การได้รับอิทธิพบซึ่งกันและกันของตะวันตกและตะวันออก โดยปกติความเคลื่อนไหวทางศิลปวัฒนธรรมย่อมไม่หยุดนิ่ง จากสังคมหนึ่งถ่ายทอดให้อีกสังคมหนึ่ง วัฒนธรรมทางตะวันตกแผ่อิทธิพลมาทางตะวันออก งานจิตรกรรมทางตะวันออก ก็ได้รับอิทธิพลของจิตรกรรมทางตะวันตก อิทธิพลนี้ มีส่วนทำให้งานจิตรกรรมของทางตะวันออกเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งทางความคิด และวิธีการต่างๆ ที่เห็นได้ชัดคือ งานจิตรกรรมของทางตะวันออก แต่เดิมนั้น ศิลปินเขียนภาพตามอุดมคติ มากกว่าที่จะยึดถือหลักข้อเท็จจริงตามธรรมชาติ เช่น การจัดองค์ประกอบการเขียนภาพคนและสัตว์ มักเขียนตามความรู้สึกนึกคิดของช่าง และเขียนเป็นลักษณะ ๒ มิติ แต่เมื่อได้รับอิทธิพลจากจิตรกรรมตะวันตก ซึ่งเขียนภาพให้แสงเงา และวิธีการเขียน ที่แสดงออกในลักษณะ ๓ มิติ การเขียนภาพจิตรกรรมของไทย ก็เริ่มมีการนำลักษณะเหล่านี้มาใช้ เช่น การเขียนภาพคนให้ถูกต้องทางกายวิภาค และการเขียนภาพตามหลักของทัศนียวิทยา เป็นต้น | |||
ภาพจิตรกรรมสัตว์หิมพานต์ ณ วัดสุทัศน์เทพวราราม | |||
วิวัฒนาการของจิตรกรรมเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม งานจิตรกรรมมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ และแนวความคิด เมื่อการสื่อสาร และการคมนาคมมีความเจริญขึ้น
เมื่อมีการนำงานศิลปะแบบประเพณีของชนเผ่าต่างๆ ในทวีปแอฟริกาไปแสดงในยุโรป โดยเฉพาะในประเทศฝรั่งเศส เมื่อต้นศตวรรษที่ ๒๐ ศิลปินในกรุงปารีสได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดของการใช้วัสดุ การเปลี่ยนแปลงของรูปทรง ที่เกิดจากแสง การใช้สีและความสัมพันธ์ของรูปทรง ศิลปินที่นำลักษณะแนวความคิด ของศิลปินดั้งเดิมแอฟริกันมาประยุกต์ เป็นความคิดของตนเอง และประสบความสำเร็จ คือ ปอล เซซานน์ (Pual Cezanne ค.ศ. ๑๘๓๙- ๑๙๐๖) ชาวฝรั่งเศส ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso ค.ศ. ๑๘๘๑-๑๙๗๒) ชาวสเปน และ จอร์จ บราก (George Braque ค.ศ. ๑๘๘๒- ๑๙๖๓) ชาวฝรั่งเศส ลักษณะของการได้รับอิทธิพลซึ่งกันและกันดังกล่าว ดำเนินการเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้ง จนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดแนวทางของงานจิตรกรรมอีกมากมาย ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากความคิดริเริ่มดังที่กล่าวมาแล้ว |