ประโยชน์ของกล้วยไม้
กล้วยไม้ได้เข้ามามีบทบาทอยู่ในสังคมของมนุษย์เป็นเวลาช้านานแล้ว ดังจะเห็นได้ว่า ในประวัติศาสตร์ของประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่มีศิลปวัฒนธรรมซึ่งน่าสนใจ และแผ่กระจายออกไปทั่วโลก ก็ยังมีหลักฐานปรากฏบทบาท ของกล้วยไม้อยู่ด้วย เช่น ภาพเขียนที่ปรากฏตามโบราณวัตถุต่างๆ ประเทศในยุโรป บางประเทศที่ได้ทำการสำรวจดินแดนในเขต ร้อนและเขตอบอุ่นของทวีปเอเชียและอเมริกาในสมัยก่อน ก็ได้มี การนำกล้วยไม้นานาชนิดกลับไปเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ รวมทั้งได้มีการเริ่มผสมพันธุ์เพื่อประโยชน์ต่างๆด้วย เมื่อความ เจริญทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และวิทยาการ ได้ขยายตัวกว้างขวางออกไป ก็ได้ปรากฏว่า ประเทศต่างๆซึ่งกระจายอยู่ทั่วโลก และมีความเจริญพอสมควร ได้ให้ความสนใจในการเลี้ยงกล้วยไม้กันทั่วๆไป เมื่อได้วิเคราะห์ความนิยมในวงการกล้วยไม้ของประเทศต่างๆ อย่างกว้างขวางแล้ว สามารถจะสรุปได้ดังนี้
เอี้องม่อนไข่เหลือง (Dendrobium densiflorum)
กล้วยไม้เป็นพืช ซึ่งใช้เป็นตัวอย่าง เพื่อการศึกษาทางด้านวิชาการ เกี่ยวกับธรรมชาติ และชีวิตของพันธุ์ไม้ได้อย่างดี เนื่องจาก กล้วยไม้เป็นพืชวงศ์ใหญ่มาก ลักษณะทางพันธุศาสตร์จึงมีความแตกต่างกันอย่างกว้างขวาง และยังมีการกระจายพันธุ์ อยู่ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ที่ผิดแผกแตกต่างกันอีกด้วย ทั่วโลก แม้ว่าจะได้มีการนำกล้วยไม้มาเลี้ยง และศึกษาวิจัยนานพอสมควรแล้วก็ตาม แต่ก็ยังได้มีรายงานว่า ได้มีการค้นพบ และตั้งชื่อทางพฤษศาสตร์แก่กล้วยไม้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอยู่เสมอ ดังนั้น นักวิชาการ พฤกษศาสตร์สาขาต่างๆ และพืชศาสตร์ จึงได้ให้ความสนใจ ที่จะนำกล้วยไม้ มาเป็นพืชตัวอย่าง เพื่อการศึกษาและวิจัยในสาขานั้นๆ ยิ่งไปกว่านั้น ในสังคมของผู้นิยมเลี้ยงกล้วยไม้เป็นงานอดิเรก ก็ประกอบด้วย บุคคลในหลายสาขาอาชีพ ผู้ที่มีความถนัดในสาขาวิชาการใด ที่จะนำมาใช้พัฒนาการเลี้ยงกล้วยไม้ได้ ก็จะให้ความสนใจนำวิชาชีพที่ตนถนัด มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในการปรับปรุงการเลี้ยงกล้วยไม้ด้วย สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในสาขาวิชาชีพ ที่เกี่ยวกับต้นไม้ บางคนมีรสนิยมในการรวบรวมพันธุ์ และศึกษากล้วยไม้ป่านานาชนิด และยังมีการศึกษาค้นคว้าจากตำราต่างๆ อย่างกว้างขวาง กล้วยไม้จึงเป็นพืช ที่สามารถดึงดูดความสนใจจากคนหลายประเภท ให้ศึกษาวิทยาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับต้นไม้ ดอกไม้เป็นอย่างดี
ความเจริญในสังคมทั่วๆไปที่ได้ผ่านมาแล้วนั้น ได้เน้นหนักไปในด้านวัตถุเป็นอย่างมาก การเพิ่มของจำนวนประชากรในส่วนต่างๆของโลกก็ดี ความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ ตลอดจนทางด้านสังคม และเศรษฐกิจ ทำให้คนเราต้องมีภารกิจ การงานหนักมากยิ่งขึ้น ปัญหาต่างๆในชีวิตประจำวันนับเป็น แรงกดดันที่สำคัญทางจิตใจ ประชาชนในประเทศต่างๆที่เจริญพอสมควรแล้ว จึงมีความสนใจทำงานอดิเรกเพื่อเป็นการพักผ่อน จิตใจในยามว่าง การเลี้ยงกล้วยไม้จัดได้ว่า เป็นงานอดิเรกที่ สร้างสรรค์ ทั้งในด้านจริยธรรมและการศึกษาไปในตัว รวมทั้งได้มีโอกาสผ่อนคลายความตึงเครียดทางจิตใจ ในขณะที่อยู่กับต้นไม้ ทั้งยังศึกษาและติดตามการเจริญเติบโต และได้ชมดอกที่สวยงาม หรือลักษณะแปลกๆ ซึ่งเป็นผลงานของแต่ละคน
รินโคแวนดา สาคริกไวน์ (Rhynchovanda Sagarik Wine)
กล้วยไม้เป็นต้นไม้ที่มีขนาดพอเหมาะสม การเลี้ยงกล้วยไม้เป็นงานอดิเรก จึงสามารถกระทำได้ แม้ในบริเวณสวนหลังบ้าน ซึ่งมีที่ดินเพียงเล็กๆ น้อยๆ หรือแม้แต่ตามซุ้มต้นไม้ ตลอดจนไม้ยืนต้นที่ปลูกในบริเวณบ้าน หากมีสภาพโปร่ง ให้แสงแดดส่องลงได้พอสมควร ก็สามารถใช้เป็นที่ปลูกกล้วยไม้ได้ กล้วยไม้จึงเป็นไม้ดอกไม้ประดับบ้านให้สวยงามได้อย่างดี บ้านนับเป็นปัจจัยสำคัญของชีวิตและครอบครัว บ้านที่มีพันธุ์ไม้สวยงามพอสมควรเป็นสิ่งประดับ ย่อมจะช่วยให้บ้านมีความน่าอยู่ยิ่งขึ้น จิตใจของคนที่อยู่ในบ้านย่อมมีความแจ่มใส บุตรหลานในครอบครัว ซึ่งจะเติบโตขึ้นมาในอนาคต จะได้พบเห็นสิ่งที่ดี เสริมสร้างจิตใจในชีวิตประจำวัน และถ้าได้มีการฝึกอบรม ให้บุตรหลานได้มีจิตใจรัก และช่วยดูแลทำนุบำรุงสิ่งเหล่านี้ เป็นงานประจำแล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่บังเกิดผลดีในอนาคต
กล้วยไม้เรแนนเทอรา สตอริไอ (Renanthera storei)
หลักสำคัญอย่างหนึ่งของชีวิตคนในสังคมทั่วๆไป ก็คือ คนเราจะอยู่แต่ลำพังคนเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ระหว่างบุคคลต่อบุคคล ครอบครัวต่อครอบครัว และระหว่างประเทศต่างๆ ที่จะต้องอยู่ร่วมกันในโลกนี้ ทุกวันนี้ มนุษย์เราจึงพยายามหาจุดแห่งความสนใจร่วมกัน เพื่อสร้างความ สัมพันธ์ และความเข้าใจดีระหว่างกันและกัน อันเป็นหลักการ และแนวทาง ที่จะมุ่งไปสู่ความสงบของมวลมนุษยชาติ วงการกล้วยไม้ในแต่ละประเทศหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีความเจริญทางจริยธรรมพอสมควร ได้มีการพัฒนากล้วยไม้ ตามแนวทางดังกล่าวนี้ด้วย ดังจะเห็นได้ว่า มีประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นจำนวนมาก ให้ความสนใจเลี้ยงกล้วยไม้ และมีสมาคม ผู้เลี้ยงกล้วยไม้ เพื่อเป็นศูนย์รวมทางจิตใจ และมีการแลกเปลี่ยน ความรู้ ประสบการณ์ ตลอดจนพันธุ์ไม้ต่างๆระหว่างกัน นอกจากนั้น ยังได้มีการสร้างสรรค์ และเพิ่มพูนความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก ของวงการกล้วยไม้ระหว่างประเทศ ดังจะเห็นว่า ได้มีการจัดการประชุมกล้วยไม้ระหว่างประเทศ ในภาคพื้นยุโรปขึ้นทุกๆ ๓ ปี โดยหมุนเวียนไปตามประเทศต่างๆ ที่อยู่ในภูมิภาคนั้น และได้มีการริเริ่มงานชุมนุมกล้วยไม้โลกขึ้นเป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. ๒๔๙๗ ณ เมืองเซนต์หลุยส์ มลรัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา นับแต่นั้นมา งานชุมนุมกล้วยไม้โลก ก็ได้จัดขึ้นทุกๆ ๓ ปี โดยหมุนเวียน ไปตามประเทศต่างๆ ตามข้อตกลง ในที่ประชุมที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทยนั้น ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานชุมนุมกล้วยไม้โลก ครั้งที่ ๙ ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๑๒ ซึ่งปรากฏว่า ได้มีบุคคลต่างชาติ ต่างภาษา และต่างสาขาอาชีพจาก ๔๑ ประเทศ มาร่วมประชุมกันประมาณ ๓,๐๐๐ คน บุคคลในวงการกล้วยไม้ จึงมีการติดต่อถึงกัน ในมุมต่างๆของชีวิตอย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านความรักความสนใจธรรมชาติ ความสัมพันธ์ทางจิตใจ และการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ ตลอดจน ประสบการณ์ที่ได้ค้นพบใหม่ๆ ด้วย
จากประโยชน์ที่สังคมได้รับจากกล้วยไม้ ดังได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด จึงทำให้กล้วยไม้เป็นที่ต้องการในกลุ่มคนโดยทั่วๆไป ดังนั้น จึงเกิดธุรกิจการค้า เกี่ยวกับกล้วยไม้ติดตามมา อันเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีตั้งแต่ ที่เป็นผลพลอยได้ จากการเลี้ยงกล้วยไม้เป็นงานอดิเรกในครอบครัว ไปจนถึงการประกอบอาชีพหลัก ด้วยการเลี้ยงกล้วยไม้ การค้ากล้วยไม้นั้น ก็มีการขายทั้งต้นและดอก การขายต้นจำแนกออกไปได้เป็น ๒ แนวทางคือ เพื่อนำไปปลูกเลี้ยงเป็นงานอดิเรก นำไปทำพันธุ์ เพื่อการขยายออกไป หรือจำหน่ายไปสู่การปลูก เพื่อตัดดอกเป็นการค้าก็ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้ากล้วยไม้ ก็จะต้องเข้าใจถึงประโยชน์อันแท้จริง ที่กล้วยไม้ได้อำนวยให้แก่สังคมดังกล่าวมาแล้วทั้งหมด และต้องร่วมมือกันรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ให้ดีที่สุด เพื่อให้ธุรกิจการค้ากล้วยไม้มีความมั่นคงถาวร หรืออาจกล่าวโดย สรุปได้ว่า ผู้ที่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากกล้วยไม้ ควรจะได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริม ให้ผู้สนใจเลี้ยงกล้วยไม้ได้รับประโยชน์ จากกล้วยไม้ในทางที่ถูกต้องด้วย