เล่มที่ 14
พระราชวังในส่วนภูมิภาค
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
พระราชวังในสมัยรัชกาลที่ ๔

            ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์พระนารายณ์ราชนิเวศน์ โดยการผาติกรรมวัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจำนวน ๔ วัด และทรงสร้างหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎขึ้น เป็นที่ประทับ เมื่อเสด็จประพาสลพบุรี ปัจจุบันพระราชวังนี้ได้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ประชาชนเข้าชมได้

พระนครคีรี

            ที่จังหวัดเพชรบุรี มีเขาอยู่ลูกหนึ่งเรียกว่า "เขาสมณ" มีวัดตั้งอยู่บนเขานี้ เป็นที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงผนวช ได้เสด็จจาริกไปประทับอยู่เป็นประจำ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้นบนเขานั้น เพื่อเป็นที่ประทับ และเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎร พระราชทานนามว่า "พระนครคีรี" ลักษณะของพื้นที่เป็นเขา ๓ ยอด
พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี
พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี
            ยอดทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งเคยเป็นวัดมาก่อน ก็โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นพระอารามประจำพระราชวัง เช่นเดียวกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานนามว่า "วัดพระแก้ว"

            ยอดกลาง ซึ่งแต่เดิมมีพระเจดีย์ชำรุดอยู่องค์หนึ่ง ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์ใหม่ทับองค์เดิม และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในพระเจดีย์ พระราชทานนามว่า "พระธาตุจอมเพชร"

            ยอดทางด้านทิศตะวันตก โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งหมู่ใหญ่ขึ้น เพื่อเป็นที่ประทับ และเสด็จออกว่าราชการ เช่นเดียวกับพระที่นั่งในพระราชวังในกรุงเทพฯ พระที่นั่งสำคัญ ได้แก่
พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์
พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์
พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์

            เป็นพระที่นั่งองค์ใหญ่ที่สุด ในหมู่พระนั่งบนพระนครคีรี สันนิษฐานว่า เป็นท้องพระโรงเสด็จออกขุนนาง
พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์

กล่าวกันว่าเป็นที่ประทับ
ภายในพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์
ภายในพระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์
พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท

            เป็นปราสาทยอดปรางค์ ๕ ยอด มีมุข ๔ มุข ยอดปรางค์ใหญ่อยู่กลาง และยอดปรางค์เล็กตั้งอยู่ที่มุขทั้ง ๔ วัตถุประสงค์ในการสร้างปราสาทนี้ ทรงมีพระราชดำริว่า "พระราชวังใหญ่แต่โบราณ เช่น พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ที่เมืองลพบุรี ย่อมมีปราสาท จึงทรงสร้างปราสาทขึ้นเป็นสังเขปที่พระนครคีรี" ภายในปราสาทนี้ ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวภายในนพปฎลมหาเศวตฉัตร

            นอกจากนั้นยังมีพระที่นั่งแ ละอาคารอื่นๆ อีกหลายหลัง ได้แก่ พระที่นั่งราชธรมสภา ใช้เป็นที่ประชุมบรรยายธรรม หอชัชวาลเวียงชัย ใช้เป็นที่ส่องกล้องทอดพระเนตรดวงดาว ตามที่ทรงเชี่ยวชาญในวิชาดาราศาสตร์ ลักษณะของหลังคาเป็นรูปโดม มุงด้วยกระจกโค้ง หอพิมานเพชรมเหศวร์ เป็นศาลพระภูมิประจำพระราชวัง
หอชัชวาลเวียงชัย
หอชัชวาลเวียงชัย
            พระราชวังแห่งนี้ก่อสร้างขึ้นในรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ โดยได้รับอิทธิพลจากการที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกษาวิชาความรู้จากชาวต่างประเทศ จึงได้ทรงนำแบบอย่าง ของสถาปัตยกรรมตะวันตกมาก่อสร้างพระราชวังด้วย อย่างไรก็ดี ลักษณะของสถาปัตยกรรม ยังคงเป็นแบบศิลปะตะวันตก ที่คนไทยได้จำมาจากตะวันตกบ้าง จากรูปภาพบ้าง นอกจากนั้นวัสดุก่อสร้างยังจำกัด ฉะนั้นลักษณะของสถาปัตยกรรมที่พระราชวังนี้ จึงเป็นแบบผสมผสานที่มิใช่แบบตะวันตกที่แท้จริง

ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์จนอยู่ในสภาพดี