เล่มที่ 15
การเลี้ยงผึ้งโพรงไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
หลอดผึ้งนางพญาที่จะนำไปติดในรังผสมพันธุ์ขนาดเล็ก
หลอดผึ้งนางพญา
ที่จะนำไปติดในรังผสมพันธุ์ขนาดเล็ก

การติดหลอดนางพญาในคอนเล็กเพื่อเตรียมการผสมพันธุ์
การติดหลอดนางพญาในคอนเล็ก
เพื่อเตรียมการผสมพันธุ์

การย้ายตัวอ่อนที่มีอายุ ๑ วัน ต้องทำอย่างระมัดระวังเพื่อป้องกันมิให้ตัวอ่อนบาดเจ็บ
การย้ายตัวอ่อนที่มีอายุ ๑ วัน ต้องทำอย่างระมัดระวังเพื่อป้องกันมิให้ตัวอ่อนบาดเจ็บ
ปัจจัยสำคัญซึ่งมีผลต่อการผลิตผึ้งนางพญา

            ๑. สภาพความแข็งแรงของรัง ที่ใช้สำหรับเลี้ยงตัวอ่อน ที่จะผลิตผึ้งนางพญา ถ้าหากมีความแข็งแรง และอุดมสมบูรณ์มาก อัตราการอยู่รอดสูงกว่ารังที่ไม่ค่อยแข็งแรง

            ๒. สภาพดินฟ้าอากาศเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญประการหนึ่ง คือ ถ้าหากอากาศไม่ปลอดโปร่งแจ่มใส ฝนตก ผึ้งงานจะไม่ค่อยยอมรับตัวหนอนที่ใส่ลงไป แต่ถ้าท้องฟ้าแจ่มใส มีแสงแดด ฝนไม่ตก ผึ้งงานจะยอมรับได้ง่าย ทำให้อัตราการอยู่รอดของตัวอ่อนมีมากกว่าในกรณีที่ดินฟ้าอากาศไม่ค่อยดี

            ๓. การบาดเจ็บของตัวหนอนขณะย้ายจากหลอดรวงไปใส่ในถ้วยนางพญา เนื่องจากการย้ายหนอนต้องใช้ไม้หรือโลหะ สำหรับตักตัวหนอนออกมา หากทำอย่างไม่ระมัดระวัง ก็มีโอกาสที่จะทำอันตรายกับตัวหนอนได้ง่าย ดังนั้นผู้ที่ฝึกทำในระยะแรก ควรตรวจดูผลของการย้ายตัวหนอนก่อน โดยใช้กล้องจุลทรรศน์แบบสเตอริโอ (กล้องสองตา)

            ๔. ระยะเวลาในการที่ตัวหนอนอยู่นอกรัง ควรใช้เวลาน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ในการย้ายตัวหนอน แล้วรีบเอาคอนถ้วยนางพญากลับคืนรังทันที เพราะสภาพแวดล้อมแตกต่างจากภายในรังผึ้ง ถ้าหากใช้เวลานาน อาจทำให้ตัวหนอนตายได้ง่าย

            ๕. การแยกหลอด และการขนย้ายหลอดผึ้งนางพญา ไม่ควรทำในขณะที่ผึ้งมีอายุน้อยๆ เพราะโอกาสที่จะกระทบกระเทือนมีค่อนข้างสูง และต้องกระทำอย่างนุ่มนวลที่สุด

            ๖. เมื่อผึ้งนางพญาที่อยู่ในรังผสมพันธุ์ แล้วเริ่มวางไข่อย่างสม่ำเสมอ และแน่ใจว่า ผึ้งรุ่นลูกที่ออกมาเป็นผึ้งงานแล้ว จึงเริ่มแยกรัง โดยนำผึ้งนางพญาตัวใหม่นี้ ไปใส่ในรังที่ขาดผึ้งนางพญาที่เตรียมไว้ได้ทันที ในกรณีเปลี่ยนนางพญาที่มีอายุมากที่เราไม่ต้องการ ให้จับนางพญาตัวที่ไม่ต้องการออก และใส่นางพญาตัวใหม่ที่อยู่ในกรงขนาดเล็กลงไป โดยแขวนไว้ระหว่างคอนผึ้ง ๑ - ๒ วัน จนกว่าผึ้งงานจะยอมรับเลี้ยงดูนางพญาตัวใหม่ ก่อนที่จะเปิดกรงขนาดเล็ก ให้นางพญาตัวใหม่ออกมา

            ความสำเร็จในการผลิตผึ้งนางพญา ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญ คือ การฝึกตนเองให้เกิดความชำนาญ พร้อมทั้งการสังเกตธรรมชาติ ความพร้อมของรังผึ้ง และอาหารของผึ้ง ถ้าหากเราสามารถปฏิบัติได้ตามนี้ เราก็จะมีผึ้งนางพญา ที่มีคุณภาพดีเป็นจำนวนมากได้ตามต้องการ การขยายกิจการในการเลี้ยงผึ้ง ก็จะสามารถดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว

            การเลี้ยงผึ้งโพรงในประเทศไทย สามารถนำเทคโนโลยีในการเลี้ยงผึ้งสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ และสามารถเลี้ยงในหีบเลี้ยงมาตรฐาน เช่น การใช้แผ่นรังเทียม การเพาะนางพญา การผสมเทียมผึ้งนางพญา การคัดเลือกพันธุ์ เพื่อให้ได้พันธุ์ผึ้งที่ไม่ดุ หาอาหารเก่ง ไม่หนีรังง่าย ซึ่งต่อไปในอนาคต ผึ้งโพรงอาจสามารถให้ผลิตผลที่ใกล้เคียงกับผึ้งพันธุ์ต่างประเทศได้ อันจะส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตน้ำผึ้งในประเทศไทยลดลง