การใช้เทคโนโลยีชีวภาพในกิจการต่างๆ เนื่องจากเทคโนโลยีชีวภาพเป็นเทคโนโลยีที่ใช้หลักการ และประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต เพื่อประโยชน์การดำเนินชีพของเรา จึงมีส่วนอยู่ในกิจการหลายประเภท และหลายระดับ | |
ผลไม้ ผลิตผลที่ได้รับการพัฒนา ปรับปรุงพันธุ์ให้ดีขึ้นมาโดยตลอด | เทคโนโลยีด้านการเกษตร ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงพันธุ์ และผลิตผล เป็นเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งได้มาจากความรู้ เรื่องพันธุกรรม รวมทั้งการผสม การกลายพันธุ์ และการคัดเลือกพันธุ์ เทคโนโลยีเหล่านี้ แต่เดิมได้มาจากประสบการณ์ที่สั่งสมกันมา หลายยุคหลายสมัย และเมื่อได้มาใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ ในสมัยปัจจุบัน ก็ทำให้เกิดเกษตรกรรมแผนใหม่ ซึ่งก่อให้เกิดผลิตผลข้าว ถั่ว ผลไม้ และพืชผลอื่นๆ ที่ดีขึ้นกว่าเดิม |
ตัวอย่างผลของการใช้เทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตรที่สำคัญ คือ "การปฏิวัติเขียว" ซึ่งเป็นการเพิ่มผลิตผลทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวเจ้า และข้าวสาลี ในประเทศที่กำลังพัฒนาหลายประเทศ ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นต้นมา ข้าวพันธุ์ใหม่ๆ เหล่านี้มีผลิตผลสูง และใช้เวลาในการปลูกน้อยกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม ข้าวเหล่านี้ต้องการการดูแลเพิ่มขึ้นมากกว่าธรรมดา ต้องใช้ปุ๋ยยาฆ่าศัตรูพืช และต้องมีระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงต้องลงทุนสูงกว่าเดิม และทำให้เกษตรกรรายใหญ่ ซึ่งสามารถลงทุนได้ ได้ผลประโยชน์มากกว่าเกษตรกรรายย่อย แต่ถึงแม้การปฏิวัติเขียวจะมีข้อเสียเช่นนี้อยู่ ก็มีส่วนดีอยู่มาก โดยเฉพาะได้ทำให้หลายประเทศ ซึ่งเดิมผลิตข้าวไม่พอสำหรับประชาชนของตน เช่น อินเดีย และอินโดนีเซีย สามารถผลิตข้าว จนพอเลี้ยงตัวเองได้ | |
การปลูกข้าว การผลิตที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีชีวภาพ | |
เราใช้เทคโนโลยีชีวภาพในอุตสาหกรรมหลายประเภท ตั้งแต่อุตสาหกรรมผลิตอาหาร จนถึงอุตสาหกรรมผลิตยารักษาโรคหลายชนิด โดยเฉพาะการผลิตยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลิน เริ่มมาจากการค้นพบฤทธิ์ของเชื้อราบางชนิดที่สามารถฆ่าบัคเตรีได้ ต่อมา ได้สกัดสารที่เป็นตัวยานั้น แล้วศึกษาคุณสมบัติต่างๆ ของมัน จนสามารถผลิตยานั้นออกมาเป็นปริมาณมากในระดับอุตสาหกรรม ในปัจจุบันนอกจากยาปฏิชีวนะแล้ว การผลิตวัคซีน น้ำยาวินิจฉัยโรค และเคมีภัณฑ์หลายชนิด ต้องใช้เทคโนโลยีชีวภาพเป็นปัจจัยสำคัญ ในการผลิต และการทดสอบ | |
ระบบผลิตก๊าซชีวภาพขนาดใหญ่จากน้ำทิ้งโรงงานแป้งมันสำปะหลัง สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงาน | |
นอกจากนี้ เทคโนโลยีชีวภาพยังมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การบำบัดน้ำเสียจากอุตสาหกรรม อาจทำได้ โดยใช้จุลินทรีย์บางชนิด ที่จะเปลี่ยนน้ำให้มีคุณภาพดีขึ้นได้ |
เราใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการผลิตพลังงานมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ เช่น จากวัสดุเกษตรที่เหลือทิ้ง สามารถผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ สำหรับใช้ในครัวเรือน หรือในอุตสาหกรรม | การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของพืช เพื่อการแพร่ขยายและคัดเลือกพันธุ์ |
กิจการที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพอาจมีขนาดแตกต่างกันออกไป กิจการขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ได้แก่ อุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น อุตสาหกรรมผลิตยา วัคซีน เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์อาหาร กิจการขนาดกลางและเล็ก ซึ่งทำผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ซีอิ้ว น้ำปลา ผลิตผลการเกษตร เช่น เห็ดและดอกไม้ ก็มักใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการควบคุมคุณภาพ และเพิ่มผลิตผลกิจการ ในระดับครัวเรือนหลายอย่าง โดยเฉพาะในด้านการเกษตร ก็ใช้ผลิตผลหรือเทคนิค ที่มาจากเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น การใช้หัวเชื้อ เพื่อเร่งการทำปุ๋ยหมักจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร หรือการทำก๊าซชีวภาพ เพื่อเป็นพลังงานไว้ใช้ในครัวเรือน เป็นต้น กล่าวอย่างรวมๆ วัตถุดิบของเทคโนโลยีชีวภาพคือ พืช สัตว์ และจุลินทรีย์ เราสามารถปรับปรุงพันธุ์ แพร่ขยายพันธุ์ และหาทางใหม่ๆ ในการใช้พันธุ์เดิมที่มีอยู่แล้ว ในการขยายและปรับปรุงพันธุ์พืชนั้น เทคโนโลยีชีวภาพมีเทคนิคสำคัญ คือ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หรือกลุ่มเซลล์ของพืช เทคนิคนี้ ทำให้เราสามารถนำเอาชิ้นส่วนของพืชเพียงเล็กน้อยมาเพาะเลี้ยง แพร่ขยายเป็นพันเป็นหมื่นต้น พืชที่นำมาเพาะเลี้ยงได้เช่นนี้มีตั้งแต่กล้วยไม้ ข้าว มันฝรั่ง จนถึงไม้ยืนต้น เช่น ยางพาราหรือสัก นอกจากใช้แพร่ขยายพันธุ์แล้ว การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ยังทำให้สามารถคัดเลือกพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีคุณสมบัติดีขึ้นกว่าเดิม เช่น ต้านทานโรค ทนความแห้งแล้ง โตเร็ว ให้ผลิตผลมากขึ้น ส่วนการขยายและปรับปรุงพันธุ์สัตว์นั้นมีเทคนิคสำคัญใหม่ๆ คือ การจัดการผสมพันธุ์ และการเพาะเลี้ยงตัวอ่อน ในหลอดแก้ว การถ่ายฝากตัวอ่อนข้ามพันธุ์ เป็นต้น |