ส่วนหัว
เป็นที่ตั้งของหนวด ตา และปาก
หนวด เป็นอวัยวะรับความรู้สึกและสัมผัสโดยเฉพาะการดมกลิ่นแทนจมูก
ตา ผึ้งมีตาประกอบใหญ่ ๑ คู่ ช่วยให้มองเห็นได้ในระยะไกล และเป็นบริเวณกว้าง สามารถมองเห็นดอกไม้สีต่างๆ ได้ในระยะไกล ผึ้งมองเห็นสีต่างๆ ได้เกือบเหมือนคน นอกจากสีแดง ซึ่งผึ้งจะเห็นเป็นสีดำ ผึ้งตัวผู้มีตาใหญ่กว่าผึ้งงาน และผึ้งนางพญา
ปาก ของผึ้งเป็นแบบกัดดูด ประกอบด้วยอวัยวะเล็กๆ หลายส่วน คือ ปากบนมีกรามแข็งแรง ๑ คู่ ด้านข้างเป็นฟัน ตรงกลางเป็นงวงทำหน้าที่ดูดน้ำหวาน ปากของผึ้งตัวผู้ และนางพญาหดสั้นมาก เพราะไม่ได้ใช้งาน เนื่องจากผึ้งงานช่วยป้อนอาหารให้ผึ้งทั้งสองวรรณะ
ส่วนอก
เป็นส่วนรวมของกล้ามเนื้อ และเป็นที่ตั้งของขาและปีก
ขา มี ๓ คู่ ขาหลังมีอวัยวะพิเศษ สำหรับเก็บเกสรเรียกว่า ตะกร้าเก็บเกสร ผึ้งตัวผู้ และผึ้งนางพญาไม่มีอวัยวะนี้ เพราะไม่ต้องออกไปหาอาหาร
ปีก มี ๒ คู่ คู่แรกใหญ่กว่าคู่หลังเล็กน้อย ปีกคู่แรก และคู่หลังเกี่ยวกันด้วยตาขอเล็กๆ เรียงกันเป็นแถวเรียกว่า ฮามูไล (hamulai)
ส่วนท้อง
ของผึ้ง ประกอบด้วย ๖ ปล้อง ตัวผู้มี ๗ ปล้อง ที่ปลายท้องของผึ้งงาน และผึ้งนางพญามีเหล็กใน แต่ผึ้งตัวผู้ไม่มีเหล็กใน ด้านข้างแต่ละปล้องมีรูหายใจ ปล้องละ ๑ คู่
อวัยวะวางไข่ อยู่ที่ปล้องสุดท้ายในผึ้งงาน และผึ้งนางพญา บางส่วนของอวัยวะวางไข่จะดัดแปลงเป็นเหล็กใน มีลักษณะเป็นเข็มแหลม
รูหายใจ เป็นรูเปิดด้านข้างส่วนอกและท้อง มีทั้งหมด ๑๐ คู่ ๓ คู่แรกอยู่ที่ส่วนอก อีก ๗ คู่ อยู่ที่ส่วนท้อง รูหายใจจะปิดเปิดตลอดเวลา เพราะมันหายใจเข้าออกทางรูเหล่านี้ รูหายใจจะติดต่อกับท่อลม และถุงลม ผึ้งมีถุงลมใหญ่มากอยู่ภายในลำตัว ช่วยพยุงตัวขณะที่ผึ้งบิน ทำให้ผึ้งสามารถบินเร็ว และบินได้ไกลด้วย
ขนตามลำตัว ของผึ้งมีจำนวนมาก เป็นขนละเอียด มีเส้นประสาทรับความรู้สึก และรับสัมผัส เช่น ส่วนขนบริเวณหน้า ใช้รับความรู้สึก การเคลื่อนไหว และทิศทางลม ผึ้งมักจะบินทวนลมไปยังที่ตั้งของแหล่งอาหาร ขนที่ติดกับอกและท้องของผึ้ง สามารถรับความรู้สึกเกี่ยวกับแรงดึงดูดของโลก ทำให้สามารถบอกความสูงต่ำได้ในขณะที่บิน นอกจากนั้นขนยังรับสัมผัสการเคลื่อนไหวของศัตรู และรับสัมผัสอาหาร คือ เกสร และน้ำหวานจากพืชได้อีกด้วย