การพัฒนาสมุนไพรในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะส่งเสริมการใช้สมุนไพร เพื่อเสริมสร้างการพึ่งตนเองในด้านยา ทั้งนี้เนื่องจากในแต่ละปี ประเทศไทยนำยาจากต่างประเทศเข้าเป็นมูลค่าสูงถึงกว่า ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นผลให้ ๑. ราคายาสูง จนผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถซื้อหายาบางชนิดได้ ราคายานี้นับวันจะสูงขึ้น เพราะไม่มีคู่แข่งภายในประเทศ ผู้ผลิตจึงสามารถตั้งราคาได้ตามใจชอบ และยังเป็นที่หวั่นเกรงกันว่า หากประเทศไทยรับรองสิทธิบัตรยา ราคายาจะยิ่งสูงขึ้นไปอีก ๒. สูญเสียเงินตราต่างประเทศปีละมากๆ ๓. เสี่ยงต่อภาวะการขาดแคลนยา หากถูกตัดขาดจากภายนอก เช่น ในภาวะสงคราม ๔. เกิดปัญหาการใช้ยาเกินความจำเป็น และเกิดอันตรายจากการใช้ยาผิดๆ เนื่องจากยาที่นำเข้าส่วนใหญ่เป็นยาสังเคราะห์ หรือสารบริสุทธิ์ มีรูปแบบที่น่าใช้ | |
ดอกซิงโคนา | |
นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับยาคือ ๑. การขาดความรู้เรื่องยา ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องยา จึงตกเป็นเหยื่อของการโฆษณา ก่อให้เกิดปัญหาสาธารณสุข ที่สำคัญตามมาคือ การใช้ยาผิด และอันตรายจากการใช้ยาผิด ซึ่งเกิดขึ้นปีละมากๆ เช่น ในกรณีของการใช้ยาแก้ปวด และสเตียรอยด์ เป็นต้น ๒. มูลค่าการส่งออกด้านการเกษตรลดลง เนื่องจากพืชผลหลักได้แก่ ข้าวและข้าวโพดมีราคาตกต่ำ และจากการที่มีคู่แข่งขันมาก ทำให้การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เมื่อประชากรมีรายได้น้อย กำลังซื้อยาก็น้อยลงด้วย | |
ร้านจำหน่ายยาสมุนไพร | |
หากปล่อยให้ภาวะการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป ย่อมมีผลกระทบอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศ รัฐจึงได้มองหาลู่ทาง ในการเสริมสร้างการพึ่งตนเองในด้านยาขึ้น วิถีทางหนึ่งคือ การพยายามใช้ทรัพยากรในประเทศให้มากที่สุด ซึ่งทรัพยากรในประเทศด้านยาที่สำคัญคือ "สมุนไพร" |