เล่มที่ 15
น้ำเสีย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
กิจกรรมต่าง ๆ เช่น ซักผ้า หรือ ล้างจานก็มีส่วนเพิ่มภาวะมลพิษให้แก่แหล่งน้ำ
กิจกรรมต่างๆ เช่น ซักผ้า หรือ ล้างจานก็มีส่วนเพิ่มภาวะมลพิษให้แก่แหล่งน้ำ

น้ำที่ชะล้างบริเวณที่เกิดไฟป่า จะมีขยะและสารมลพิษปะปนทำให้น้ำตื้นเขินหรือส่งผลเสียต่อคุณภาพของน้ำ

น้ำที่ชะล้างบริเวณที่เกิดไฟป่า จะมีขยะและสารมลพิษปะปนทำให้น้ำตื้นเขินหรือส่งผลเสียต่อคุณภาพของน้ำ

สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหามลภาวะแก่ แม่น้ำลำคลอง

ได้แก่

๑. น้ำเสียจากบ้าน ร้านค้า และอาคารที่ทำการ

            ชุมชนที่มีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยหลายๆ หลังคาเรือน ย่านการค้า หรืออาคารที่ทำการ ล้วนจำเป็นต้องใช้น้ำ เพื่อการอุปโภค บริโภค และใช้สอยในจุดประสงค์อื่นๆ น้ำที่ใช้นี้ จะมีปริมาณหนึ่ง ซึ่งเป็นปริมาณส่วนใหญ่ กลายเป็นน้ำทิ้งออกมา น้ำทิ้งนี้ ส่วนมากจะเป็นน้ำจากส้วม และจากการชำระซักล้าง ซึ่งประกอบไปด้วย สารอินทรีย์ สบู่ ผงซักฟอก เศษอาหาร ไขมัน สารอนินทรีย์ และสิ่งปฎิกุลอื่นๆ เจือปนอยู่ สารเหล่านี้ เมื่อไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง จะเกิดผลเสียสองประการใหญ่ๆ คือ ประการแรก ช่วยเพิ่มอาหารเสริมแก่พืชน้ำ และสัตว์น้ำ ทำให้มีพืชน้ำ และสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น เมื่อพืชน้ำ และสัตว์น้ำตายไป จะทำให้เกิดสารอินทรีย์ในน้ำเพิ่มขึ้น สารอินทรีย์ที่มีจากน้ำทิ้ง และที่เกิดเพิ่มขึ้นนี้ ถ้ามีจำนวนมาก เมื่อถูกย่อยสลาย โดยแอโรบิคบัคเตรี ที่มีอยู่ในน้ำ ก็จะนำเอาออกซิเจนละลายในน้ำมาใช้ ในอัตราที่สูงกว่าอัตราที่ออกซิเจนในอากาศละลายลงในน้ำ ทำให้เกิดสภาพขาดออกซิเจนขึ้น อันเป็นสภาวะแวดล้อม ที่เหมาะกับแอนแอโรบิคบัคเตรีให้ย่อยสลายสารอินทรีย์ต่อไป ทำให้น้ำกลายเป็นสีดำ มีกลิ่นเหม็น ส่วนสารอื่นๆ ที่ปนมา เช่น สารอนินทรีย์จะเพิ่มปริมาณสูงขึ้น ทำให้คุณภาพน้ำทิ้งไม่ได้มาตรฐาน และเสียประโยชน์ใช้สอยไป นอกจากนี้ถ้าน้ำทิ้งมีเชื้อโรคชนิดต่างๆ ที่เป็นอันตราย เช่น บัคเตรี และไวรัส ก็จะทำให้เกิดโรคได้

๒. น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม

            น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ได้แก่ น้ำทิ้งจากระบบการผลิตระบบการหล่อเย็น อาคารที่อยู่อาศัย และที่ทำการ ร้านค้า และโรงอาหาร สารที่ปะปนมา อาจจะเป็นสารอินทรีย์ สารอนินทรีย์ กรดด่าง โลหะหนัก สารเคมีต่างๆ สารกัมมันตภาพรังสี สารพิษ ดินทราย และสิ่งปฎิกูลอื่นๆ ซึ่งเมื่อทิ้งลงในแม่น้ำลำคลอง จะทำให้เพิ่มปริมาณสารเหล่านั้น หรือเกิดการเป็นพิษกับสิ่งมีชีวิตในน้ำ เกิดการเน่าเหม็น เกิดสี กลิ่น และความไม่น่าดู

๓. ปุ๋ยที่ใช้ในการเกษตร

            ปุ๋ยหลักที่ใช้ในการเกษตร ได้แก่ สารไนโตรเจน และฟอสฟอรัส ฟอสฟอรัสที่อยู่ในรูปของฟอสเฟต สามารถยึดติดอยู่กับดินได้ จึงมีส่วนน้อยที่ไหลไปกับน้ำ ดังนั้นสารที่ทำให้เกิดปัญหาคือ ไนโตรเจน การใช้ปุ๋ย ส่วนใหญ่มักใส่กันมากเกินกว่าที่พืชจะนำไปใช้ได้หมด เมื่อฝนตก น้ำฝนจะชะเอาไนโตรเจนไหลไปตามผิวดิน ลงสู่แม่น้ำลำคลอง ช่วยให้สาหร่ายเจริญเติบโตได้ดีเป็นจำนวนมาก ทำให้น้ำเกิดสี กลิ่น และรส เมื่อสาหร่ายเหล่านี้ตายลง ก็จะทำให้น้ำเน่าเหม็น และมีฟีนอลสูงขึ้น เกิดฝ้าขาวลอยอยู่ตามผิวน้ำ

๔. ผิวดินที่พังทลาย

            ในพื้นที่รับน้ำบางแห่ง เช่น อ่างเก็บน้ำที่เสื่อมสภาพ และมีการพังทลายของหน้าดิน จะทำให้น้ำมีความขุ่นสูง เกิดสี กลิ่น และรสได้

๕. การเลี้ยงปศุสัตว์

            การเลี้ยงปศุสัตว์ ถ้าเลี้ยงกินหญ้าที่คลุมหน้าดินมากเกินไป จะทำให้หน้าดินถูกน้ำกัดเซาะ เมื่อฝนตก และเมื่อไหลลงในแหล่งรับน้ำ ก็จะเกิดปัญหาเช่นเดียวกับข้อ ๔ นอกจากนี้ มูลสัตว์ก็จะไหลลงไปในลำน้ำ ทำให้มีสารอินทรีย์ไนโตรเจน และฟอสฟอรัสสูง เกิดปัญหาเช่นเดียวกับข้อ ๑ และ ๓

๖. ยาฆ่าแมลงและยากำจัดวัชพืช

            ยาฆ่าแมลงและยากำจัดวัชพืช ส่วนมากเป็นสารเคมี ที่บางครั้งก็เป็นสารมีพิษ เมื่อถูกชะล้างลงไปในน้ำ ก็จะเป็นพิษแก่พืชและสัตว์ที่อยู่ในน้ำ หากเรานำน้ำไปใช้ ก็จะได้รับอันตรายจากสารพิษนั้นด้วย

๗. ไฟป่า

            ถ้าเกิดไฟป่าในบริเวณพื้นที่ที่เป็นแหล่งต้นกำเนิดน้ำ จะทำให้มีขยะ เถ้าถ่าน ตะกอนทราย รวมทั้งสารมลพิษต่างๆ ไหลลงไปในแหล่งน้ำ เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลเสียต่อคุณภาพของน้ำที่นำไปใช้สอย อีกทั้งอาจจะทำให้อ่างเก็บน้ำ หรือแม่น้ำตื้นเขิน เนื่องจากการสะสมของเถ้าถ่าน และตะกอนต่างๆ  

๘. การใช้ที่ดินที่ขาดการควบคุม

            การใช้ที่ดินสองข้าง หรือรอบๆ แหล่งน้ำ ที่ขาดการควบคุม หรือการกำหนด จะทำให้เกิดผลเสียต่อคุณภาพของน้ำได้  ดังนั้น จึงควรกำหนดเขต หรือห้ามการขยายชุมชน หรือการตั้งโรงงาน ตามริมน้ำที่นำน้ำไปใช้ประโยชน์ในการทำประปา