ทุกเช้าก่อนให้อาหารต้องใช้สายยางดูดเอาเศษอาหาร และตะกอนก้นบ่อออกเสียก่อน แล้วจึงถ่ายน้ำ ถ้าเพาะกุ้ง โดยใช้ระบบปิด ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำ เพียงแต่เติมน้ำที่ลดลงให้เท่าเดิม
คุณสมบัติของน้ำ
อุณหภูมิ อุณหภูมิที่เหมาะสมคือ ๒๙ - ๓๑ องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิต่ำ ลูกกุ้งไม่ค่อยกินอาหาร และโตช้า
ออกซิเจน จะต้องให้มีออกซิเจนในน้ำ ไม่น้อยกว่า ๔ ส่วนในล้าน ดังนั้น จึงต้องใช้เครื่องเป่าอากาศตลอดเวลา
แอมโมเนียและไนไทรต์ สารละลายที่มีพิษ ในบ่อลูกกุ้งที่สำคัญ คือ แอมโมเนีย และไนไทรต์ สารทั้งสองเกิดจากการขับถ่ายของเสียของลูกกุ้ง ถ้าความเข้มข้นของสารทั้งสองมีมาก จะทำให้ลูกกุ้งมีอัตราการเจริญเติบโตต่ำ และอาจทำให้ลูกกุ้งตายได้ ฉะนั้นจึงควรควบคุมแอมโมเนียไม่ให้สูงเกินกว่า ๐.๑ มิลลิกรัมต่อลิตร และไนไทรต์ไม่ให้เกิน ๑.๕ มิลลิกรัมต่อลิตร
ความเป็นกรด - ด่าง ความเป็นกรด - ด่าง ของน้ำ จะมีผลเสียต่อลูกกุ้ง เมื่อต่ำหรือสูงกว่า ๗ - ๘.๕
ศัตรูและโรค
ในการเพาะพันธุ์กุ้งก้ามกรามนั้น จะต้องรักษาน้ำ อาหาร อากาศ ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการเพาะพันธุ์ให้สะอาด และมีคุณสมบัติที่เหมาะสมอยู่เสมอ ซึ่งเป็นการป้องกันศัตรูและโรคของลูกกุ้งได้ดีที่สุด และในทางปฏิบัติ ความสกปรกของอุปกรณ์ต่างๆ ในโรงเพาะฟัก และความผิดพลาดทางเทคนิคของการเพาะเลี้ยง เป็นสาเหตุให้ประสบปัญหาเกี่ยวกับศัตรูและโรคเป็นประจำ บางครั้งทำให้ได้ผลิตผลต่ำมาก หรือไม่ได้เลย พอจะประมวลสาเหตุได้ ดังนี้
๑. น้ำที่ใช้เพาะพันธุ์ไม่มีการกรอง หรือไม่สะอาดเพียงพอ ทำให้มีสัตว์ขนาดเล็กเล็ดลอดเข้าไปเจริญเติบโตในถังเพา ะพันธุ์กุ้งได้ และจะกินลูกกุ้ง หรือปล่อยสารพิษออกมา ทำให้ลูกกุ้งตาย สัตว์เหล่านี้ได้แก่ ลูกปลา และไฮโดรซัว (Hydrozoa) ซึ่งมีวิธีป้องกันได้ โดยการกรองน้ำ หรือใช้สารเคมีฆ่าเชื้อต่างๆ ให้น้ำสะอาดเสียก่อน เมื่อสารเคมีหมดฤทธิ์ จึงนำมาใช้ในการเพาะเลี้ยงกุ้งวัยอ่อน ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคและศัตรูทุกชนิด
๒. สัตว์เซลล์เดียว (Protozo) ได้แก่ ซูแทมเนียม (Zoothamnium sp.) เอพิสไทลิส (Epistylis sp.) และลาจีนอฟรีส (Lagenophrys sp.) ซึ่งอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เกาะอยู่ข้างลำตัวกุ้ง
วิธีรักษา ใช้น้ำยาฟอร์มาลิน (Forma- lin) ใส่ในถังเพาะพันธุ์ให้มีความเข้มข้น ๒๕-๕๐ ส่วนในล้าน (ppm.) หรือใส่จุนสี (CuSo๔) ละลาย น้ำในอัตราส่วน ๐.๐๐๒๕ กรัมต่อน้ำ ๑ ตัน
๓. บัคเตรี จำพวกไวบริโอ (Vibrio sp.) และซูโดโมนัส (Pseudomonas sp.) เมื่อเกิดกับตัวกุ้ง จะมีลักษณะสีขาวขุ่น เมื่อเป็นแล้วลูกกุ้งไม่ค่อยกินอาหาร จะทำให้อ่อนแอและตายไปในที่สุด
วิธีรักษา ใช้ยาจำพวกยาปฏิชีวนะ (antibiotic) เช่น ยาฟูราเนซ (furanace) ใส่ในอัตรา ๐.๑ ส่วนในล้าน ออกซีเททระไซคลิน (Oxyte- tracycline) ในอัตรา ๒ - ๕ กรัมต่อน้ำ ๑ ตัน
นอกจากศัตรูและโรคดังกล่าวยังพบโรคเรืองแสง ซึ่งยังไม่พบวิธีรักษาที่ได้ผล นอกจากป้องกันโดยการฆ่าเชื้อในน้ำทะเล ก่อนที่จะนำมาใช้เลี้ยงลูกกุ้ง
เมื่อลูกกุ้งคว่ำลงเกาะพื้นก้นบ่อ ซึ่งใช้เวลาประมาณ ๓๐ - ๔๕ วัน สามารถนำไปเลี้ยงในบ่อใหญ่ได้ แต่ก่อนที่จะนำไปเลี้ยงในบ่อใหญ่ ควรอนุบาลลูกกุ้งต่อไปอีก ๑-๒ เดือน ทั้งนี้เพื่อให้ลูกกุ้งแข็งแรงพอเสียก่อน