เล่มที่ 15
น้ำเสีย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

น้ำมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ สัตว์ และพืช มนุษย์เราใช้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค การประมง การเกษตร การคมนาคม และการผลิตพลังงานไฟฟ้า แหล่งน้ำโดยทั่วไป ได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติ ๓ แหล่งใหญ่ คือ น้ำฝน น้ำผิวดิน และน้ำใต้ดิน การเกิดของแหล่งน้ำเหล่านี้ ศึกษาได้จากวัฎจักรของอุทกวิทยา

วัฎจักรของอุทกวิทยา

            วัฎจักรของอุทกวิทยา (hydrological cycle) คือ กระบวนการต่างๆ อันได้แก่ การเกิดน้ำจากฟ้า (precipitation) การซึมของน้ำลงดิน (infiltration) การระเหย และการคายน้ำของพืช (evapo- transpiration) และการเกิดน้ำท่า (run off) กระบวนการเหล่านี้ประกอบกันเป็น "วัฎจักรของอุทกวิทยา" น้ำจะหมุนเวียนอยู่ในวัฎจักร โดยปรากฏอยู่ในรูปแบบ และสถานะต่างๆ กัน วัฎจักรของอุทกวิทยาไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีจุดสิ้นสุด เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย เราอาจกำหนดให้วัฎจักรของอุทกวิทยา เริ่มต้นที่การระเหยของน้ำจากทะเล และแหล่งอื่นๆ บนพื้นโลก ไอน้ำเหล่านี้ เมื่อลอยสู่เบื้องบนจะเย็นตัวลง และภายใต้สภาวะที่เหมาะสม ก็จะกลั่นตัวเป็นละอองน้ำที่เห็นเป็นเมฆ ละอองน้ำนี้จะรวมตัวจนมีขนาดใหญ่ขึ้น แล้วตกลงมา เป็นน้ำจากฟ้า ซึ่งอาจมีรูปแบบแตกต่างกันไปตามสภาพทางอุตุนิยมวิทยา เมื่อฝนตกลงสู่พื้นดิน น้ำบางส่วนจะค้างอยู่ตามใบและลำต้นของพืช บางส่วนจะขังอยู่ตามแอ่งน้ำ หรือที่ลุ่ม น้ำเหล่านี้ อาจกลับคืนสู่บรรยากาศ โดยการระเหยจากแหล่งน้ำ หรือการคายน้ำของพืช นอกจากนี้ น้ำบางส่วนอาจซึมลึกลงไปในดิน ไปรวมกันเป็นแหล่งน้ำใต้ดิน ส่วนที่เหลือจะไหลอยู่บนผิวดินในรูปของน้ำท่า (surface run off) กลายเป็นแหล่งน้ำผิวดิน เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ในที่สุดทั้งน้ำใต้ดิน และน้ำผิวดินก็จะไหลลงสู่ทะเล และมหาสมุทร แล้วระเหยกลับขึ้นไปสู่บรรยากาศอีกครบวงจรตาม วัฎจักร

วัฎจักรอุทกวิทยา
วัฎจักรอุทกวิทยา