เล่มที่ 2
การจำแนกและจัดลำดับหมวดหมู่ของสัตว์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของสัตว์

            ดังได้กล่าวมาแล้วว่า นักสัตวศาสตร์มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้แก่สัตว์ต่างๆ ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ชื่อสามัญของสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งในแต่ละท้องถิ่นเรียกต่างกันออกไป นอกจากนั้นแต่ละท้องถิ่น หรือแต่ละประเทศยังตั้งชื่อสัตว์ตามภาษาของตน เช่น คนไทยเรียกนกชนิดหนึ่งตัวผู้สีดำคล้ายกาแต่เล็กกว่า ส่งเสียงร้อง "กาเว้า กาเว้า" ว่า นกดุเหว่า หรือกาเหว่า แต่คนอังกฤษเรียกว่า "คีลเบิร์ด" (koel bird) และในประเทศอื่นๆ อาจจะเรียกชื่อ ที่ผิดแผกแตกต่างออกไป เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้เกิดการสับสน และไม่เป็นระเบียบ ยากแก่การศึกษา นักวิทยาศาสตร์ในสาขาชีววิทยาจึงได้วางระเบียบแบบแผน เพื่อการตั้งชื่อสัตว์ต่างๆ ให้เป็นระบบสากล และด้วยความหวังให้ชนชาติเข้าใจว่า หมายถึงสัตว์ชนิดใด บุคคลที่น่าจะกล่าวถึง ณ ที่นี้คือ คาโรลัส ลินเนียส ท่านผู้นี้เป็นผู้ริเริ่มวางหลักเกณฑ์การตั้งชื่อพืช และสัตว์ขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๒๙๔ โดยนำเอาชื่อสกุล และชนิด มาตั้งชื่อสัตว์ และพืช ระบบที่ลินเนียสตั้งขึ้นนี้ เรียกว่า "ระบบไบโนมินัล" (binominal system) หรือ "แบบไบโนมินัล โนเมนเคลเจอร์" (binominal nomenclature)

            ระบบการตั้งชื่อตามแบบของลินเนียสได้แพร่หลาย และเป็นที่ยอมรับจาก นักชีววิทยามากขึ้น ภายหลังที่เขาพิมพ์หนังสือชื่อ System Naturae, 10th edition ออกเผยแพร่ใน พ.ศ. ๒๓๐๑ (ค.ศ. ๑๗๕๘) เป็นต้นมา

            ตัวอย่างการตั้งชื่อ "ระบบไบโนมินัล" ของลินเนียส เช่น นกกางเขนบ้าน ซึ่งเราพบอยู่ทั่วๆ ไป ในประเทศไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า คอปไซคัส โซลาริส (ลินเนียส) [Copsychus saularis (Linnaeus), 1758] คำแรกเป็นชื่อ "สกุล" ส่วนคำหลังเป็นชื่อ "ชนิด" สำหรับคำว่า "ลินเนียส" ในวงเล็บนั้น เป็นชื่อของผู้ตั้งชื่อนกชนิดนี้ เป็นคนแรก เมื่อ ค.ศ. ๑๗๕๘ หรือ พ.ศ. ๒๓๐๑

            ระบบไบโนมินัลของลินเนียสนั้น แม้ว่าในปัจจุบัน จะเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายก็ตาม แต่บางครั้ง การตั้งชื่อสัตว์ไม่อาจปฏิบัติตามได้ ดังนั้นในบางแห่ง ผู้ศึกษาอาจจะพบว่าสัตว์บางชนิดมีชื่อวิทยาศาสตร์ โดยใช้ชื่อ สกุล เพียงตัวเดียว เช่น ชื่อของ "ฟอสซิล" บางชนิดเป็นต้น ที่เป็นเช่นนี้ เพราะสัตว์เหล่านั้น ได้สูญพันธุ์ไปเป็นเวลานานแล้ว และพบซากเพียงชนิด เดียว การตั้งชื่อโดยใช้ชื่อสกุลหรือกลุ่มอันดับที่สูง กว่าชนิดอย่างเดียวก็เป็นการเพียงพอแล้ว ระบบ การตั้งชื่อ แบบหลังนี้ เรียกกว่า "ระบบยูนิโนมินัล" (uninominal system)

            ในบางครั้งนักวิทยาศาสตร์ศึกษาพบว่า สัตว์ชนิดเดียวกัน อาศัยอยู่ในประเทศ หรือทวีปที่ห่างไกลกัน มีลักษณะรูปร่างต่างกันเพียงเล็กน้อยจนไม่อาจจะแยก ออกเป็นชนิดใหม่ได้ การตั้งชื่อวิทยาศาสตร์แก่สัตว์ นั้นๆ จึงนำชื่อ "สกุล" "ชนิด" และ "ชนิดย่อย" เข้ามารวมกัน วิธีการตั้งชื่อแบบนี้เรียกว่า การตั้งชื่อ โดยใช้ "ระบบไทรโนมินัล" (trinominal system) ตัวอย่างเช่น อ้นใหญ่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ไรโซมิส ซูมาเทรนซิส ซิเนอเรียส (Rhizomys sumatrensis cinereus) เป็นต้น ในบางครั้งการตั้งชื่ออาจจะรวมเอา ชนิดย่อย และหน่วยอื่นที่เล็กกว่าเข้าไปด้วย เช่น สกุล ชนิด พรรณ รูป และอื่นๆ อีก แล้วแต่ความ เหมาะสม การตั้งชื่อแบบนี้เรียกว่า "ระบบโพลีโนมินัล" (polynominal system) การตั้งชื่อแบบหลังนี้ มักจะใช้กันในหมู่นักพฤกษศาสตร์ เช่น ชื่อหญ้าหางม้า ชนิดหนึ่งมีชื่อว่า อีควิซีทัม พาลัสทรี อเมริกานา ฟลูอินแทนส์ (Equisetum palustre uar.americana f.fluitans) เป็นต้น การตั้งชื่อแบบที่กล่าวมานี้ นักวิทยาศาสตร์ ทางสัตวศาสตร์ไม่นิยมกระทำกันแพร่หลายนัก


อ้นใหญ่ (Rhizomyz sumatrensis cinereut)

            การตั้งชื่อวิทยาศาสตร์สำหรับสัตว์ต่างๆ ประสบปัญหายุ่งยากในระยะต้นๆ เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์หลายๆ ชาติ ต่างมีเสรีภาพในการตั้งชื่อสัตว์ต่างๆ แม้ว่าจะใช้ระบบไบโนมินัลของลินเนียสแบบเดียวกัน แล้วก็ตาม ดังจะเห็นได้ว่าใน พ.ศ. ๒๓๘๕ สมาคม ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของอังกฤษ (British Association for the Advancement of Science) ได้ประกาศ ใช้ "หลักเกณฑ์ของสตริคแลนด์" (Stricklandian code) ขึ้น เวลาต่อมา ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีการตั้ง "หลักเกณฑ์ของดาลล์" (Dall's code) ขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๒๐ นอกจากนี้ประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศฝรั่งเศส และเยอรมัน ก็ได้ตั้งหลักเกณฑ์การตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของสัตว์ สำหรับชาติตนขึ้นบ้างเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ในตอนคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ นักสัตวศาสตร์ ทั้งหลายมีความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรที่จะให้มีกฎ สำหรับนานาชาติ (international rules) ขึ้นเพื่อการ ตั้งชื่อสัตว์โดยเฉพาะ จึงได้จัดให้มีการประชุมสภา สัตวศาสตร์สากล ครั้งที่ ๑ (First International Congress of Zoology) ขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ใน พ.ศ. ๒๔๓๒ โดยมีศาสตราจารย์ราฟาเอล บลังชาร์ด (Raphael Blanchard) เป็นผู้ร่างกฎและเป็นเลขาธิการ ที่ประชุมได้ลงมติไม่รับกฎนี้ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้มีการประชุมสภานี้อีกเป็นครั้งที่ ๒ ที่กรุง มอสโก ประเทศสหภาพโซเวียต ได้มีการอภิปราย กฎของศาสตราจารย์บลังชาร์ดอย่างกว้างขวาง และ ในที่สุด ได้ลงมติรับกฎนี้ไว้เป็นแนวทางปฏิบัติ

            สภาสัตวศาสตร์สากลได้มีการประชุมเกี่ยวกับเรื่องนี้กันอีกหลายครั้ง จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้มี การประชุมครั้งที่ ๑๕ ณ กรุงลอนดอน ประเทศ อังกฤษ และได้พิมพ์ผลการประชุมออกเผยแพร่ใน พ.ศ. ๒๕๐๗ โดยได้จัดพิมพ์เป็น ๒ ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศส กฎเกณฑ์เหล่านี้เป็นที่ ยอมรับของนักชีววิทยา และถือเป็นหลักปฏิบัติ ในการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของสัตว์ มาจนกระทั่งทุกวันนี้