ลักษณะของหลอดรวง
รวงรังผึ้งเปรียบเสมือนบ้าน หลอดรวงต่างๆ คือ ห้องนั่นเอง ดังนั้นจึงมีไว้ เพื่อเป็นที่อาศัยของตัวอ่อน นางพญาจะวางไข่ลงที่ฐานหลอดรวง ต่อมาตัวอ่อน หรือตัวหนอนจะเจริญในหลอดรวงเข้าดักแด้ เมื่อลอกคราบสุดท้าย ตัวเต็มวัยผึ้งจะคลานออกมาจากหลอดรวง ในรวงรังผึ้งชนิดเดียวกัน จะมีหลอดรวงไม่เท่ากัน เพราะขนาดของผึ้งในแต่ละวรรณะไม่เท่ากัน เช่น หลอดรวงของผึ้งงานมีขนาดเล็กที่สุด ในรังผึ้งโพรงไทยหลอดรวงผึ้งงานกว้าง ๐.๑๘ นิ้ว ส่วนหลอดรวงผึ้งตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าคือ กว้าง ๐.๒๑ นิ้ว หลอดรวงของผึ้งนางพญามีลักษณะพิเศษ คือ หลอดรวงจะใหญ่ที่สุด เป็นหลอดยาวอยู่ทางด้านล่างของรวง ในลักษณะที่ห้อยหัวลง ผึ้งทุกวรรณะ เมื่อเป็นตัวเต็มวัยแล้ว จะไม่เข้าไปอยู่ในหลอดรวงอีก แต่จะอาศัยเกาะห้อมล้อมรอบๆ รวงรัง หลอดรวงตัวอ่อนนี้ อาจจะใช้สำหรับเก็บน้ำผึ้ง และเกสรได้ด้วย โดยเฉพาะในฤดูดอกไม้บาน ปกติหลอดรวงเก็บน้ำผึ้งจะอยู่บนสุด เราเรียกว่า หัวรวง หรือหัวน้ำผึ้ง ต่ำลงมาเป็นหลอดรวงเก็บเกสร และหลอดรวงตัวอ่อน
การสร้างหรือซ่อมแซมรัง เป็นหน้าที่ของผึ้งงาน โดยใช้ไขผึ้งจากต่อมไขผึ้ง ๔ คู่ ทางด้าน ล่างส่วนท้องของผึ้งงานที่มีอายุ ๑๒-๑๘ วัน ไขผึ้งจะถูกผลิตออกมาเป็นแผ่นๆ ในการสร้างหรือซ่อมแซมรัง ผึ้งงานจะเขี่ยแผ่นไขผึ้งออกมาจากท้อง แล้วเอามาเคี้ยวผสมกับน้ำลายให้อ่อนตัวลง แล้วจึงนำไปเชื่อมต่อๆ กัน เป็นหลอดรวงรูปหกเหลี่ยมหลายๆ อัน ก่อให้เกิดเป็นรวงรังขึ้น
แผนภาพแสดงลักษณะของหลอดรวง