เล่มที่ 15
ยาสูบ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การจัดชั้นใบยา

            ใบยาที่บ่มเสร็จเรียบร้อยแล้ว (เวอร์ยิเนีย และเบอร์เลย์) จะต้องนำมาคัดเป็นใบๆ เพื่อกำหนดชั้นมาตรฐานให้ถูกต้อง สำหรับการซื้อขาย แล้วรวมมัดใบยาชั้นเดียวกันเข้าด้วยกันเป็นกำๆ และมัดหัวกำ ด้วยใบยาอีกทีหนึ่ง นำใบยาชั้นเดียวกันมาอัดรวมเป็นห่อ โดยใช้เครื่องอัดใบยา ซึ่งทำขึ้นโดยเฉพาะ ใบยาแต่ละห่อหนักประมาณ ๖๐-๗๐ กิโลกรัม แล้วห่อหุ้มด้วยกระสอบป่าน

            สำหรับใบยาเตอร์กิช ได้คัดและแยกใบยาเป็นพวกๆ ตามขนาดและคุณภาพ ตั้งแต่หลังจากเก็บใบยาสดแล้ว และนำมาร้อยด้วยเชือกแยกเป็นพวกๆ หลังจากนั้นจึงนำใบยาที่แห้งและกองหมักได้ที่แล้ว มาอัดเป็นห่อๆ ได้เลย ห่อหนึ่งๆ หนักประมาณ ๑๕-๒๐ กิโลกรัม

การคัดแยกใบยาเวอร์ยิเนียที่บ่มเรียบร้อยแล้ว

การมัดยาเป็นกำๆ โดยมัดใบยาชั้นเดียวกันเข้าด้วยกัน

ใบยาเวอร์ยิเนีย

            การจัดชั้นใบยาได้อาศัยหลักมาตรฐานการจัดชั้นใบยาเวอร์ยิเนียอเมริกัน ซึ่งประกอบด้วย หมู่ คุณภาพ และสี ดังนี้

            หมู่ การจัดใบยาสูบให้อยู่ในหมู่ใดนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะบางประการ ที่มีส่วนสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับตำแหน่งของใบบนลำต้น

            คุณภาพ การจัดใบยาสูบให้อยู่ในระดับคุณภาพใดนั้น ขึ้นอยู่กับระดับสูงต่ำขององค์ประกอบหลายอย่าง เช่น ขนาดของใบยากว้างยาว ตำหนิ และส่วนเสีย เป็นต้น

            สี สีเป็นองค์ประกอบที่จะระบุคุณค่าของใบยา ใบยาแต่ละสีจะมีกลิ่นและรสแตกต่าง

ไร่ยาสูบเบอร์เลย์

การตากแดดยาเส้นที่หั่นแล้ว

ใบยาเบอร์เลย์

            การจัดชั้นใบยาได้อาศัยหลักมาตรฐานการจัดชั้นใบยาเบอร์เลย์อเมริกา เช่นเดียวกัน ซึ่งประกอบด้วย หมู่ คุณภาพและสี

ใบยาเตอร์กิช

            การจัดชั้นใบยาได้อาศัยหลักแนวทางเดียวกับการจัดชั้นใบยาเวอร์ยิเนีย และเบอร์เลย์ของไทย แต่ใช้เพียงอักษร ๑ ตัว และตัวเลข ๑ ตัว โดยที่ตำแหน่งของใบบนลำต้น เป็นตัวกำหนดขนาดของใบยาไปด้วย เช่น ใบยายอด จะมีขนาดของใบกว้างเกิน ๗ เซนติเมตร และยาวเกิน ๑๑ เซนติเมตรไม่ได้ ใบยาล่างจะมีขนาดของใบกว้างเกิน ๑๓ เซนติเมตร และยาวเกิน ๑๗ เซนติเมตรไม่ได้ ทั้งนี้เนื่องจากคุณภาพของใบยาเตอร์กิช จะดีที่สุดจากใบยายอดลงมาถึงใบยาล่าง ตามลำดับ ใบยาขนาดเล็กคือ ใบยายอด จะมีคุณภาพดีกว่าใบยาขนาดใหญ่คือ ใบยาล่าง

ใบยาพื้นเมืองส่วนยอด

ยาพื้นเมือง

            การจัดชั้นคุณภาพยาเส้นพื้นเมือง ยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่แน่นอน อาจจะเป็นเพราะยังมีปริมาณการผลิตที่ไม่มากพอ (ในปีหนึ่งๆ ยาเส้นพื้นเมืองที่ผลิตในจังหวัดกาญจนบุรี และสุพรรณบุรี มีประมาณหนึ่งล้านกิโลกรัม) หรือยังไม่มีหน่วยงานใดที่ส่งเสริมการเพาะปลูก และรับผิดชอบโดยตรง

            การซื้อขายยาเส้นพื้นเมืองจึงเป็นการตกลง ตามความพอใจระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ซึ่งผู้ซื้อ จะมีความชำนาญในการดูคุณภาพยาเส้นพอสมควร

            ขณะนี้ยาเส้นคุณภาพอย่างดี ราคากิโลกรัม ละ ๙๐-๑๒๐ บาท