แหล่งที่มาของข้อมูล
ดังได้กล่าวมาแล้ว ผู้ที่มีความจำเป็นต้องการใช้ข้อมูล อาจดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง หรือเลือกใช้ข้อมูล ที่มีผู้เก็บรวบรวมไว้แล้วก็ได้ เอกชน หรือองค์การของรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูล เมื่อพิมพ์ข้อมูลเหล่านั้นขึ้น เพื่อเอาไว้ใช้เอง หรือเพื่อเผยแพร่ก็ตาม จะได้รับการอ้างอิงว่า เป็นแหล่งปฐมภูมิ (Primary source) แต่ถ้าเอกชน หรือหน่วยงานใด จัดพิมพ์เอกสารโดยมีข้อมูล ซึ่งได้นำมาจากเอกสารอื่นที่มีผู้รวบรวมไว้แล้ว เอกสารที่จัดพิมพ์นั้นได้ชื่อว่า เป็นแหล่งทุติยภูมิ (Secondary source) ของข้อมูลดังกล่าว ตัวอย่างเช่น สำนักงานสถิติแห่งชาติได้เก็บรวบรวมข้อมูล เกี่ยวกับประชากรและเคหะ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ และได้พิมพ์รายงานมีชื่อว่า รายงานสำมะโนประชากร และเคหะ พ.ศ. ๒๕๒๓ เช่นนี้ รายงานดังกล่าวได้ชื่อว่า เป็นแหล่งปฐมภูมิ ในเวลาต่อมา ธนาคารแห่งหนึ่งได้นำ ข้อมูลแสดงจำนวนประชากรเป็นรายภาค จากรายงานสำมะโนประชากร และเคหะ พ.ศ. ๒๕๒๓ ไปพิมพ์ลงในวารสารรายเดือนของธนาคาร เช่นนี้ วารสารของธนาคารได้ชื่อว่า เป็นแหล่งทุติยภูมิของข้อมูลที่นำลงพิมพ์นั้น
อย่างไรก็ตาม แหล่งปฐมภูมิมักแสดงรายละเอียดของข้อมูลไว้มากกว่า เพราะเป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูลมาเอง ย่อมจะแสดงไว้ทั้งหมดทุกประเภท ที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ส่วนแหล่งทุติยภูมิมักจะแสดงรายละเอียดไว้น้อยกว่า เพราะเลือกเอาแต่ข้อมูลชนิดที่เกี่ยวข้องกับงาน หรือที่สนใจเท่านั้นไปพิมพ์ไว้