เล่มที่ 13
จิตรกรรมไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
อิทธิพลศิลปะตะวันตกในจิตรกรรมไทยแบบประเพณี

            จิตรกรรมไทยแบบประเพณี มีหลักฐานเห็นได้ตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ที่มีปรากฏเป็นงานชิ้นสำคัญนั้น เป็นจิตรกรรมตั้งแต่สมัยอยุธยา หลักฐานของจิตรกรรมฝาผนังที่คงอยู่ และศึกษาได้ในปัจจุบัน หาชมได้จากจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ตามโบสถ์วิหารต่างๆ ซึ่งมีวิวัฒนาการตามลำดับ มีความแตกต่างกันบ้างในลักษณะสี และองค์ประกอบ ตลอดจนรายละเอียดในภาพ

ภาพเขียนฝีมือพระอาจารย์อินโข่ง (ขรัวอินโข่ง) เก็บรักษาอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหอศิลปภาพเขียนฝีมือพระอาจารย์อินโข่ง (ขรัวอินโข่ง) เก็บรักษาอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหอศิลป

            การเขียนภาพจิตรกรรมแบบประเพณีของไทย เริ่มมีการนำเทคนิคของการเขียนภาพแบบตะวันตกเข้ามาใช้ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ผู้ที่เริ่มนำเทคนิคของการเขียนภาพแบบตะวันตก มาใช้เป็นท่านแรกคือ พระอาจารย์อินโข่ง หรือที่เรียกติดปากกันทั่วไปว่า ขรัวอินโข่ง ท่านเป็นจิตรกรที่บวชเป็นพระ จำพรรษาอยู่ ที่วัดราชบูรณะ ขรัวอินโข่ง เป็นผู้ริเริ่มพัฒนา แนวทางการเขียนภาพจิตรกรรมไทยแบบประเพณี โดยนำเอากฎเกณฑ์ทางทัศนียวิทยาเข้ามาใช้ แสดงระยะใกล้ - ไกล และแสดงบรรยากาศในภาพจิตรกรรม ด้วยการใช้แสงเงาและสี ทั้งยังนำเอาลักษณะของการจัดองค์ประกอบ และลักษณะตึกรามบ้านช่องแบบตะวันตก เข้ามาใช้ในภาพเขียน นอกจากนั้นลักษณะภาพเขียนของขรัวอินโข่ง ยังแสดงถึงบรรยากาศบางลักษณะ ของสภาพภูมิอากาศของตะวันตกอีกด้วย

            การเขียนภาพจิตรกรรมบนกระดาษ หรือผ้าใบ ในลักษณะริเริ่ม เท่าที่ปรากฏมีหลักฐานนั้น เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยจะศึกษาตัวอย่างงานได้ จากจิตรกรรมสีน้ำของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (เริ่มมีผลงานปรากฏในสมัยรัชกาล ที่ ๖) ภาพเขียนสีน้ำมันของพระสรลักษณ์ลิขิต (เริ่มมีผลงานปรากฏในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๖) ซึ่งเขียนภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของ รัชกาลที่ ๒ และภาพเขียนของพระยาอนุศาสน์จิตรกร (เริ่มมีผลงานปรากฏในช่วงสมัย รัชกาลที่ ๗)