในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก หลังจากที่เสด็จไปโปรดพระพุทธมารดาอยู่พรรษาหนึ่งแล้ว

๕. วันมาฆบูชา

            ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ แต่ถ้าหากปีใดมีเดือน ๘ สองครั้ง ก็เลื่อนไปทำในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ วันนี้ถือว่า เป็นวัน "จาตุรงคสันนิบาต" คือ มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้อยู่ ๔ อย่าง คือ

            ก. วันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือน ๓
            ข. เป็นวันที่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ มาประชุมกันที่เวฬุวนาราม เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ
            ค. พระอรหันต์เหล่านั้นล้วนได้รับ เอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เองทั้งสิ้น
            ง. พระอรหันต์เหล่านั้นมาประชุมพร้อมกันเองโดยมิได้มีการนัดหมาย

ประชาชนกำลังร่วมกันก่อพระเจดีย์ทรายประชาชนกำลังร่วมกันก่อพระเจดีย์ทราย

            พระพุทธเจ้าจึงทรงถือเหตุนี้ประทาน "โอวาทปาติโมกข์" ซึ่งเท่ากับเป็นการวาง "ธรรมนูญสงฆ์" ขึ้น คล้ายๆ กับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นแม่บทของกฎหมายทั้งหลาย ฉะนั้นโอวาทปาติโมกข์นี้ เปรียบเสมือนหัวใจพระพุทธศาสนา มี ๓ ข้อ คือ

๑. งดเว้นจากการทำชั่วทั้งปวง
๒. สร้างสมความดีให้เกิดขึ้น
๓. ชำระจิตตนให้บริสุทธิ์

            นอกจากนั้น ในวันเพ็ญเดือน ๓ นี้ ยังมีเหตุการณ์ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เป็น วันที่พระพุทธเจ้าทรงปลงพระชนมายุสังขาร ว่าจะปรินิพพานในอีก ๓ เดือนข้างหน้า