เล่มที่ 6
ปริมาตร
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ปริมาตรรูปทรงที่มีหน้าเป็นรูปหลายเหลี่ยม (polyhedron)

            รูปทรงเรขาคณิตที่มีผิวหน้าเป็นรูปหลายเหลี่ยม เช่น หีบเสื้อผ้า กล่องสี่เหลี่ยม ตู้เก็บกับข้าว มีผิวหน้าเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หมอนขวาน มีผิวหน้าเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสามรูป และหัวท้ายมีผิวหน้าเป็นรูปสามเหลี่ยม วิชาคณิตศาสตร์แบ่งรูปทรงนี้ ออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
1. รูปปริซึม

            เป็นรูปทรงซึ่งมีผิวหน้าบนและล่าง เรียกว่า ฐาน ซึ่งอาจเป็นรูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หรือหลายเหลี่ยมก็ได้ ที่เท่ากันทุกประการ ส่วนผิวด้านข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านขนาน
            ถ้าผิวด้านข้างของรูปปริซึมเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และตั้งฉากกับฐานของปริซึมเราเรียกปริซึมชนิดนี้ว่า ปริซึมตรง ถ้าผิวด้านข้างไม่ตั้งฉากกับฐาน เราเรียกว่า ปริซึมเอียง กล่องสี่เหลี่ยมเป็นตัวอย่างของปริซึมตรงมีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หมอนขวานเป็นตัวอย่างของปริซึมตรงมีฐานเป็นรูปสามเหลี่ยม ปริซึมที่มีผิวหน้าทั้งหกเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเราเรียกว่า รูปลูกบาศก์ (cube) เช่น ลูกเต๋า เป็นต้น

ปริมาตรของปริซึมตรง = พื้นที่ฐาน x ความสูง

            ถ้าปริซึมเอียงเราต้องหาความสูงซึ่งตั้งได้ฉากกับฐานของปริซึม จากวิชาเรขาคณิต เราทราบว่า ปริซึมสองรูปที่ตั้งอยู่บนฐาน ที่มีพื้นที่เท่ากัน และมีความสูงเท่ากันจะมีปริมาตรเท่ากัน ดังนั้นจึงได้สูตรการหาปริมาตรของปริซึมเท่ากับ พื้นที่ฐาน x ความสูง
2. รูปพีระมิด

            เป็นรูปทรงที่มีฐานเป็นรูปหลายเหลี่ยม มีผิวด้านข้างเป็นรูปสามเหลี่ยม มีจำนวนเท่ากับจำนวนด้านของฐาน จุดยอดของรูปสามเหลี่ยมทุกรูป ไปพบกันที่จุดๆ เดียว เรียกว่า ยอดของรูปพีระมิด พีระมิดที่มีจำนวนหน้าน้อยที่สุดคือ พีระมิดที่มีฐานเป็นรูปสามเหลี่ยม เป็นรูปทรงที่มีผิวหน้าสี่หน้า เป็นรูปสามเหลี่ยมทั้งหมด ภาษาอังกฤษเรียกว่า tetrahedron
ถ้าลากเส้นตรงจากยอดของพีระมิดมาตั้งฉากกับฐาน เส้นตั้งฉากนี้ผ่านจุดศูนย์ถ่วงของฐานด้วย เราเรียกพีระมิดชนิดนี้ว่า พีระมิดตรง

ปริมาตรของรูปพีระมิดตรง = 1/3 x พื้นที่ฐาน x ความสูง

พีระมิดในประเทศอียิปต์เป็นพีระมิดที่มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม การก่อสร้างพีระมิดเหล่านี้นับเป็นความมหัศจรรย์ของมนุษยชาติทีเดียว

รูปทรงที่มีผิวหน้าเป็นรูปหลายเหลี่ยมด้านเท่าเท่ากันทุกหน้า มีเพียง 5 แบบเท่านั้น ดังรูปต่อไปนี้
1. รูปเตตราเฮดรอน (tetrahedron)

ลักษณะผิวหน้าเป็นรูปสามเหลี่ยม มีผิวหน้า (face) 4 หน้า จุดยอดมุม (vertex) 4 จุด เส้นขอบ (edge) 6 เส้น
2. รูปออคตาเฮดรอน (octahedron)

ลักษณะผิวหน้าเป็นรูปสามเหลี่ยม มีผิวหน้า 8 หน้า จุดยอดมุม 6 มุม เส้นขอบ 12 เส้น
3. รูปอิโคซาเฮดรอน (icosahedron)

            ลักษณะผิวหน้าเป็นรูปสามเหลี่ยม มีผิวหน้า 20 หน้า จุดยอดมุม 12 มุม เส้นขอบ 30 เส้น
4. รูปเหลี่ยมลูกบาศก์ (cube)

            ลักษณะผิวหน้าเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีผิวหน้า 6 หน้า จุดยอดมุม 8 มุม เส้นขอบ 12 เส้น

5. รูปโดเดคาเฮดรอน (dodecahedron)

            ลักษณะผิวหน้าเป็นรูปห้าเหลี่ยม มีผิวหน้า 12 หน้า จุดยอดมุม 20 มุม เส้นขอบ 30 เส้น

            รูปทรงที่มีผิวหน้าเป็นรูปหลายเหลี่ยมด้านเท่าเท่ากันทุกหน้านั้น มีเพียง 5 ชนิดเท่านั้น รูปทรงอื่นๆ นั้นมีอีกมากมาย แต่จะไม่มีผิวหน้าเท่ากันเหมือนกันทุกหน้า รูปผลึกต่างๆ ในธรรมชาติล้วนมีลักษณะเป็นทรงรูปเหลี่ยม อัญมณีต่างๆ ที่ช่างได้เจียระไนแล้ว ก็ล้วนประดิษฐ์ให้เป็นรูปทรงเหลี่ยมทั้งนั้น การหาพื้นที่ผิวและปริมาตรของรูปทรงเหล่านี้ ก็อาจจะกระทำได้เช่นกัน
            จำนวนผิวหน้า จำนวนจุดยอดมุม และจำนวนเส้นขอบของรูปทรงที่มีหน้า เป็นรูปหลายเหลี่ยมนี้ มีความเกี่ยวข้องกัน ผู้ที่สังเกตเห็นความเกี่ยวข้องนี้ และ เขียนเป็นทฤษฎีคือ ออยเลอร์ ทฤษฎีของออยเลอร์กล่าวว่าถ้าให้ F, E และ V แทนจำนวนผิวหน้า จำนวนเส้นขอบ และจำนวนจุดยอดมุม ของรูปทรง ตามลำดับ จะได้ความสัมพันธ์ว่า

E + 2 = F + V

            เช่น รูปปริซึมที่มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจะมีผิวหน้า 6 หน้า จุดยอดมุม 8 มุม และ เส้นขอบ 12 เส้น ดังนั้น F = 6 V = 8 E = 12 จะเห็นได้ว่า 12 + 2 = 6 + 8 ทฤษฎีของออยเลอร์นี้ใช้ได้กับรูปทรงที่มีผิวหน้าเป็นรูปหลายเหลี่ยมทุกชนิด ดังนั้น ถ้าเราทราบค่า F, E และ V เพียงสองค่าเท่านั้น ก็จะหาค่าที่สามได้ทันที