เล่มที่ 8
การบริบาลทารกและโรคทางกุมารเวชศาสตร์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การเจริญเติบโตของเด็ก

            เด็กที่มีสุขภาพดี และมีความสุขจะต้องมีการเจริญเติบโตทางร่างกาย สมอง เชาวน์ปัญญา อารมณ์ และมีการพัฒนาทางพฤติกรรมต่อสังคมอย่างประสมประสานกัน สิ่งที่ใช้ประเมินการเจริญเติบโต และพัฒนาการของเด็ก ดูได้จาก ๒ ด้าน คือ

๑. การเติบโตทางร่างกาย ซึ่งสามารถวัดได้
๒. การพัฒนา คุณภาพ หรือหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ ซึ่งแสดงออกมาในด้านพฤติกรรม

            การประเมินสองด้านนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด โดยที่การเจริญเติบโตของเด็กแต่ละคนอยู่ภายใต้อิทธิพลของปัจจัยต่างๆ เช่น การถ่ายทอดพันธุกรรมจากพ่อแม่ สภาพโภชนาการ การเจ็บป่วย การศึกษาของตัวเด็กเอง คุณภาพทางอารมณ์ของบุคคล ตลอดจนสภาพแวดล้อมภายในบ้าน และสภาพของ สังคม ภูมิประเทศที่เด็กอาศัยอยู่ ดังนั้น แม้แต่พี่น้องท้องเดียวกัน ก็อาจมีการการเจริญเติบโต และพัฒนาการแตกต่างกันได้ แต่ก็ สามารถกำหนดมาตรฐานปกติ ตลอดจนค่าที่อาจแตกต่างได้ จากการศึกษาเป็นจำนวนมาก

วิธีการที่ใช้วัดการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กในปัจจุบัน มีดังนี้

ก. การวัดการเจริญทางร่างกาย

๑. น้ำหนัก

            การชั่งน้ำหนักเป็นเครื่องบ่งชี้ที่ชัดเจนทำได้ง่าย เด็กที่มีน้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว แสดงว่าสุขภาพ และโภชนาการไม่ดี การชั่งน้ำหนักหลายๆ ครั้ง แล้วนำมาเปรียบเทียบถึงการเปลี่ยนแปลงจะมีประโยชน์ และทราบสภาพของเด็กได้ดีกว่าการชั่งน้ำหนักเด็กครั้งเดียว เด็กที่อ้วนฉุ มีน้ำหนักมาก ไม่ได้หมายความว่า เด็กคนนั้นมีสุขภาพดี เด็กที่มีกล้ามเนื้อสมบูรณ์จะมีสุขภาพดีกว่าเด็กอ้วนฉุ และปวกเปียก

๒. ส่วนสูง

            การวัดส่วนสูงแสดงถึงการเจริญเติบโตของร่างกายที่แน่นอนอย่างหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงทางความสูงจะเกิดขึ้นช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนัก เด็กที่สูงช้ากว่าปกติแสดงว่า มีสภาพโภชนาการไม่สมบูรณ์เป็นระยะเวลานานพอสมควร เช่น วัยทารก จะใช้เวลาประมาณ ๒-๓ เดือน จึงจะเห็นว่า ความสูงช้ากว่าปกติ การวัดความสูงทำให้ได้ความแน่นอนยากกว่าการชั่งน้ำหนัก เด็กอายุต่ำกว่า ๒ ปี ต้องนอนวัด และมีผู้ช่วยคอยจับ

๓. ขนาดของสมอง

            สมองมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วงแรกของชีวิต การประเมินขนาดของสมองอาจทำได้โดยการวัดความยาว ของเส้นรอบศีรษะ ในเด็กปกติแรกคลอดมีความยาวประมาณ ๓๕ เซนติเมตร เมื่ออายุ ๑ ปี จะยาว ๔๗ เซนติเมตร จากอายุ ๑ ปีจนถึง ๒ ปี จะยาวขึ้นเพียง ๒-๓ เซนติเมตร และมีขนาดประมาณ ๕๕ เซนติเมตร เมื่ออายุ ๖ ปี เมื่ออายุครบ ๑ ปี เซลล์ของสมองจะมีการเจริญเกือบสมบูรณ์ แต่ทำหน้าที่ยังไม่สมบูรณ์ การทำงานของสมองจะดีหรือไม่ขึ้นกับที่สมองได้รับอาหาร การกระตุ้น และการใช้อย่างถูกต้อง

๔. เนื้อหนัง

            ลักษณะของผิวหนังและเนื้อทั่วไป จะบอกถึงสภาพโภชนาการว่าดีหรือเลวได้ เช่น ผิวตึง เนื้อเป่ง แขนขาเป็นปล้อง แสดงถึงความสมบูรณ์ พวกผิวหนังแห้ง มีรอยย่นตามยาวของแขนขาคล้ายริ้วปลาแห้ง มีกล้ามเนื้อ และไขมันใต้ผิวหนังน้อย กล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก แสดงถึงสภาพโภชนาการไม่ดี การดูสภาพเนื้อหนังนี้ เราสามารถวัดได้โดยวัดเส้นรอบวงแขน วัดความหนาของไขมันใต้ผิวหนัง หรือวัดขนาดของกล้ามเนื้อ

๕. ฟัน

            ฟันชุดแรกของเด็ก เรียกว่า "ฟันน้ำนม" มี ๒๐ ซี่ จะเริ่มขึ้นตั้งแต่อายุ ๖ เดือน และขึ้นครบเมื่ออายุประมาณ ๒๔-๓๐ เดือน การขึ้นของฟันจะมีอันดับก่อนหลังของแต่ละซี่ โดยเริ่มจากฟันหน้ากลางล่าง และสิ้นสุดที่ฟันกรามหัก การงอกของฟันจะขึ้นกับสภาพโภชนาการของเด็ก เด็กที่ได้รับโภชนาการเลว ฟันจะขึ้นช้า ฟันชุดที่สองเรียกว่า "ฟันแท้" มีจำนวน ๓๒ ซี่ จะเริ่มขึ้นเมื่ออายุ ๖ ปี ที่ฟันหน้าบนก่อน หลังจากนั้นก็ค่อยๆ แทนฟันน้ำนมที่หลุดไป
ข. การวัดการเจริญทางด้านพฤติกรรม

            การเจริญทางด้านพฤติกรรมเป็นการผสมผสานของการแสดงออกถึงความสามารถ และการทำหน้าที่ต่างๆ ของร่างกายตามวัย โดยการควบคุมของสมอง สติปัญญา อารมณ์ และความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม (สังคม) ในขวบปีแรกจะมีพัฒนาการด้านนี้อย่างรวดเร็ว ซึ่งพวกที่มีการพัฒนาดีในช่วงแรกนี้ ก็ย่อมจะมีการพัฒนาที่ดีในระยะหลังด้วย

            การพัฒนาทางด้านพฤติกรรมนี้ เป็นขบวนการต่อเนื่อง โดยมีระบบประสาทเป็นตัวกำหนด ผสมผสานกับการเจริญเติบโต และเริ่มจากศีรษะมาเท้า ตั้งแต่เด็กยิ้มได้ในปลายเดือนแรก จนถึงสามารพเดินเองได้เมื่ออายุ ๑๒-๑๔ เดือน

            การที่เด็กมีการเจริญทางพฤติกรรมช้าหรือเร็วกว่าเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าว มิได้หมายถึงว่า เด็กนั้นมีร่างกายสติปัญญาดีหรือต่ำกว่า เพราะการเจริญเติบโตของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน โดยที่ทุกๆ คน จะมีการเจริญเติบโตตามขั้นตอนเหมือนกัน เด็กที่มีการเจริญทางพฤติกรรมที่ช้าเกินเกณฑ์มาตรฐานเกิน ๒-๓ เดือน ควรจะได้รับการตรวจจากแพทย์

 การเจริญเติบโตในวัยก่อนเรียน

            การเจริญเติบโตในอายุขวบปีที่ ๒ น้อยกว่าปีแรก น้ำหนักจะขึ้นเพียง ๒-๓ กิโลกรัม และส่วนสูงจะเพิ่มประมาณ ๑๐-๑๒ เซนติเมตร เส้นรอบศีรษะ เพิ่มเพียง ๒ เซนติเมตรเท่านั้นฟันจะขึ้นอีกประมาณ ๘ ซี่ เมื่ออายุ ๑๕ เดือน เด็กจะเริ่มเดินได้เอง และวิ่งเตาะแตะเมื่ออายุปีครึ่ง ซึ่งจะล้มบ่อยต้องคอยระวังเมื่อเด็กอายุ ๒ ปี เด็กจะวิ่งได้ค่อนข้างดี การหกล้มจะน้อยลง และพูดได้ ๒-๓ คำติดกัน การเล่นระยะนี้มักจะเล่นคนเดียว จะชอบเล่นกับเด็กอื่นเมื่ออายุ ๓-๔ ปี

            อายุระหว่าง ๓-๖ ปี การเจริญเติบโตค่อนข้างสม่ำเสมอน้ำหนักมักขึ้น ประมาณปีละ ๒ กิโลกรัม สูงขึ้นประมาณปีละ ๕-๘ เซนติเมตร ฟันน้ำนมขึ้นครบ เมื่ออายุประมาณ ๒ ปีครึ่ง เมื่ออายุ ๓ ปี มักแยกเพศว่า เป็นหญิงเป็นชายได้ ระยะนี้การเจริญทางด้านจิตใจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เด็กมักเริ่มกลัวการจากได้ โดยเฉพาะการจากแม่

การเจริญเติบโตในวัยเรียน

            อายุระหว่าง ๕-๑๒ ปี การเจริญทางกายเป็นไปค่อนข้างสม่ำเสมอ น้ำหนักขึ้นประมาณปีละ ๒-๓ กิโลกรัมต่อปี ส่วนสูงจะเพิ่มประมาณปีละ ๔-๖ เซนติเมตร ศีรษะขยายช้าลง การเจริญด้านกำลังดีขึ้น ฟันน้ำนมเริ่มหลุดเมื่ออายุ ๖-๗ ปี ฟันแท้ซี่แรกขึ้นเมื่ออายุ ๗ ปี และค่อยๆ แทนฟันน้ำนมที่หลุดไปเฉลี่ยประมาณปีละ ๔ ซี่ ในระยะนี้การเจริญทางด้านพฤติกรรมจะเริ่มเข้าสังคมได้ดีขึ้น ต้องการพึ่งตนเองมากขึ้น

ระยะวัยรุ่น

            เป็นระยะก่อนเข้าวัยหนุ่มสาว อาจเริ่มในอายุต่างกันเด็กหญิงอาจเริ่มตั้งแต่ ๑๐-๑๒ ปี เด็กชายอาจเริ่ม ๑๒-๑๔ ปี การเจริญในชายมักช้ากว่าหญิง แต่ก็มีปัจจัยหลายอย่างที่มีอิทธิพลในการเจริญทั้งทางร่างกาย และด้านพฤติกรรม เช่น ด้านพันธุกรรม (เช่น พ่อ-แม่สูง ลูกมักสูง) ด้านโภชนาการ (กินดีอยู่ดีร่างกายสูงใหญ่กว่าเด็กขาดอาหาร) ด้านสังคม (ด้านในกรุงเข้าสู่วัยหนุ่มส่วนเร็วกว่าเด็กชนบท) และการเจริญทางจิตใจ และพฤติกรรม ขึ้นกับสิ่งแวดล้อม และการอบรมสั่งสอนแก่เด็กนั้นๆ

การส่งเสริมการเจริญเติบโตและการเจริญทางด้านพฤติกรรมของเด็ก

            การส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก สามารถจะกระทำได้บุคคลที่เป็นกลจักรสำคัญก็คือ พ่อแม่ ญาติพี่น้อง และสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน และชุมชน ส่วนแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทางกายแพทย์ หรือทางการศึกษาเป็นผู้ที่จะช่วยหาข้อมูลแนะนำ ป้องกัน และส่งเสริมบางประการเท่านั้น หัวข้อที่จะใช้ในการส่งเสริมพอสรุปได้คือ

๑. ระแวดระวังการเจริญเติบโตของเด็ก

            เด็กทุกคนควรจะได้รับการติดตามการเจริญเติบโต อย่างน้อยก็คือ จะได้รับการชั่งน้ำหนัก และวัดส่วนสูงเป็นระยะๆ ตามวัย เช่น วัยทารก ๑-๒ เดือนต่อครั้ง วัยก่อนเข้าเรียนปีละ ๒-๓ ครั้ง และทารก ๑-๒ เดือนต่อครั้ง วัยก่อนเข้าเรียนปีละ ๒-๓ ครั้ง และวัยเรียนปีละ ๓ ครั้งเป็นอย่างน้อย แล้วลงจุดบนกราฟการเจริญเติบโต เพื่อตรวจสอบการเจริญเติบโต หากมีการเจริญเติบโตผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นด้านน้ำหนักน้อยหรือมากเกินอัตราเฉลี่ย ควรจะได้รับการปรึกษาจากแพทย์ หากสามารถจะปฏิบัติได้ ก็ควรได้รับการตรวจทางพฤติกรรมของเด็กด้วย
น้ำหนักปกติและเมื่อบกพร่องทางโภชนาการระดับต่าง ๆ ของเด็กในอายุ ๐-๕ ปี
น้ำหนักปกติและเมื่อบกพร่องทางโภชนาการระดับต่างๆ ของเด็กในอายุ ๐-๕ ปี
๒. ระแวดระวังการให้อาหารตั้งแต่เกิด

            การให้อาหารที่เหมาะกับช่วงอายุ จะช่วยให้เด็กมีการเจริญเติบโตเป็นปกติ และมีสุขภาพดี มีอุปโภคนิสัยที่ดี และถูกต้อง ตลอดจนสมารถลดการเจ็บป่วยทั้งในปัจจุบัน และอนาคตได้
การเจริญเติบโตของทารกในขวบปีแรก
การเจริญเติบโตของทารกในขวบปีแรก

๓. ช่วยกระตุ้นการพัฒนาทานร่างกายและสมองให้ผสมผสานกัน

            การเล่นของเด็กที่ถูกต้องตามวัย จะเป็นปัจจัยช่วยให้มีการก้าวหน้าทางพัฒนาการของเด็กเป็นอย่างดี

๔. ป้องกันการติดโรคติดเชื้อจากบุคคลอื่น

            ภายในบ้านและชุมชนตลอดจนการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันจากการได้รับวัคซีนต่างๆ ตามช่วงอายุที่เหมาะสม

๕. ค้นหาความพิการที่อาจจะเกิดขึ้น

            โดยการดูจังหวะการพัฒนาของเด็ก หากผิดปกติหรือไม่มีความก้าวหน้าควรจะปรึกษาแพทย์

สภาพการกินอยู่กับการเจริญเติบโตของเด็ก

            สภาพการกินอยู่กับการดำเนินชีวิตของเด็ก จะมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการด้านต่างๆ เป็นอย่างมาก ปัจจัยที่เกี่ยวข้องมีมากมาย และมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เป็นการยากที่จะแยกแยะได้เด็ดขาด เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย ความสะอาด การศึกษา ขนาด และฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว ฯลฯ หัวข้อสำคัญที่พึงระลึก คือ
ขนาดรูปร่างของทารกในขวบปีแรกและขวบปีที่สอง : ๙ เดือน
ขนาดรูปร่างของทารกในขวบปีแรกและขวบปีที่สอง : ๙ เดือน 
๑. โภชนาการ

            นับตั้งแต่เด็กคลอดจากครรภ์แม่ เด็กจะต้องได้รับอาหารโดยตรง อาหารจึงมีบทบาทที่สำคัญมากต่อการเจริญเติบโตทางร่างกายและสมอง โดยเฉพาะช่วงแรกของชีวิต (วัยทารก) อาหารจะเป็นสื่อสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก ซึ่งอาจสรุปได้ว่า ความมุ่งหมายของการให้อาหารทารกและเด็ก ทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตเป็นปกติ และมีสุขภาพดี มีนิสัยการกินที่ดี และถูกต้อง เป็นการวางรากฐานของสุขภาพทางกาย อารมณ์ และจิตใจ ลดอัตราเจ็บป่วยในปัจจุบัน และอนาคต และเป็นสื่อให้แม่และเด็กใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการให้นม
            เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว อาหารที่เด็กได้รับ นอกจากนมแม่แล้ว จะต้องประกอบด้วยสารอาหารที่ครบถ้วนและ ให้พลังงานจำนวนเพียงพอ และเหมาะสม การได้รับมากเกิน ต้องการ จะมีผลเสียทำให้เด็กอ้วนเกิน มีอัตราเจ็บป่วยได้สูงทั้ง ปัจจุบันและอนาคต ชนิดของอาหารจะต้องเปลี่ยนแปลงไป ตามอายุของเด็ก สำหรับพลังงานจากอาหารที่เด็กควรได้รับ ควร จะมีอัตราส่วนตามน้ำหนักตัว เด็กเล็กจะมีการเติบโตเร็ว จึงมี ความจำเป็นต้องการจำนวนพลังงานจากอาหารสูงกว่า
๒. สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม

            ร่างกายของเด็กมีภูมิคุ้มกันยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้น สภาพสิ่งแวดล้อมจึงมีความสำคัญ และมีผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กโดยตรง เช่น น้ำสะอาดไม่เพียงพอ การกำจัดขยะ และสิ่งปฏิกูลไม่ดี บ้านช่องสกปรกรกรุงรัง ซึ่งต้องแก้ไขการให้บริการทางการแพทย์ โดยเฉพาะการให้ภูมิคุ้มกันโรคติดเชื้อแก่เด็ก (วัณโรค คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และไขสันหลังอักเสบ ฯลฯ) ให้มีความสำคัญยิ่งขึ้น
ขนาดรูปร่างของทารกในขวบปีแรกและขวบปีที่สอง : ๑๓ เดือน
ขนาดรูปร่างของทารกในขวบปีแรกและขวบปีที่สอง : ๑๓ เดือน 
๓. สภาพทางจิตใจ

            เด็กจะเจริญพัฒนาทางร่างกายและจิตใจเป็นปกติได้ดี ถ้าได้รับความรัก ความอบอุ่นจากแม่และผู้ใกล้ชิด การเล่นเป็นการส่งเสริมประสบการณ์ในการพัฒนา และการแก้ปัญหา เครื่องเล่นของเด็กจึงควรเป็นของที่ปลอดภัย และส่งเสริมการพัฒนาด้านต่างๆ ของเด็กด้วย
ขนาดรูปร่างของทารกในขวบปีแรกและขวบปีที่สอง : ๑๕ เดือน
ขนาดรูปร่างของทารกในขวบปีแรกและขวบปีที่สอง : ๑๕ เดือน
๔. สภาพของชุมชนบางกลุ่ม

            ชุมชนที่หนาแน่นในเมือง และชุมชนที่อยู่ห่างไกลในชนบท ย่อมมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็กได้ ชุมชนที่หนาแน่นในเขตเมือง โดยเฉพาะชุมชนแออัด การเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิต ที่อยู่อาศัยแออัด ผิดสุขลักษณะ รายได้น้อย การคร่ำเครียดต่อการทำงาน ไม่มีโอกาสให้การดูแล และความใกล้ชิดต่อเด็ก สภาพต่างๆ เหล่านี้ ย่อมเป็น อุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของเด็ก
            สำหรับชุมชนที่อยู่ไกลหรืออยู่ในชนบท การคมนาคม ไม่สะดวก ความรู้แผนใหม่เกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาของเด็กขาดไป ความเชื่อถือและการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียม ประเพณีที่ตกทอดมาบางอย่าง ไม่เหมาะสมและอาจเป็นอันตราย การให้บริการทางการแพทย์ไม่ทั่วถึง และการออกมา รับบริการของชาวบ้านก็ไม่สะดวก จากการสำรวจ ชาวเขาบางกลุ่ม มีอัตราการตายของทารก (เกิดจนอายุ ๑ ปี) สูงถึง ๖ เท่าของ อัตราเฉลี่ยของประเทศ และยังตรวจพบอีกว่า เด็กชาวเขามีพยาธิอยู่ในลำไส้ ถึงร้อยละ ๙๐ สภาพของชุมชนดังกล่าว จึงมีผล กระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็กเป็นอย่างมาก