เด็กที่เป็นโรคอ้วนจะเคลื่อนไหวไม่คล่องตัว และอาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น มีความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ ตับ ผิวหนัง กระดูกและข้อ ระบบการหายใจ นอกจากนี้อาจทำให้เป็นที่ล้อเลียนของญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ทำให้ขาดความมั่นใจในตนเอง มีผลกระทบต่อบุคลิกภาพ รวมทั้งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ดังกล่าวมาแล้วด้วย
ดังนั้น เด็กๆ จึงควรสร้างหรือปรับพฤติกรรมการดำรงชีวิตและการกินอาหารให้ถูกต้อง โดยกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายให้ครบหมู่ และในปริมาณที่พอเหมาะ ดื่มนมและน้ำสะอาดให้เพียงพอ จากที่เคยดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม ชา กาแฟ ควรเปลี่ยนมาดื่มน้ำเปล่าแทน ซึ่งจะให้ผลดีต่อสุขภาพ งดขนมหวาน ของทอด ของมัน ขนมกรุบกรอบ งดการกินจุบจิบ หรือการกินจนอิ่มเกิน เพื่อมิให้มีไขมันสะสมในร่างกายเกินความจำเป็น กินผักและผลไม้ให้มากและหลากหลายชนิด เพราะผักผลไม้อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และกากใยอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย รวมทั้งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างความสมบูรณ์แข็งแรง ของร่างกาย
คนเราจะเติบโตอย่างสมบูรณ์แข็งแรงหรือไม่นั้น ขึ้นกับอาหารเป็นหลัก เราจึงควรใส่ใจต่อคำแนะนำของกองโภชนาการ เกี่ยวกับเรื่องการกินอาหาร เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย หรือที่เรียกว่า โภชนบัญญัติ ๙ ประการ ได้แก่
๑. กินอาหารให้ครบ ๕ หมู่ แต่ละหมู่ให้หลากหลาย และหมั่นดูแลน้ำหนักตัว
๒. กินข้าวเป็นอาหารหลัก สลับกับอาหารประเภทแป้งเป็นบางมื้อ
๓. กินพืชผักให้มาก และกินผลไม้เป็นประจำ
๔. กินปลา เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน ไข่ และถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว เป็นประจำ
๕. ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย
๖. กินอาหารที่มีไขมันแต่พอควร
๗. หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสหวานจัด และเค็มจัด
๘. กินอาหารที่สะอาด ปราศจากการปนเปื้อน
๙. งดหรือลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจในสัดส่วน และความหลากหลายของอาหารที่ควรกินในแต่ละวันตามโภชนบัญญัติดังกล่าวแล้ว "ธงโภชนาการ" จะช่วยให้เข้าใจข้อปฏิบัติได้ง่ายขึ้น ดังต่อไปนี้
ตัวอย่างอาหารประจำวันของเด็ก
มื้อเช้า
- ข้าวต้มหมู ส้มเขียวหวาน
- ข้าวสวย ต้มจืดเลือดหมูใบตำลึง มะละกอสุก
- ขนมปัง ไข่ดาว มะเขือเทศ น้ำส้มคั้น
มื้อกลางวัน
- ก๋วยเตี๋ยวหมูสับ สับปะรด
- ข้าวผัดกุ้งใส่เมล็ดถั่วลันเตา ชมพู่
- บะหมี่น่องไก่ เงาะ
มื้อเย็น
- ข้าวสวย แกงจืดแตงกวายัดไส้ ไข่ลูกเขย มังคุด
- ข้าวสวย แกงส้มผักรวม ปลาเล็กปลาน้อยทอดกรอบ กล้วยน้ำว้าหรือกล้วยเล็บมือนาง
- ข้าวสวย ปลาทอดราดน้ำปลา ผัดผักรวม มะม่วงสุก
อาหารว่าง
- ข้าวต้มมัดไส้กล้วยหรือไส้ถั่วเหลือง
- ถั่วแดงหลวงหรือถั่วเขียวต้มน้ำตาล
- ขนมปัง นมถั่วเหลือง
ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ดังเห็นได้จากข้อความในศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหงที่ว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" และได้ชื่อว่า ร่ำรวยด้วยผลผลิตอาหาร ที่มีประโยชน์อย่างมากมาย ทั้งข้าว ปลา เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ธัญพืช ผัก ผลไม้นานาชนิด ซึ่งมีอุดมสมบูรณ์ทุกฤดูกาล ในราคาที่เหมาะสม และล้วนเป็นสิ่งที่เพาะปลูกและจัดหาได้เองในประเทศ ดังนั้น การกินอาหารตามหลักโภชนาการดังกล่าวจึงเป็นไปได้ เพราะมีอาหารให้เลือกอย่างหลากหลาย เด็กไทยทุกคนจึงควรเป็นตัวอย่างในการสร้างพฤติกรรมการกินอาหารที่ดี เพื่อป้องกันตนเองจากโรคเรื้อรังตั้งแต่แรกเริ่ม