การเพาะกล้ายาสูบ
การเพาะกล้า
งานอันดับแรกของการทำไร่ยาสูบ คือ การเพาะกล้ายาสูบ ต้นยาสูบในไร่จะเจริญเติบโตดี ต้องมาจากต้นกล้าที่สมบูรณ์ แข็งแรง เมื่อนำไปปลูกแล้ว ต้นกล้าตายน้อยที่สุด หรือไม่ตายเลย ถ้าต้นกล้าตายหลังจากปลูก ๗-๑๐ วัน ควรจะมีการปลูกซ่อมกล้า และไม่ควรจะปลูกซ่อมบ่อยๆ เพราะการซ่อมกล้าเพียงร้อยละ ๑๐ จะทำให้คุณภาพลดลงได้ถึงร้อยละ ๕ ทั้งนี้เนื่องจากการเก็บใบยาสูบไปบ่ม ผู้เก็บมักจะเก็บทุกต้นเหมือนกันหมด ทำให้มีใบยาที่ไม่สุกติดเข้าไปบ่มด้วย ทำให้คุณภาพใบยาลดลง
การที่จะผลิตต้นกล้าให้มีความสมบูรณ์ และแข็งแรง จะต้องมีการเตรียมและทำแปลงเพาะกล้าที่ดีมาก่อน นับตั้งแต่การเลือกที่ดิน ควรเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ มีการระบายน้ำดี ถ้าเป็นดินบุกเบิกใหม่ยิ่งดี หลังจากเตรียมดินยกเป็นแปลง (กว้าง ๑ เมตร ยาว ๑๑ เมตร) แล้วคลุมด้วยผ้าพลาสติก และรมด้วยก๊าซเมทิลโบรไมด์ นานประมาณ ๒๔-๔๘ ชั่วโมง เพื่อกำจัดโรคแมลง และวัชพืชในดิน เมื่อเปิดผ้าพลาสติกออกแล้ว ผึ่งดินทิ้งไว้ ๑๒-๒๔ ชั่วโมง ใส่ปุ๋ยรองพื้นสูตร ๔-๑๖-๒๔ ในอัตรา ๒-๔ กิโลกรัมต่อแปลง และใส่ยาฟูราดาน ๓ จี เพื่อป้องกันโรคใบหดในอัตรา ๒๕๐-๓๐๐ กรัมต่อแปลง แล้วกลับปุ๋ยและยาให้อยู่ลึกจากผิวดินประมาณ ๑-๒ นิ้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดยาสูบที่หว่าน ได้รับอันตรายจากปุ๋ยและยา
แปลงเพาะกล้ายาสูบ
การหว่านเมล็ด
เนื่องจากเป็นเมล็ดที่มีขนาดเล็กมาก (เมล็ดยาสูบ ๑ กรัม มีจำนวนประมาณ ๑๐,๐๐๐-๑๒,๐๐๐ เมล็ด) จึงควรนำเมล็ดผสมขี้เถ้าในการหว่าน เพื่อให้กระจายทั่วแปลง หรือใส่เมล็ดลงในบัวรดน้ำ คนเมล็ดให้กระจายเข้ากับน้ำจนทั่ว แล้วรดให้ทั่วแปลง โดยใช้เมล็ดแปลงละ ๑.๐-๑.๕ กรัม รดน้ำให้ชุ่ม แล้วคลุมแปลงเพาะด้วยผ้าดิบ เพื่อป้องกันแสงแดดในเวลากลางวัน และลดแรงกระแทกของน้ำฝน ในฤดูฝน ถ้าเป็นฤดูแล้งอาจใช้แกลบคลุมได้
เปิดผ้าพลาสติกออกผึ่งดินทิ้งไว้ก่อนการหว่านเมล็ด
การรดน้ำ
รดน้ำวันละ ๔ ครั้ง จนกว่าเมล็ดจะงอก จึงค่อยๆ ลดลงเหลือวันละ ๒-๓ ครั้ง การพ่นยาป้องกันโรคและแมลง จะต้องทำทุกสัปดาห์ หลังจากเมล็ดงอกแล้ว โรคที่สำคัญในแปลงเพาะได้แก่ โรคโคนเน่า และโรคแอนแทรกโนส สำหรับแมลงได้แก่ หนอน และแมลงหวี่ขาว เมื่อกล้ายาสูบมีอายุ ๓๕-๔๕ วัน จึงถอนย้ายไปปลูกในไร่
ชาวไร่กำลังให้น้ำต้นยาสูบ