ถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์ของไม้สัก
ไม้สักเป็นไม้ป่าเขตร้อน มีแหล่งธรรมชาติจำกัดอยู่เฉพาะในประเทศอินเดีย พม่า ไทย (เฉพาะในภาคเหนือ) ลาว (เฉพาะส่วนที่ติดต่อกับภาคเหนือของไทย) และอินโดนีเซีย (ในภาคกลาง และภาคตะวันออกของเกาะชวา) เท่านั้น แหล่งไม้สักธรรมชาติดังกล่าว นับว่าจะหมดสิ้นไป ราคาไม้สักในตลาดโลกจึงนับวันมีแต่จะสูงขึ้นมาก เมื่อเปรียบเทียบกับไม้ชนิดอื่นๆ ดังนั้นจึงได้มีการนำไปปลูกนอกถิ่นกำเนิดในประเทศต่างๆ ที่อยู่ในภูมิภาคเขตร้อนของทวีปเอเชีย แอฟริกา อเมริกากลาง อเมริกาใต้ และบางเกาะของออสเตรเลีย
แสดงการกระจายพันธุ์ไม้สักของโลก (อินเดีย, พม่า, ไทย, ลาว และอินโดนีเซีย)
สำหรับประเทศไทย ไม้สักขึ้นอยู่ตามธรรมชาติเฉพาะในตอนเหนือของประเทศ ในแถบลุ่มแม่น้ำกก สาละวิน ปิง วัง ยม และน่าน ได้แก่ ในจังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน น่าน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี และต่อมาถึงบางส่วนในแถบตะวันตกของจังหวัดกาญจนบุรี ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๑๗๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร มีแหล่งไม้สักสำคัญอยู่ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน
แผนที่แสดงพื้นที่แหล่งปลูกไม้สักในประเทศไทย
ป่าไม้สักโดยทั่วไป เป็นป่าผสมผลัดใบ หรือที่เรียกกันว่า ป่าเบญจพรรณ ผลัดใบในฤดูแล้ง พรรณไม้มีค่าที่สำคัญนอกเหนือจากไม้สักแล้ว มีไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้มะค่า ไม้ตะแบก ไม้ไผ่ชนิดต่างๆ ฯลฯ ไม้สักเจริญเติบโตได้ดีในสภาพพื้นที่ที่มีความชุ่มชื้นสูง ดินลึก ระบายน้ำดี และมีสภาพที่เป็นกลางหรือด่างเล็กน้อย โดยมีค่าของความเป็นกรด-เบส (pH) ระหว่าง ๖.๕-๗.๕ ปริมาณน้ำฝนที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต และคุณภาพเนื้อไม้ อยู่ระหว่าง ๑,๐๐๐-๑,๕๐๐ มิลลิเมตรต่อปี และมีฤดูแล้งสลับกับฤดูฝน เพื่อที่เนื้อไม้จะได้มีลวดลายของวงปีชัดเจน ระดับความสูงของพื้นที่ไม่เกิน ๗๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล
เนื่องจากได้มีการทำไม้สักออกจากป่า เพื่อหารายได้ให้แก่ประเทศอย่างต่อเนื่อง มาเป็นเวลานานกว่าศตวรรษ และจำนวนประชากรในประเทศได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในรอบ ๒๐ ปีที่ผ่านมา ทำให้ป่าสักธรรมชาติทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้พื้นที่ป่าสักก็ถูกบุกรุกทำลาย เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย และทำกิน อย่างกว้างขวาง พื้นที่ป่าสักธรรมชาติที่มีอยู่ จึงลดลงอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบันพื้นที่ป่าสักในประเทศไทยเหลืออยู่ไม่เกิน ๒๕,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ประเทศไทยครั้งหนึ่งได้ชื่อว่า เป็นผู้ผลิตและส่งออกไม้สักรายใหญ่ของโลก บัดนี้ได้ลดปริมาณการผลิตไม้สักลงอย่างมาก จนไม่พอ แม้แต่ที่จะนำมาใช้สอยภายในประเทศ และได้เริ่มมีการนำเข้าไม้สักจากต่างประเทศ