เล่มที่ 16
ศิลาจารึกและการอ่านจารึก
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
มนุษย์ใช้คำพูดเป็นสื่อบอกความรู้สึกนึกคิดของตนเอง รู้จักสร้างตัวอักษรสำหรับเขียนหนังสือ เพื่อบันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้ให้ผู้อื่นรู้ และสามารถเรียนรู้เรื่องต่างๆ ได้จากการอ่านหนังสือ

            หนังสือที่ใช้อ่านศึกษาเล่าเรียนกันอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน ทำด้วยกระดาษเป็นส่วนใหญ่ แต่กระดาษเป็นวัตถุที่ไม่คงทนถาวร ชำรุด ฉีกขาดง่าย เมื่อผู้เขียนหนังสือมีความประสงค์จะบันทึกเรื่องราวไว้ให้คงอยู่นานๆ จำเป็นต้องเขียนบนวัตถุ ที่มีความแข็งแรง คงทนถาวร เช่น แผ่นศิลา แผ่นไม้ และแผ่นโลหะชนิดต่างๆ ได้แก่ แผ่นเงิน แผ่นทอง เป็นต้น การเขียนหรือบันทึกลายลักษณ์อักษร ลงบนแผ่นศิลา และแผ่นวัตถุเนื้อแข็งชนิดต่างๆ ต้องทำด้วยวิธี "จารึก"

จารึกบนแผ่นไม้

จารึก

            เป็นวิธีการบันทึกลายลักษณ์อักษรอย่างหนึ่ง ที่ทำให้รูปอักษรเป็นร่องลึกลงไปในเนื้อวัตถุชนิดต่างๆ เช่น แผ่นศิลา โดยใช้เหล็กสกัด ตอกสกัดลงไปในเนื้อศิลา ให้เป็นร่องลึก รอยรูปอักษร และเรียกแผ่นศิลา ที่มีรูปอักษรเป็นร่องลึกนี้ว่า "ศิลาจารึก"

            นอกจากจารึกบนแผ่นศิลาที่เรียกว่า ศิลาจารึกแล้ว ยังมีจารึกที่บันทึกลายลักษณ์อักษร บนวัตถุที่มีเนื้อแข็งน้อยกว่าศิลา ได้แก่ วัตถุ ประเภทไม้ ดินเผา และโลหะชนิดต่างๆ เป็นต้น ซึ่งบันทึกลายลักษณ์อักษร ด้วยการใช้เครื่องมือทำด้วยเหล็ก มีปลายแหลมคม เรียกว่า เหล็กจาร โดยใช้เหล็กจารเขียนลายลักษณ์อักษรให้เป็นร่องลึกรอยรูปอักษรแทนการสกัด และด้วยเหตุที่วัตถุ ซึ่งนำมาใช้รองรับการเขียนด้วยเหล็กจาร มีลักษณะแข็งแรง และคงทนถาวร อีกทั้งรอยรูปอักษรที่ปรากฏบนวัตถุนั้น ก็มีรูปลักษณ์เช่นเดียวกับการจารึก จึงรวมเรียกเอกสารประเภทนี้ว่า จารึก เช่นเดียวกัน ได้แก่ จารึกบนแผ่นไม้ จารึกบนแผ่นดินเผา และจารึกบนแผ่นโลหะชนิดต่างๆ เป็นต้น

จารึกบนศิลารูปธรรมจักร

            เอกสารที่บันทึกลายลักษณ์อักษรบนแผ่นไม้ แผ่นดินเผา และแผ่นโลหะชนิดต่างๆ เหล่านี้ บางครั้งจะพบว่า มิได้บันทึกลายลักษณ์อักษรไว้ด้วยเหล็กจาร แต่ใช้วิธีเขียนหรือชุบด้วยสีหรือหมึก ชุบคือ ลักษณะการใช้พู่กัน หรือปากกาจุ่มสีหรือหมึก เขียนตัวอักษร เอกสารลักษณะดังกล่าวนี้เรียกว่า จารึก เช่นเดียวกัน

            ศิลาจารึกเป็นเอกสารโบราณอย่างหนึ่ง ที่สำเร็จด้วยหัตถกรรม โดยการสลักลายลักษณ์อักษร เป็นภาษาที่ใช้สื่อความหมาย แทนคำพูด แตกต่างจากรูปภาพ หรือภาพสลัก ที่มุ่งหมายจะเล่าเรื่องราว หรือบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งจัดเป็นงานศิลปกรรม ประเภทประติมากรรม ถึงแม้ว่าบางครั้ง จารึกจะปรากฏอยู่รวมกันกับการสลักก็ตาม เช่น ศิลาจารึกภาพชาดกวัดศรีชุม เป็นภาพจากหลักลายเส้นบนแผ่นศิลา เล่าเรื่องในชาดก มีจารึกอักษรข้อความอธิบายภาพประกอบส่วนที่ว่างด้วย