เล่มที่ 15
ไม้สัก
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การปลูกสร้างสวนป่าไม้สัก

            การปลูกสร้างสวนป่าไม้สักในประเทศไทยได้เริ่มทดลองครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ในท้องที่ป่าแม่ปาน อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ โดยนำวิธีการปลูกสร้างสวนสักในพม่ามาใช้ การปลูกสร้างสวนป่าไม้สัก เพื่อการทดลอง ได้ดำเนินการต่อมาอีกในท้องที่ต่างๆ ทั่วภาคเหนือของประเทศ จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๔๘๔ กรมป่าไม้จึงได้วางแผน และปลูกสร้างสวนป่าไม้สักอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมาย เพื่อที่จะผลิตไม้สักทดแทนป่าธรรมชาติ ที่อาจหมดสิ้นไปได้ในอนาคต และปลูกสวนตัวอย่างขึ้น ในท้องที่อำเภองาว จังหวัดลำปาง (สวนป่าแม่หวด) และในท้องที่อำเภอลอง จังหวัดแพร่ (สวนป่าแม่ต้า) ซึ่งเป็นแหล่งไม้สักชั้นดีของประเทศ ต่อมาการปลูกสร้างสวนป่าไม้สัก ได้รับการกำหนดเป็นนโยบายหนึ่งของประเทศ โดยกำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นับตั้งแต่ฉบับที่ ๑ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นต้นมา

            ปัจจุบัน มีหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน เช่น กรมป่าไม้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ บริษัทไม้อัดไทย และหน่วยงานเอกชนต่างๆ ได้ดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าไม้สักอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือของประเทศ ทำให้สวนป่าไม้สักในปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๓๐) มีพื้นที่ถึง ๑,๐๑๕,๘๕๐ ไร่ มีวัตถุประสงค์ที่จะผลิตไม้สักออกใช้ได้อย่างเต็มที่ เมื่ออายุระหว่าง ๓๐-๖๐ ปี หลังจากปลูก และคาดว่า จะสามารถผลิตไม้ได้ประมาณ ๓๐-๔๐ ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ เมื่ถึงระยะเวลาตัดฟัน

ต้นสัก (ลำต้นใหญ่) เกิดจากการแตกหน่อหลังจากต้นเดิมถูกตัดฟัน