พฤติกรรมและภาษาผึ้ง พฤติกรรม คือ การแสดงออกในลักษณะท่าทาง เพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้า ผึ้งเป็นแมลงสังคม ที่มีพฤติกรรมแสดงออกมากกว่าแมลงอื่นๆ พฤติกรรมเหล่านี้ ได้แก่ ภาษาผึ้ง การผสมพันธุ์ การวางไข่ และการแยกรัง เป็นต้น |
ภาษาผึ้ง เป็นภาษาใบ้ชนิดหนึ่ง เป็นอาการที่แสดงออกของผึ้ง เพื่อใช้บอกแหล่งอาหารให้สมาชิกในรังทราบ และพากันบินไปหาอาหารนั้นทันที ภาษาผึ้งเป็นภาษาที่น่าสนใจ และน่าแปลกประหลาด "อะไรกัน ผึ้งเป็นแมลงตัวเล็กๆ มีภาษาด้วยหรือ?" คำถามนี้ได้นำไปสู่การค้นพบ โดยศาสตราจารย์ คาร์ล ฟอนฟริช แห่งประเทศเยอรมนี ผู้ได้เฝ้าดูผึ้งตัวน้อยๆ บอกภาษากัน ด้วยการเต้นรำ โดยศึกษาเรื่องนี้อยู่นานถึง ๔๐ ปี จึงสรุปและอธิบายแง่มุมต่างๆ ของภาษาผึ้งได้อย่างละเอียด ผลงานของเขาได้รับรางวัลสูงสุด คือรางวัลโนเบลในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ การเต้นรำบอกแหล่งอาหารของผึ้งมีอยู่ ๒ แบบ คือ การเต้นรำแบบวงกลม และการเต้นรำแบบส่ายท้อง การเต้นรำแบบวงกลม (ก) และเต้นรำแบบส่ายท้อง (ข) การเต้นรำแบบวงกลม (round dance) ผึ้งงานที่กลับมาจากสำรวจแหล่งอาหาร ในรัศมีไม่เกิน ๑๐๐ เมตร จะบินกลับรัง แล้วเต้นแบบวงกลมบนผนังของรวงรัง ในแนวตั้งฉากกับฐานรัง เพื่อบอกให้สมาชิกผึ้งงานด้วยกันทราบ ลักษณะของการเต้นแบบวงกลมนี้ จะเต้นวนอยู่หลายรอบนาน ๑/๒ การเต้นแบบส่ายท้อง (tail wagging dance) ผึ้งงานสำรวจที่พบแหล่งอาหารไกลกว่า ๑๐๐ เมตร จะบินกลับรัง และเริ่มเต้นแบบส่ายท้องบนผนังรวงรังทันที ลักษณะการเต้นแบบนี้ ท้องจะส่ายไปมา โดยผึ้งจะวิ่งเป็นเส้นตรงขึ้นก่อน แล้วหมุนวนรอบซ้ายและขวารอบละครึ่งวงกลม ทำองศาบนเส้นแบ่งครึ่งวงกลมกับแนวดิ่งของฐานรังนี้เอง จะบอกทิศทางระหว่างแหล่งอาหาร ที่ตั้งของรัง และดวงอาทิตย์ ผึ้งสำรวจจะเต้นแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก จำนวนรอบ และระยะเวลาในการเต้น จะเป็นตัวกำหนดระยะทางของแหล่งอาหารกับที่ตั้งของรัง ผึ้งสำรวจจะย้ายตำแหน่งการเต้นไปยังที่ต่างๆ บนรวงรัง ให้สมาชิกภายในรังทราบมากที่สุด แล้วจะหยุดเต้น ผึ้งงานที่ตอมอยู่รอบๆ จะพากันบินไปสู่แหล่งอาหารนั้นทันที ความรุนแรงของการเต้น เป็นสิ่งบ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร จำนวนรอบของการเต้นบอกระยะทางของแหล่งอาหาร ผึ้งงานจะสังเกตลักษณะของกลิ่นและชนิดของดอกไม้ได้จากเกสร ที่ติดมาบนตัวผึ้งสำรวจ เช่นเดียวกับการเต้นแบบวงกลม |
การผสมพันธุ์ คือ พฤติกรรมที่ผึ้งตัวผู้จะบินออกไปผสมพันธุ์กับผึ้งนางพญากลางอากาศ ผึ้งจะบินออกไปผสมพันธุ์ เมื่อมีอายุประมาณ ๓-๗ วัน ผึ้งตัวผู้บินออกไปเป็นกลุ่ม และชอบทำเสียงแหลม ซึ่งต่างจากผึ้งงาน เพราะความถี่ในการตีปีกต่างกัน ก่อนบิน มันจะกินน้ำผึ้ง ทำความสะอาดหนวดและตาของมัน จากนั้นก็บินออกไปรวมกลุ่มกันก่อน ยังบริเวณที่เรียกว่า "ที่รวมกลุ่มของผึ้งตัวผู้" ทันทีที่ได้กลิ่นจากผึ้งนางพญา ผึ้งตัวผู้จะรีบบินตามขึ้นไป ผึ้งตัวผู้ตัวแรก ที่บินไปถึงก่อน จะได้ผสมพันธุ์กับผึ้งนางพญา เมื่อผสมพันธุ์เสร็จแล้ว อวัยวะสืบพันธุ์จะขาดจากตัว ทำให้ผึ้งตัวผู้ตกลงมาตาย ผึ้งนางพญาจะสลัดอวัยวะสืบพันธุ์ของผึ้งตัวผู้ออก และทำการผสมกับผึ้งตัวผู้ตัวต่อไปจนครบ ๑๐ ตัว จึงจะบินกลับรัง โดยทั่วไปแล้ว ผึ้งนางพญาจะทำการผสมพันธุ์กับผึ้งตัวผู้จากรังอื่นๆ ที่ต่างสายเลือดกัน ผึ้งนางพญาจะเก็บน้ำเชื้อตัวผู้ไว้ได้ถึง ๕-๖ ล้านตัว (อสุจิ) เพื่อใช้ผสมกับไข่ไปจนตลอดชีวิต โดยไม่ต้องบินไปผสมกับผึ้งตัวผู้อีกเลย อะไร คือสิ่งที่ดึงดูดผึ้งตัวผู้ให้บินขึ้นไปหาผึ้งนางพญาได้อย่างถูกต้อง? คำตอบคือ สารเคมี หรือเฟอโรโมนของผึ้งนางพญา จะทำให้ผึ้งตัวผู้มีพฤติกรรมตอบสนองทางเพศ โดยบินเข้าหานางพญา สารนี้จะทำงานเฉพาะเมื่อมันอยู่ภายนอกรัง และอยู่สูงกว่าพื้นดินไม่น้อยกว่า ๑๕ ฟุต เท่านั้น เมื่อหมดฤดูผสมพันธุ์ อาหารหายาก ผึ้งงานจะกีดกันผึ้งตัวผู้จากการกินน้ำผึ้งที่เก็บไว้ และลากมันออกมานอกรัง ผึ้งตัวผู้จะอดตายในที่สุด บางครั้งผึ้งงานอาจดึงตัวอ่อนที่จะเจริญเป็นผึ้งตัวผู้ออกจากหลอดรวง และคาบออกนอกรังด้วย เมื่อเกิดขาดแคลนอาหารภายในรัง |
การวางไข่ เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นหลังจากการผสมพันธุ์ โดยผึ้งนางพญาจะเดินหาหลอดรวงที่ว่าง ที่ต้องการจะวางไข่ ผึ้งนางพญาใช้ส่วนหัว หนวด และขาหน้า สัมผัสตามหลอดรวงต่างๆ เป็นการวัดขนาดของหลอดรวง เมื่อพบแล้ว จะยื่นส่วนปลายท้องลงไปวางไข่ ปกติผึ้งนางพญาวางไข่ ๑ ฟองภายใน ๑ หลอดรวง ถ้าเป็นหลอดรวงใหญ่จะวางไข่ที่ไม่ได้รับการผสม ไข่นั้นจะเจริญเป็นผึ้งตัวผู้ แต่ถ้าเป็นหลอดรวงเล็ก จะวางไข่ที่ผสมด้วยอสุจิ ซึ่งจะเกิดเป็นเพศเมียคือ ผึ้งงานนั่นเอง ไข่ที่จะเกิดเป็นผึ้งนางพญา จะเป็นไข่ที่ได้รับการผสมเช่นกัน การวางไข่โดยมากจะเริ่มใน ๒-๓ วัน หลังจากผสมพันธุ์ และดำเนินต่อไปตลอดชีวิตที่เหลือ ยกเว้นช่วงที่ขาดแคลนเกสร ปกติผึ้งงานประจำรังจะให้อาหารนางพญาสม่ำเสมอ ในระยะวางไข่ และกำจัดของเสียของผึ้งนางพญา รวมทั้งเก็บไข่ที่หล่นนอกหลอดรวงโดยบังเอิญ ระยะต่าง ๆ ของการเจริญเติบโตของผึ้ง |
การแยกรัง เป็นเหตุการณ์ตามธรรมชาติที่ผึ้งจะสร้างรังใหม่ ผึ้งนางพญาที่แก่แล้ว มีโอกาสที่จะแยกรังมากกว่าผึ้งนางพญาที่มีอายุน้อย สัญญาณการแยกรังจะมีอย่างน้อย ๗-๑๐ วัน ก่อนแยกรัง โดยเริ่มแรก ผึ้งงานจะสร้างหลอดรวงนางพญาด้านล่างของรวง ในขณะเดียวกันตัวอ่อนจะมีปริมาณผึ้งตัวผู้มากขึ้น เมื่อใกล้ถึงฤดูแยกรัง ผึ้งนางพญาจะเพิ่มอัตราการวางไข่ เพื่อเพิ่มประชากรให้มากขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการหาอาหารมากขึ้น มีการรวบรวมน้ำหวาน และเกสร เกือบทุกหลอดรวงจะเต็มไปด้วยน้ำผึ้ง เกสร หรือตัวอ่อน เมื่อมีประชากรหนาแน่นขึ้นถึงจุดหนึ่ง จนไม่มีหลอดรวงว่างให้นางพญาวางไข่ ผึ้งงานจะป้อนอาหารให้กับผึ้งนางพญาน้อยลง ทำให้น้ำหนักตัวของนางพญาลดลง เมื่อนางพญาตัวใหม่ฟักตัวออกจากไข่ ช่วงนี้เอง ตัวอ่อนที่อยู่ในหลอดรวงปิดทั้งหมด จะไม่ต้องการอาหารเพิ่มอีก ดังนั้นจะมีผึ้งงานอายุน้อยจำนวนมากมายที่เกิดขึ้น และไม่มีงานทำ สภาพเหล่านี้จะเป็นสัญญาณให้มันเตรียมตัวก่อนแยกรัง ในขณะที่ผึ้งนางพญาตัวใหม่กำลังจะเกิดขึ้น ในวันที่อบอุ่นมีแสงแดดตามปกติระหว่าง ๑๐ โมงเช้า ถึง บ่าย ๒ โมง ผึ้งจำนวนมากจะรีบออกจากรัง พร้อมกับผึ้งนางพญาตัวเก่าที่มีน้ำหนักลดลง ประมาณร้อยละ ๓๐ มันจะบินตามผึ้งงานไป โดยถูกห้อมล้อมด้วยผึ้งงาน ผึ้งงานที่แยกไปส่วนใหญ่อายุมากกว่า ๒๐ วัน ผึ้งงานบางตัวจะหยุดใกล้รัง และปล่อยกลิ่นนำทาง ทำให้ผึ้งตัวอื่นๆ ที่บินไม่ทัน สามารถบินตามกันไปในทิศทางเดียวกัน รวมเป็นฝูง เพื่อไปหาที่ตั้งสร้างรังใหม่ต่อไป ในรังเดิมจะมีผึ้งนางพญาตัวใหม่เกิดขึ้น ปกครองผึ้งงานที่เหลืออยู่ต่อไป |