รูปทรงจารึก
ศิลาจารึกเป็นเอกสารโบราณที่มีรูปทรง และขนาดแตกต่างกันหลายอย่าง เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ยาวบ้าง สั้นบ้าง ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน นอกจากนั้นยังมีอายุนานนับร้อยปีขึ้นไป บางชิ้นมีอายุนานกว่าพันปีก็มี จึงย่อมจะมีสภาพชำรุดสึกกร่อนไปได้ แม้ว่าวัตถุที่ใช้จารึก จะแข็งแกร่งคงทนที่สุดก็ตาม ลักษณะการชำรุดของจารึกนั้น เป็นไปได้ ทั้งโดยธรรมชาติ และฝีมือมนุษย์
รูปทรงจารึกเมื่อแรกสร้าง จะมีรูปร่าง และขนาดตามวัตถุประสงค์ ความรู้ และความชำนาญของผู้สร้าง ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับสถานที่ ซึ่งจะใช้จารึก ถ้าผู้สร้างจารึกมีวัตถุประสงค์ หรือมีความตั้งใจที่จะปักจารึกไว้ตามสถานที่ต่างๆ ไว้ให้คนทั่วๆ ไป ได้เห็น จะนิยมทำเป็น รูปเสมา เสาแปดเหลี่ยม และเสาสี่เหลี่ยม เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีจารึกที่อยู่กับส่วนต่างๆ ของ อาคาร ศาสนสถาน เช่น ผนังช่องประตู เป็นต้น และจารึกตามสถานที่ธรรมชาติ เช่น ผนังถ้ำ และหน้าผา เป็นต้น
จารึกปักไว้ในสถานที่
ที่คนมองเห็นได้ทั่วไป
จารึกต่างๆ นั้นในปัจจุบัน บางชิ้นรูปร่าง และขนาดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และมีร่องรอยความชำรุด ร้าว แตก หักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย บิ่นตามขอบ หรือส่วนต่างๆ รูปทรงของจารึกเหล่านี้ เปลี่ยนแปลงเพราะสาเหตุหลายประการ คือ
เกิดจากความตั้งใจของมนุษย์ที่จะนำจารึกมาทำเป็นอย่างอื่น
เมื่อล่วงพ้นสมัยมาแล้ว ด้วยเห็นว่า มีประโยชน์ดีกว่า หรือด้วยเหตุผลทางการเมือง เช่น นำศิลาจารึกมาทำเป็นหินลับมีด หรือนำมาใช้เป็นผนังช่องประตูศาสนสถาน เป็นต้น
เกิดจากการถูกทำลายโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนในสมัยหลัง
เช่น นำศิลาจารึก ใบสักการะบูชา ปิดทองคำเปลวจนเต็ม ด้วยความเชื่อว่า เป็นของศักดิ์สิทธิ์ ใช้เป็นที่รองล้างเท้าหน้าบันไดบ้าน หรือกะเทาะเล่น เป็นต้น