เล่มที่ 15
ยาสูบ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ใบยาเบอร์เลย์

            การเก็บใบยา ๒-๓ ครั้งแรก ดำเนินการเช่นเดียวกับใบยาเวอร์ยิเนีย ทั้งการเสียบใบ การมัดกับไม้ราวยา และนำเข้าวางในโรงบ่ม หลังจากนั้นปล่อยให้ใบยาส่วนที่เหลือในไร่แก่สุก โดยสังเกตใบยาล่างสุดมีสีเหลือง ปลายใบ และขอบมีสีน้ำตาล และเริ่มแห้ง ใบยายอดเริ่มมีสีเหลือง จึงตัดโคนต้น แล้วเสียบด้วยไม้ราวยาไม้ละ ๕-๖ ต้น ทิ้งไว้ในไร่ ๑-๒ วัน (ถ้าอากาศร้อนจัด ให้นำไปแขวนในร่ม) เพื่อให้ใบยาเหี่ยวและอ่อนตัว จึงนำเข้าไปวางบนชั้นในโรงบ่มเช่นเดียวกับการเก็บใบครั้งแรกๆ โดยให้ส่วนยอดชี้ลง ขนาดของโรงบ่มควรให้มีความสูงไม่น้อยกว่า ๕ เมตร เช่น กว้าง ๘.๕ เมตร ยาว ๑๕ เมตร สูง ๕ เมตร

            การบ่มใบยาเบอร์เลย์เป็นการบ่มอากาศ คือ การทำให้ใบยาค่อยๆ แห้งภายในโรงบ่ม ด้วยอุณหภูมิธรรมชาติ แต่ควบคุมความชื้นภายในโรงบ่ม ด้วยการปิดเปิดช่องระบายอากาศ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีในใบยา ซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ ระยะ คือ

๑. ระยะทำสีเหลือง

            เป็นระยะแรกที่ต้องการให้ใบยาเหี่ยวตัวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง จะใช้เวลาประมาณ ๔-๕ วัน

๒. ระยะทำสีน้ำตาล

            ลักษณะใบยาจากสีเหลืองจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอย่างช้าๆ เนื้อใบยาค่อยๆ แห้งไปด้วย จะใช้เวลาประมาณ ๑๐-๑๒ วัน

๓. ระยะสุดท้าย เป็นการทำแห้ง ระยะนี้จะเหลือความชื้นเพียงที่ก้านใบเท่านั้น จึงควรเปิดช่องระบายอากาศให้เต็มที่ จะใช้เวลาประมาณ ๑๘-๒๐ วัน

ลักษณะของดอกยาสูบ