วิธีการของฮอลเลอริท
ผลสำเร็จในการใช้บัตรเจาะรูของแจ็คการ์ดในอุตสาหกรรมทอผ้าหลายปีมาแล้ว ไม่ได้ดลใจใครเลยนอกจาก แบบเบจ จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๒๓ ดร. เฮอร์แมน ฮอลเลอริท (Dr. Herman Hollerith) นักสถิติทำงานอยู่กับสำนักงานสำมะโนประชากร ของสหรัฐอเมริกา พบว่าวิธีการสำรวจ สำมะโนประชากรในสมัยนั้นใช้วิธีการเขียนข้อมูลลงบนบัตร และใช้มือเรียงบัตร ซึ่งเสียเวลามาก ผลรายงานการสำรวจ สำมะโนประชากรใน พ.ศ. ๒๔๒๓ ทำไม่เสร็จ จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๔๓๐ จึงได้มีการคาดคะเนกันว่า การสำรวจสำมะโนประชากร ครั้งต่อไปใน พ.ศ. ๒๔๓๓ จะทำไม่เสร็จใน ๑๐ ปี การทำเสร็จช้านี้ มีอุปสรรคในการกำหนดจำนวนที่นั่งในสภาคองเกรส ที่ต้องทำทุกๆ ๑๐ ปี ตามที่รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริการะบุไว้
| ดร.เฮอร์แมน ฮอลเลอริท ผู้คิดค้นเครื่องเจาะบัตร อ่านบัตร และเรียงบัตรสำหรับใช้ในการสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐอเมริกา สิ่งประดิษฐ์นี้ทำให้เขาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในเวลาต่อมา |
ดังนั้น ฮอลเลอริทจึงคิดหาวิธีให้เร็วขึ้น โดยเริ่ม ทดลองเจาะรูบนม้วนกระดาษแทนข้อมูล วิธีเดียวกันกับ เจาะรูลงบนตั๋ว เนื่องจากกระดาษใช้งานได้ผลไม่เป็นที่น่า พอใจ เขาจึงเปลี่ยนเป็นบัตรขนาด ๓ x ๕ นิ้ว ซึ่งแบ่ง ออกเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็กๆ ขนาดประมาณ ๑/๔
นิ้ว ใช้บันทึกข้อมูลของข่าวสาร เช่น เพศ อายุ อาชีพ ซึ่ง เป็นพื้นฐานในการบันทึกข้อมูล สำหรับการสำรวจประชากร ใน พ.ศ. ๒๔๓๓ การบันทึกข้อมูลใช้วิธีเจาะรูบนบัตรด้วยมือ แล้วนำบัตรทีละแผ่น เข้าวางบนกรอบ ที่วางอยู่เหนืออ่างปรอท ซึ่งมีเข็มเล็กยาวจำนวนมากเรียงแถวกันอยู่เหนือบัตร เข็มใด ตรงกับรูที่เจาะก็จะรอดรูลงไปในอ่างปรอท ทำให้กระแส ไฟฟ้าสามารถไหลผ่านครบวงจร ทำให้มีเข็มชี้หมุนไปตำแหน่ง หนึ่งบนหน้าปัด และทำให้ฝาหีบบรรจุบัตรเปิดออก การ เรียงบัตรใช้มือเรียงตามตัวอักษรบนบัตร วิธีการนี้สามารถ ทำรายงานผลจากบัตรได้ด้วยอัตราเร็ว ๕๐-๗๕ บัตรต่อนาที จึงสามารถทำรายงานผลสำมะโนประชากร พ.ศ. ๒๔๓๓ ได้ เสร็จภายในเวลา ๑/๓
ของการทำรายงานผล สำมะโนประชากร พ.ศ. ๒๔๒๓ ซึ่งวิธีการนี้ได้ทำด้วยมือ ทั้งสิ้น ดังนั้น เครื่องเจาะบัตร เครื่องอ่านบัตรที่ป้อน บัตรด้วยมือ เครื่องแสดงผลลัพธ์ของการสำรวจสำมะโนประชากรบนหน้าปัด และหีบเรียงบัตร เป็นชิ้นส่วนพวกแรก ที่ใช้ในการติดตั้งเครื่องเจาะบัตร