เล่มที่ 7
กล้วยไม้
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            ดอกกล้วยไม้มีกลีบดอกอยู่ ๒ ชุดๆ ละ ๓ กลีบ ซ้อนแบบ สลับกันอยู่ ๒ ชั้น ขณะที่ดอกยังตูมอยู่ ชุดหนึ่งจะหุ้มอยู่ภายนอก เมื่อดอกบาน กลีบดอกชุดนี้จะรองรับอยู่ด้านหลังของดอก ในวงการกล้วยไม้นิยมเรียกว่า กลีบนอก (sepals) ส่วนอีกชุดหนึ่งซึ่งมี ๓ กลีบ เช่นเดียวกัน แต่ในขณะที่ดอกยังตูมอยู่ จะถูกกลีบนอกห่อหุ้มไว้ภายใน เมื่อดอกบานจะอยู่ด้านหน้า เรียกว่า กลีบใน (petals)

คัทลียา (Cattleya, ๑/๒ ของขนาดจริง)
คัทลียา (Cattleya, ๑/๒ ของขนาดจริง)
หวาย (Dendrobium, ๑ ของขนาดจริง)
หวาย (Dendrobium, ๑ ของขนาดจริง) 

            ในขณะที่ดอกบานเต็มที่ กลีบนอกกลีบหนึ่งจะชี้หรือตั้ง ขึ้นด้านบน เรานิยมเรียกกันว่า กลีบนอกบน (dorsal sepal ก.๑) ส่วนกลีบนอกอีก ๒ กลีบนั้น ชี้ออกทางด้านข้างหรือเฉียงลงข้าง ล่าง มีลักษณะและสีเหมือนกันทั้งคู่ เราจึงเรียกว่า กลีบนอกคู่ ล่าง (lateral sepals ก.๒, ก.๓) นอกจากดอกกล้วยไม้ในสกุล รองเท้านารี ซึ่งมีกลีบนอกคู่ล่างแฝดติดกัน และชี้ลงด้านใต้ของ ดอก ในทางวิชาการพฤกษศาสตร์ เราเรียกกลีบนอกคู่ล่างที่แฝด ติดกันนี้ว่า synsepalum (ก.๒-๓) เราสามารถสรุปได้ว่า กลีบนอกของกล้วยไม้ทั้ง ๓ กลีบนี้ อาจมีลักษณะและสีสันเหมือน กันทั้งหมดก็ได้ หรือกลีบนอกบนกลีบเดียวที่มีลักษณะและสีสัน แตกต่างออกไปแล้วแต่ชนิดของกล้วยไม้ ส่วนกลีบนอกคู่ล่างทั้ง คู่จะต้องมีสีสันและลักษณะเหมือนกันเสมอ ไม่ว่าจะเป็นกล้วยไม้ ชนิดใดก็ตาม เราจึงเรียกว่า กลีบนอกคู่ล่าง

เข็ม (Ascocentrum, ๒ ของขนาดจริง)
เข็ม (Ascocentrum, ๒ ของขนาดจริง)
รองเท้านารี (Pophiopedilum, ๓/๔ ของขนาดจริง)
รองเท้านารี (Pophiopedilum, ๓/๔ ของขนาดจริง)

            ในบรรดากลีบในทั้ง ๓ กลีบนั้น เนื่องจากเป็นชุดของกลีบ ซึ่งอยู่สลับกับกลีบนอก ดังนั้นจะมีกลีบในคู่หนึ่ง (ข.๒,ข.๓) ชี้ออกทางด้านข้างของดอก หรือเฉียงขึ้นข้างบนข้างละกลีบ กลีบในคู่นี้มีลักษณะและสีสันเหมือนกัน ถ้ามองดูจากด้านหน้า ของดอกกล้วยไม้ จะรู้สึกว่า กลีบในแต่ละข้างอยู่ระหว่างกลีบนอกบน กับกลีบนอกที่อยู่ด้านข้าง อาจมีกล้วยไม้บางชนิด ซึ่งมีกลีบในทั้งคู่ชี้ออกมาทางด้านหน้าของดอกด้วย ส่วนกลีบในอีกกลีบหนึ่ง หรือกลีบที่ ๓ (ข.๑) นั้นชี้ลงด้านล่าง หรือยื่น ออกมาทางด้านหน้าของดอกด้วย กลีบในกลีบนี้มีลักษณะสีสัน และรายละเอียดต่างๆ แตกต่างออกไปจากกลีบในคู่ที่กล่าวมาแล้ว โดยสิ้นเชิง ดังนั้นในด้านวิชาการจึงมีชื่อเรียกเฉพาะไว้ว่า labellum ส่วนคำสามัญนั้น นิยมเรียกกันว่า lip ภาษาไทย เรียกว่า "ปาก" หรือ "กระเป๋า" ปากเป็นคำที่นิยมใช้กันมากกว่า ดังนั้น เมื่อมีการเรียกส่วนของดอกกล้วยไม้ว่า "ปาก" ในหลักการ ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า คือ กลีบในกลีบที่ ๓ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างไปจากกลีบอื่นๆ นั่นเอง

            ก. ๑ กลีบนอกบน
            ก. ๒ และ ก. ๓ กลีบนอกคู่ล่าง
            ข. ๑ กลีบในล่าง ซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า ปากหรือกระเป๋า
            ข. ๒ และ ข. ๓ กลีบใน มี ๑ คู่



            ดอกกล้วยไม้เป็นดอกไม้สมบูรณ์เพศ มีอวัยวะเพศตัวผู้ และตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน และอยู่บนชิ้นส่วนที่เป็นหลักชิ้นเดียวกันด้วย ตรงศูนย์กลางด้านหน้าของดอกจะมีชิ้นส่วนนี้ยื่นออกมา ซึ่งเราเรียกว่า "เส้าเกสร" (column) ตรงปลายเส้าเกสรนี้ มีลักษณะเป็นโพรง และมีฝาครอบ หากเปิดฝาครอบออกก็จะได้พบเกสรตัวผู้ (pollinia) อยู่ภายใน เม็ดเกสรตัวผู้มีจำนวนเป็นคู่ แล้วแต่ชนิดของกล้วยไม้ แต่ละเม็ดประกอบขึ้นจากเกสรตัวผู้จำนวนมากมาย ประสานเป็นเนื้อเดียวกัน เม็ดเกสรตัวผู้ของกล้วยไม้บางชนิด มีก้านซึ่งมีลักษณะเหนียวและยืดหยุ่นได้ บริเวณด้านใต้ของปลายเส้าเกสรนั้น มีลักษณะเป็นแอ่ง และมีน้ำ ซึ่งข้นคล้ายแป้งเปียกอยู่ในแอ่งนี้ เราเรียกว่า "ปลายเกสรตัวเมีย" (stigma) ระหว่างโพรงที่อยู่ของเกสรตัวผู้ กับปลายเกสรตัวเมีย ที่มีเยื่อบางๆ กั้นไว้
ฝักกล้วยไม้
ฝักกล้วยไม้
โคนของเส้าเกสรซึ่งเป็นศูนย์รวม ของกลีบทุกกลีบของดอกกล้วยไม้นั้น เชื่อมโยงเป็นชิ้นเดียวกันกับก้านดอก (pedicel) ซึ่งอยู่ด้านหลัง และส่วนของก้านดอก ที่อยู่ถัดจากกลีบดอกออกไปทางด้านหลังนี้เองคือ รังไข่ของตัวเมีย (ovary) ภายในเป็นโพรง และมีไข่อยู่เป็นจำนวนมาก ถ้าหากปลายเกสรตัวเมียได้รับการผสม โดยเม็ดเกสรตัวผู้ และถ้าการผสมเริ่มบังเกิดผล กลีบดอกจะเริ่มเหี่ยว และก้านดอกส่วนที่อยู่ใกล้กลีบดอก และมีลักษณะเป็นร่องยาวของก้านดอก ซึ่งก็คือ ส่วนที่เป็นรังไข่ของตัวเมีย ก็จะขยายตัวเจริญขึ้นเป็นฝักของกล้วยไม้ ถ้าการผสมระหว่างเชื้อตัวผู้ และไข่ของตัวเมียภายในรังไข่สมบูรณ์เป็นปกติ ภายในฝัก ก็จะมีเมล็ดกล้วยไม้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากมายหลาย แสนเมล็ด เมื่อเมล็ดแก่จัด จะหลุดจากผนังของฝักรวมๆ กันอยู่ มีลักษณะเป็นผงละเอียดมาก หากผนังฝักมีรอยร้าว หรือแตกเมื่อใด เมล็ดเหล่านี้ก็จะปลิวไปตามกระแสลมได้
            ฝักกล้วยไม้นับตั้งแต่ผสมเกสรจนถึงฝักสุก ใช้ระยะเวลา ตั้งแต่ประมาณ ๑ เดือนไปจนถึงประมาณ ๒ ปี สุดแล้วแต่ ชนิดของกล้วยไม้ อาทิเช่น กล้วยไม้ในสกุลสแพโทกลอตทิส ซึ่งพบขึ้นอยู่ตามโขดหินในจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย และในเขตดินแดนมาเลเซียนั้น มีอายุฝักประมาณ ๓๐ วัน กล้วยไม้ฟ้ามุ่ย (Vanda coerulaea) ซึ่งพบอยู่ตามธรรมชาติ ในจังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย และ ประเทศใกล้เคียง มีอายุฝักตั้งแต่เริ่มผสมเกสรจนถึงฝักสุก ประมาณ ๑๕-๑๘ เดือน กล้วยไม้สกุลหวายเดนโดรเบียม และสกุลคัทลียา รวมทั้งแวนดาลูกผสมต่างๆ ที่นิยมผสม และเลี้ยงกันอยู่ในประเทศไทยนั้น มีอายุฝักตั้งแต่ผสมจนถึง ฝักสุกผิดเพี้ยนกันไประหว่าง ๓-๘ เดือน โดยทั่วๆ ไปแล้ว ในกล้วยไม้สกุลเดียวกัน ฝักของกล้วยไม้ลูกผสมจะมีอายุสั้นกว่ากล้วยไม้ป่าหรือกล้วยไม้พันธุ์แท้ ความผิดเพี้ยนของ สภาพแวดล้อมที่กล้วยไม้ขึ้นอยู่ ก็มีส่วนทำให้อายุของฝักกล้วยไม้แปรเปลี่ยนไปได้พอสมควรเช่นกัน
การเพาะเมล็ดกล้วยไม้ในขวดแก้วปลอดเชื้อ
การเพาะเมล็ดกล้วยไม้ในขวดแก้วปลอดเชื้อ 
            แม้ว่ากล้วยไม้จะเป็นพันธุ์ไม้ประเภทเดียวกันกับพืช จำพวกข้าวและหญ้าก็ตาม แต่เมล็ดกล้วยไม้ก็มีองค์ประกอบหลัก ที่ไม่เหมือนกับพืชเหล่านั้น เมล็ดพืชทั่วๆไปจะมีองค์ประกอบหลักอยู่ ๓ ส่วนด้วยกันคือ เปลือกเมล็ด เชื้อที่จะงอก และเจริญขึ้นมาเป็นต้นอ่อน และอาหารสำหรับเลี้ยงเชื้อ ในขณะที่กำลังงอกและยังเลี้ยงตัวเองไม่ได้ แต่เมล็ดกล้วยไม้ มีเพียง ๒ ส่วนเท่านั้น คือ เปลือกเมล็ดกับเชื้อที่จะงอกขึ้นมา เป็นต้นอ่อน ดังนั้น เมล็ดกล้วยไม้จึงไม่สามารถจะงอกได้ ด้วยตัวเอง แม้ว่า จะมีสภาพแวดล้อมต่างๆเหมาะสมก็ตาม จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยเชื้อราจำพวกหนึ่งซึ่งมีชื่อเรียกรวมๆ ว่า "ไมคอไรซา(Mycorhiza) ช่วยให้อาหารแก่เชื้อ และเมื่อต้นกล้วยไม้เจริญเลี้ยงตัวเองได้แล้ว เชื้อราประเภทนี้ จะอาศัยดำรงชีวิตอยู่ภายในผิวของรากกล้วยไม้ต่อไป ดังนั้น เราจึงพบว่า เมล็ดกล้วยไม้ที่งอกในป่าตามธรรมชาติ จะกระจายอยู่ไม่ไกลจากต้นเดิมมากนัก บางครั้งก็พบงอกอยู่ใกล้ๆผิว ของรากกล้วยไม้ใหญ่ เชื้อราประเภทนี้มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน บางชนิดก็มีความเหมาะสมกับกล้วยไม้บางกลุ่มบางพวกเท่านั้น ดังนั้น ในการเล่นกล้วยไม้สมัยก่อนๆ ขณะที่วิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญมากนัก ผู้สนใจกล้วยไม้ในสมัยนั้นได้ใช้วิธีการเพาะเมล็ด กล้วยไม้โดยเลียนแบบธรรมชาติ คือ นำเมล็ดกล้วยไม้ที่แก่แล้ว ซึ่งมีลักษณะเป็นผงละเอียดไปหว่านลงบริเวณใกล้โคนต้นแม่พันธุ์ และเนื่องจาก เมล็ดกล้วยไม้ที่ได้จากฝักหนึ่งๆ มีเป็นจำนวนแสนเมล็ด แม้จะได้รับอันตรายไปมากพอสมควร ก็ยังมีบางส่วนที่งอกเป็นต้นขึ้นมาได้ ชีวิตที่พึ่งพาอาศัยธรรมชาติซึ่งกันและกันในธรรมชาติ เช่น กล้วยไม้กับเชื้อรานี้ ภาษาวิชาการเรียกว่า "ซิมไบโอซิส" (symbiosis)
ลูกกล้วยไม้ที่แยกจากกระถางหมู่ลงปลูกในกระถางเดี่ยว ขนาด ๑ นิ้ว
ลูกกล้วยไม้ที่แยกจากกระถางหมู่ลงปลูกในกระถางเดี่ยว
            เมื่อการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ได้เจริญขึ้น มนุษย์จึงได้ เรียนรู้วิธีการเพาะเมล็ดกล้วยไม้โดยมิต้องอาศัยเชื้อราอีกต่อไป ได้มีนักพฤษศาสตร์ชาวยุโรปและอเมริกัน ประกาศความสำเร็จ ในการเพาะเมล็ดกล้วยไม้ในขวดแก้ว โดยใช้วุ้นเป็นพื้น และผสมธาตุอาหารต่างๆ ที่เมล็ดกล้วยไม้ต้องการ เพื่อการงอกและเจริญ เติบโตในระยะหนึ่ง พร้อมทั้งปรับสภาวะความเป็นกรดของวุ้นอาหาร ให้เหมาะสมกับการที่เมล็ดและต้นอ่อนของกล้วยไม้นั้น จะสามารถใช้อาหารให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

            การเตรียมวุ้นอาหารจำเป็นต้องอยู่ในสภาวะปลอดจากเชื้อ อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อจุลินทรีย์ที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งปะปนอยู่ในบรรยากาศ และสิ่งต่างๆทั่วๆไป มิฉะนั้นแล้ว เชื้อจุลินทรีย์เหล่านี้จะเจริญงอกงามอย่างรวดเร็วในวุ้นอาหาร ของกล้วยไม้ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการงอกของเมล็ดอย่างร้ายแรง