พระราชวังในสมัยรัชกาลที่ ๖ พระราชวังสนามจันทร์ พระราชวังนี้ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะเตรียมรับวิกฤติการณ์ ของประเทศ อันอาจจะเกิดขึ้น เนื่องด้วยเหตุการณ์ในขณะนั้น เป็นระยะเวลาของการล่าเมืองขึ้นของประเทศตะวันตก รัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระราชดำริว่า ถ้าข้าศึกยกกองทัพเรือแล่นเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา และเราไม่สามารถป้องกันกรุงเทพฯ ไว้ได้ เราจึงควรจะมีที่ตั้งมั่นแห่งใหม่ ที่มีภูมิประเทศที่เอื้ออำนวยในการป้องกัน จึงทรงเลือกจังหวัดนครปฐมเป็นที่ตั้งพระราชวัง ด้วยเป็นทำเลที่มีธรรมชาติเหมาะ ยากที่ข้าศึกจะติดตามไปได้ หลังจากที่สร้างพระราชวังแล้ว รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงใช้พระราชวังสนามจันทร์เป็นที่ซ้อมรบเสือป่า และพักพลเสือป่า เพื่อเตรียมพร้อม สำหรับป้องกันประเทศในยามคับขัน | |
พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บริเวณพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม | |
พระราชวังสนามจันทร์มีผู้สันนิษฐานว่า ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เรียกว่าเนินปราสาท ซึ่งเคยเป็น พระราชวังที่มีกษัตริย์ปกครอง มีโบสถ์พราหมณ์ และมีสระน้ำที่เรียกว่า สระน้ำจันทร์ อยู่ด้านหน้า | |
เทวาลัยคเณศร์ | พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเชื่อตามหลักฐานเท่าที่ปรากฏเป็นพระราชวังเก่า จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังสนามจันทร์ขึ้น โดยดัดแปลงจากพระตำหนักที่ประทับ ก่อนขึ้นเสวยราชย์ และสร้างพระที่นั่งองค์อื่นๆ ขึ้นตามหลัง ในพื้นที่ที่ทรงซื้อไว้ ๘๘๘ ไร่ ๓ งาน ๒๔ วา และพระราชทานนามให้คล้องจองกันดังนี้คือ |
พระที่นั่งพิมานปฐม พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี พระที่นั่งวัชรีรมยา พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ ปราสาทศรีวิไชย เทวาลัยคเณศร์ ศาลาธรรมเทศน์โอฬาร และพระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย หมู่พระที่นั่งเหล่านี้มีพระที่นั่งที่สำคัญหลายองค์ได้แก่ พระที่นั่งพิมานปฐมและพระที่นั่งอภิรมย์ฤดี เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้น ก่อนขึ้นเสวยราชย์ ใช้ เป็นห้องบรรทม ห้องสรง ห้องเสวย และหอพระ เป็นต้น | |
พระที่นั่งพิมานปฐมและพระที่นั่งอภิรมย์ฤดี | |
พระที่นั่งวัชรีรมยาและพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ เป็นพระที่นั่งสำคัญของพระราชวัง สร้างขึ้นเป็นอาคารทรงไทย ๒ หลังต่อเนื่องกันโดยพระที่นั่งวัชรีรมยาสูง ๒ ชั้น ใช้เป็นที่ประทับ และพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ สูงชั้นเดียว ใช้เป็นท้องพระโรงเสด็จออกสำหรับประกอบพระราชพิธี เป็นที่ประชุมเสือป่า รวมทั้งซ้อมและเล่นโขน ละคร เป็นต้น | |
พระที่นั่งวัชรีรมยา | |
นอกจากหมู่พระที่นั่งดังกล่าวแล้ว ยังมีหมู่ พระตำหนักที่สำคัญอีก ๒ หมู่คือ |
พระตำหนักชาลีมงคลอาส์นและพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ เป็นพระตำหนักขนาดเล็ก ๒ หลัง เชื่อมต่อถึงกันด้วยสะพานไม้ มีฝา มีหลังคาคลุม พระตำหนักชาลีมงคลอาส์นเป็นตำหนักก่ออิฐถือปูน สร้างขึ้นเป็นแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก ส่วนพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์เป็นตำหนักไม้ ทาสีแดง | พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ |
พระตำหนักทับแก้ว เป็นพระตำหนักขนาด เล็ก ๒ ชั้น ใช้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการเสือป่ารักษาพระองค์ของรัชกาลที่ ๖ เมื่อมหาวิทยาลัยศิลปากรได้สร้างวิทยาลัยแห่งแรกขึ้น ในวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ก็ได้สร้างขึ้นใกล้ๆ กับพระตำหนักทับแก้วหลังนี้ วิทยาลัยแห่งนี้จึงได้ใช้ชื่อว่า "ทับแก้ว" เพื่อเป็นการเชิดชูนามต่อไปด้วย พระตับหนักทับขวัญ เป็นพระตำหนักแบบเรือนไทยหมู่ใหญ่ ประกอบด้วยเรือน ๔ หลัง หันหน้าเข้าสู่ลานกลาง เรือนต่างๆ ประกอบด้วย หอนอน ๒ หอ หันหน้าเข้าหากัน อีก ๒ หอเป็น เรือนโถง และหอนั่ง นอกจากนั้นยังมีเรือนเล็กๆ อีก ๔ หลัง ตั้งอยู่ตอนมุมทั้งสี่มุม มุมละ ๑ หลัง เป็นเรือนครัว และเรือนที่พักของข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ พระตำหนักทับขวัญนี้เป็นแบบอย่างของเรือนไทย ที่งดงามหมู่หนึ่ง ที่ได้รับการบูรณะไว้เป็นอย่างดี | |
พระตำหนักทับขวัญ | |
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ตั้งอยู่ชายทะเล เขตตำบลห้วยทรายเหนือ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น สำหรับแปรพระราชฐานไปประทับสำราญพระอิริยาบถในฤดูร้อน โดยรื้อพระตำหนักที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างไว้ ที่หาดเจ้าสำราญ มาสร้างขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ ทั้งนี้ เนื่องจากที่หาดเจ้าสำราญมีแมลงวันชุกชุม | |
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน | |
พระที่นั่งต่างๆ ในพระราชนิเวศน์นี้ เป็น อาคารไม้ใต้ถุนสูง สร้างเป็นหมู่ใหญ่รวม ๓ หลัง ติดต่อกันได้ตลอด มีทางเดินลงสู่ศาลาริมหาดทรายได้ ๒ ทาง ทางเดินดังกล่าวเหล่านี้ มีลูกกรงเตี้ยๆ กั้น มีหลังคาคลุมต่อจากหลังคาลงมาต่อ เป็นพาไลอีกชั้นหนึ่ง หมู่พระที่นั่งนี้มีชื่อพระราชทานไว้คล้องจองกันดังนี้ คือ พระที่นั่งสมุทพิมาน พระที่นั่งพิศาลสาคร และพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ |
บันไดขึ้นชั้นบนของพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ | พระที่นั่งสมุทพิมาน และพระที่นั่งพิศาลสาคร เป็นเรือนไม้ มีห้องโถงกว้างรูปจตุรัส ลักษณะคล้ายหอนั่ง โดยเฉพาะที่พระที่นั่งพิศาลสาคร ต่อกับพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ เป็นห้องกว้างใหญ่ มีบันไดขึ้นลงได้สองทาง ที่หอนั่ง และภายในพระที่นั่งบางตอนประดับลายเขียนสีที่เพดาน และที่คอสอง |
ส่วนพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ มีทางเดินต่อจากพระที่นั่งพิศาลสาครเป็นสองชั้น มีบันไดขึ้นชั้นบน ซึ่งทำเป็นมุขยื่นโค้งออกมา เป็นอัฒจันทร์ และมีระเบียงต่อออกไปเดินได้โดยตลอดรอบอาคาร ด้านหลังพระที่นั่งมีอาคารชั้นเดียวเตี้ยๆ เป็นเรือนพัก ของข้าราชบริพาร เล่ากันว่า ภายในบริเวณพระราชนิเวศน์ได้นำสัตว์ป่าประเภทเก้ง กวาง กระต่าย เม่น และนกต่างๆ มาเลี้ยงไว้ มีต้นไม้ปลูกร่มรื่นสวยงาม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาประทับเพียง ๒ ครั้ง คือ ฤดูร้อน พ.ศ. ๒๔๖๗ และ พ.ศ. ๒๔๖๘ ก็เสด็จสวรรคต พระราชนิเวศน์แห่งนี้จึงได้ทิ้งร้างไป ปัจจุบันอยู่ในค่ายพระราม ๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาติให้กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ก่อสร้างศูนย์ฝึกการต่อต้านปราบปรามการก่อความไม่สงบขึ้น |