เล่มที่ 16
ศิลาจารึกและการอ่านจารึก
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การอ่านแปลและศึกษาข้อมูลจารึก
 
            เนื่องจากจารึกเป็นเอกสารโบราณที่บันทึกลายลักษณ์อักษรไว้ด้วยอักษร และภาษาโบราณ ที่พ้นสมัยไปแล้ว ความยากในเรื่องรูปแบบอักษร และภาษา เป็นสิ่งที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถพิเศษเฉพาะตัว การถ่ายทอด การอ่านแปลจารึก ให้เป็นอักษรภาษาไทยปัจจุบัน จะช่วยให้ประชาชนทั่วไปได้ประโยชน์จากจารึกอย่างกว้างขวาง การอ่านจารึก จึงมีวิธีดำเนินการ เริ่มต้นด้วยการถอดอักษร หรือการปริวรรตอักษร การอ่านตีความ การแปล และการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจารึก มีรายละเอียด ดังนี้

๑. การถ่ายถอดอักษร หรือการปริวรรตอักษร

            คือ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบอักษร จากที่ปรากฏในจารึกให้เป็นอักษรไทยปัจจุบัน เนื่องจากรูปอักษร ที่ปรากฏในจารึกส่วนใหญ่ อยู่ในสภาพลบเลือน ตัวจารึกชำรุด แตกหัก รูปอักษรไม่สมบูรณ์ สูญหายไปบ้าง มีรอย ขูดขีด หรือกะเทาะ ในระหว่างตัวอักษรบ้าง ความชำรุดสูญเสียดังกล่าว ทำให้การถ่ายถอดอักษร ดำเนินไปได้ยาก การถ่ายถอดอักษรมีจุดมุ่งหมาย ที่จะให้ได้ความหมาย ที่ถูกต้อง ตรงกับความเป็นจริงที่ปรากฏในจารึกนั้นๆ เพื่อให้ทราบถึงจุดประสงค์ หรือเจตนาของผู้สร้างจารึกว่า มีจุดมุ่งหมาย ที่จะประกาศ หรือบอกเล่าเรื่องราวใดไว้ ดังนั้นการปฏิบัติงานถ่ายทอดอักษร จึงต้องมีหลักการอันเป็นแบบฉบับวิธีการ หรือหลักเกณฑ์ ที่ใช้กันเป็นสากลมีดังนี้

๑.๑ การถ่ายถอดอักษรชนิดรักษารูปแบบอักขรวิธีในจารึก

            การถ่ายถอดอักษรโดยวิธีรักษารูปแบบอักขรวิธีทื่ปรากฏอยู่ในจารึกนั้น ต้องคำนึงถึงความถูกต้องของรูปอักษร และภาษาเป็นสำคัญ มีวิธีการถ่ายถอดดังนี้
            ๑.๑.๑ ต้องถ่ายถอดอักษรแต่ละตัว ให้ตรงกับอักษรที่ปรากฏในจารึกแบบตัวต่อตัว คำต่อคำ คือ ในจารึกใช้พยัญชนะ สระ เครื่องหมายอะไร ต้องถอดออกเป็นอักษรไทยปัจจุบัน ให้เป็นรูปพยัญชนะ สระนั้นๆ ให้ตรงกัน และใส่เครื่องหมายตามรูปแบบ ที่ปรากฏในจารึก ให้ตรงตามตำแหน่งเดิมทุกประการ จะเปลี่ยนไปเป็นพยัญชนะ สระ หรือเครื่องหมายอย่างอื่นไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อรักษาอักขรวิธีของภาษาไว้

            การถ่ายถอดอักษรด้วยวิธีดังกล่าวนี้ ห้ามเพิ่มเติม พยัญชนะ สระ เครื่องหมายใดๆ ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่า พยัญชนะ สระ และเครื่องหมาย หรือคำศัพท์ในจารึกนั้น สะกดผิด หรือใช้ผิด ต้องถ่ายถอดไปตามที่ผิดนั้น และถ้าจะแก้ไขให้ถูกต้อง ควรจะทำเป็นเชิงอรรถ หรืออธิบายบอกไว้ให้ชัดเจน ในที่อื่น เช่น ในส่วนที่เป็นเชิงอรรถ เป็นต้น

            ๑.๑.๒ ในกรณีที่รูปอักษรลบเลือน เห็นไม่ชัดเจน หรือมีรอยแตกหักเห็นเพียงครึ่งตัว หรือเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งของตัวอักษร แต่สามารถพิจารณา หรือสันนิษฐานเพิ่มเติมได้โดย

            ๑.๑.๒.๑ ต้องใส่เครื่อง หมายวงเล็บเล็กกำกับอักษรตัวที่ไม่ชัดนั้นไว้ ดังนี้ (...) ฃ
            ๑.๑.๒.๒ ถ้าข้อความใด อ่านไม่ได้เลย จะเป็นเพราะอักษรลบเลือน หรือแตกหักออกไปก็ตาม แต่ยังสามารถสันนิษฐานได้ เพราะมีคำอื่นประกอบให้อ่านได้ความหมาย ต้องใส่ข้อความ หรือคำนั้น ไว้ในวงเล็บเหลี่ยม [...]
            ๑.๑.๒.๓ สำหรับอักษรที่อ่านไม่ได้เลย ให้ใส่เครื่องหมายจุดไว้ดังนี้...

๑.๒ การถ่ายถอดเป็นอักษรไทยปัจจุบัน

            การถ่ายทอดวิธีนี้นิยมใช้กับจารึกที่บันทึกลายลักษณ์อักษรไว้ด้วยอักษรไทย ภาษาไทย ซึ่งมีอายุระหว่าง ๓๐๐ ปีลงมา ทั้งนี้เพราะลักษณะรูปแบบอักษรมีส่วนใกล้เคียงกับรูปแบบอักษรในปัจจุบันมาก เว้นแต่อักขรวิธีซึ่งแตกต่างไปจากอักขรวิธีในปัจจุบัน ดังนั้นการถ่ายถอดวิธีนี้ จึงถ่ายถอดเป็นอักษรไทยปัจจุบัน โดยใช้อักขรวิธี และเครื่องหมายการสะกดคำในภาษา ตามแบบที่ปรากฏในจารึกทุกประการ

การอ่านตีความในจารึก ต้องใช้วิจารณญาณอย่างสูง ควรวิเคราะห์เฉพาะเรื่องที่ปรากฏในจารึกเท่านั้น
๑.๓ การถ่ายถอดอักษรด้วยวิธีผสม

            หากจารึกนั้นบันทึกเป็นอักษร และภาษาอื่นที่มิใช่อักษรไทย ภาษาไทย การถ่ายถอดอักษรจำเป็นต้องมีขั้นตอนมากขึ้น คือ

            ๑.๓.๑ ในเบื้องแรกจะต้องถ่าย ถอดอักษรชนิดรักษารูปแบบอักขรวิธีในจารึก ตามหลักการในข้อ ๑

            ๑.๓.๒ ลำดับต่อไปจึงถ่ายถอด เป็นอักษรปัจจุบันของรูปแบบแห่งภาษานั้นๆ โดยเฉพาะในกรณีที่อักขรวิธีภาษานั้นๆ ไม่สามารถใช้กับอักษรภาษาไทยได้ จะต้องใช้อักษรของภาษานั้นๆ เขียนแทน

            ๑.๓.๓ ขั้นต่อไปจึงจะถอดเป็นคำอ่าน โดยใช้อักษรไทยสะกดตามเสียงในภาษานั้น กำกับไว้เป็นขั้นตอนสุดท้าย เพื่อให้สามารถอ่านออกเสียงคำศัพท์ในภาษานั้นๆ ได้ถูกต้อง

๒. การอ่านตีความ

            ในจารึกเป็นเรื่องที่ต้องใช้วิจารณญาณอย่างสูง เพราะจารึกส่วนใหญ่ จะบอกเรื่องเฉพาะตัวของบุคคล ไม่ใช่เหตุการณ์ ฉะนั้นการจะวิเคราะห์จารึก เพื่อประโยชน์ ในวิชาการประวัติศาสตร์ ผู้วิจารณ์ควรวิเคราะห์เฉพาะเรื่อง ที่ปรากฏในจารึกเท่านั้น อย่าสมมติเรื่อง หรือเหตุการณ์ นอกเหนือจากที่ปรากฏในจารึก สาเหตุที่อาจทำให้การอ่านตีความผิดพลาด มีดังนี้

จารึกที่วัดโนนศิลาอาสน์วนาราม จ.อุดรธานี รูปอักษรลบเลือน ทำให้การอ่านจารึกผิดพลาดได้ง่าย

            ๒.๑ การศึกษาเนื้อหาของเรื่องในจารึกแต่ละยุคสมัยย่อมมีข้อจำกัดอยู่ในตัวจารึก เนื่องจากจารึกแต่ละหลักมีอายุมากน้อยต่างกัน ตั้งแต่ ๑๐๐ ปีขึ้นไป จนถึงกว่า ๑,๓๐๐ ปี ดังนั้น ภาษาที่ใช้ในจารึกจึงแตกต่างไปจากปัจจุบันมาก ความรู้ของคนปัจจุบัน ย่อมจะต้องมีความคลาดเคลื่อนไปจากความหมายเดิมบ้าง สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้ ไม่อาจเข้าใจความหมายอันแท้จริง ของข้อความในจารึกได้ทั้งหมด การอ่านแปลจารึก จึงต้องอาศัยการตีความประกอบไปด้วย จึงเป็น ผลให้เกิดความผิดพลาดได้

            ๒.๒ สภาพของจารึกทั่วไปชำรุด แตกหัก อักษรลบเลือน ข้อความในจารึกบาง ส่วนขาดหายไป ทำให้เนื้อหาของเรื่องในจารึก ขาดความสมบูรณ์ ส่วนที่อักษรหายไป หรือลบเลือนไปนั้น ผู้อ่านจารึกใช้ความพยายาม เพื่อให้ทราบความหมาย โดยอาจจะอาศัยการเปรียบเทียบกับจารึกหลักอื่น หรือตีความตามความรู้ ความเข้าใจ สิ่งเหล่านี้ เป็นผลให้เนื้อหาของเรื่องในจารึก เกิดความผิดพลาดได้

            ๒.๓ จารึกมีเนื้อหาของเรื่องจำกัด ขอบเขตอยู่เฉพาะบุคคล หรือเหตุการณ์ที่บุคคล หรือกลุ่มคนกระทำขึ้น ไม่ครอบคลุมหลักฐานข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์ ดังนั้นผู้ศึกษาจารึก จึงต้องอาศัยการวิเคราะห์ความจารึกประกอบด้วย จึงเป็นเหตุให้การตีความเนื้อหาจารึกผิดพลาดได้

สำเนาจารึก
            ๒.๔ จารึกแต่ละชิ้นพบในสถานที่ และเวลาต่างกัน เป็นเหตุให้ประวัติหลักฐาน การพบจารึก คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และยังมีการเคลื่อนย้ายจารึก จากที่อยู่เดิม ซึ่งเป็นที่อันตรายจากภัยธรรมชาติบ้าง จากโจรภัยบ้าง เพื่อนำมาเก็บรักษาในที่ปลอดภัย การเคลื่อนย้ายดังกล่าว ไม่มีการบันทึกหลักฐานไว้ นานวันก็จำไม่ได้ว่า เดิมจารึกอยู่ที่ใด เป็นเหตุให้เกิดความสับสน โดยเฉพาะชื่อเมือง ชื่อสถานที่ที่ปรากฏในจารึก ทำให้หลักฐานของแหล่งที่อยู่ผิดไปจากเดิม ซึ่งเป็นเหตุให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนได้
             อย่างไรก็ดี หลักฐานที่ได้จากจารึก ก็ยังจัดเป็นหลักฐานเอกสารโบราณที่ถูกต้อง สมบูรณ์ในตัวเอง บ่งบอกนามบุคคล นามพระเจ้าแผ่นดิน นามสถานที่ และศักราชที่แน่นอน ช่วยแก้ไขพงศาวดาร หรือตำนานที่ศักราชคลาดเคลื่อนได้อย่างดีที่สุด ในทางโบราณคดี และศิลปะ จารึกจะบอกเรื่องราวของโบราณสถาน และภูมิประเทศ อีกทั้งยังเป็นหลักฐานยืนยันอายุสมัย ของศิลปะโบราณวัตถ ุและโบราณสถาน ที่ มีส่วนสัมพันธ์ต่อกันด้วย และที่สำคัญจารึก จะเป็นส่วนช่วยเสริมหรือเน้นให้เรื่องราวใน ประวัติศาสตร์ชัดเจนยิ่งขึ้น

๓. การแปลเอกสารจารึก


            จารึกส่วนใหญ่ใช้รูปอักษร และภาษาในการบันทึกเรื่องราว หรือข้อความ ตามแบบอย่างความนิยมในยุคสมัยแห่งอดีต ซึ่งเป็นอักษร และภาษาที่พ้นสมัยไปแล้ว คำศัพท์ต่างๆ ที่ปรากฏในจารึกส่วนใหญ่เป็นโบราณิกศัพท์ ดังนั้น การแปลภาษาไทยโบราณ เป็นภาษาไทยปัจจุบันนั้น จะต้องศึกษาคำศัพท์จากวรรณกรรมโบราณ วรรณกรรมท้องถิ่น รวมทั้งภาษาท้องถิ่น ที่ยังปรากฏใช้อยู่ เพื่อให้สามารถรู้ความหมายของศัพท์โบราณได้ถูกต้อง และแปลให้ตรงตามคำศัพท์ทุกคำศัพท์ ทุกประโยค ตรงตามหลักไวยากรณ์ ของภาษา และยุคสมัยที่ใช้อยู่ในจารึกนั้นๆ วิธีการแปล ควรจะแปลข้อความในลักษณะประโยคต่อประโยค หรือบรรทัดต่อบรรทัด หากคำใด ประโยคใด มีปัญหาในด้านภาษาก็ดี อักขรวิธีก็ดี ไวยากรณ์ก็ดี ต้องทำคำอธิบายชี้แจงไว้ให้ชัดเจน เช่น อธิบายไว้ที่เชิงอรรถ เป็นต้น ส่วนการแปลโดยวิธีสรุปเอาแต่ใจความนั้น ควรกระทำในกรณีที่การแปลด้วยวิธีแรกไม่สะดวก เนื่องจากอักษรข้อความในจารึกขาดหายลบเลือน อ่านไม่ได้เป็นช่วงๆ การเรียงประโยคตามหลักไวยากรณ์ของภาษาไม่ครบองค์ เป็นต้น การแปลโดยวิธีสรุปเอาแต่ใจความนี้ ควรจะทำคำอธิบายข้อความ คำศัพท์ และอื่นๆ ที่จำเป็น ประกอบไว้ให้ชัดเจนด้วย

            จารึกที่อ่านแปลแล้วนี้ มิได้มีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อให้ได้ทราบเรื่องราว ที่ปรากฏอยู่ในจารึกเท่านั้น สิ่งที่พึงได้ประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง นอกเหนือจากคำแปลที่กล่าวแล้วนั้นคือ การรวบรวม และให้อรรถาธิบาย พร้อมทั้งบันทึก เป็นหลักฐาน คำศัพท์ต่างๆ ซึ่งจัดเป็นโบราณิศัพท์ และศัพท์อื่นๆ ที่พ้นสมัยไปแล้ว เพื่อให้ทราบว่า คำศัพท์นั้นๆ มีอยู่ในจารึกใด ด้านใด บรรทัดใด สมัยใด หรือศัพท์ที่บันทึก มีเมื่อใด รูปพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ วางอยู่ในรูปอย่างไร ตำแหน่งอะไรของประโยค ศัพท์คำเดียวกันนี้ ในยุคต่อมาได้เปลี่ยนแปลงตำแหน่ง รูปแบบการวางพยัญชนะอย่างไรบ้าง ความหมายเปลี่ยนไปหรือไม่ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ต้องจัดทำเป็นประวัติของอักษรโบราณแบบต่างๆ ทำดรรชนีช่วยค้นหลักฐานดังกล่าว เป็นข้อมูลที่จะนำมาใช้เป็นปัจจัยลักษณะ ของรูปแบบอักษรในจารึก ใช้เกี่ยวกับการกำหนดอายุ และเปรียบเทียบสมัชชาประวัติศาสตร์ และโบราณคดีอีกด้วย

จารึกที่พบบริเวณภาคใต้ เนื้อหาของเรื่องในจารึก จะเน้นหนักไปทางหลักธรรมคำสอนของศาสนา
ดังเช่น จารึกวัดมเหยงค์ จ.นครศรีธรรมราช
๔. การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจารึก

            ข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากจารึกนอกเหนือจากเรื่องราวที่ปรากฏในจารึกนั้นแล้ว ทุกส่วนที่เป็นองค์ประกอบของจารึก สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาประวัติของกลุ่มชนในสังคม ผู้สร้างจารึกนั้นๆ และยังเป็นปัจจัยในการศึกษา เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียม ประเพณี รวมทั้งความเชื่อของกลุ่มชนในอดีตเหล่านั้นอีกด้วย

            ในปัจจุบันการศึกษาจารึกได้พัฒนารูปแบบการศึกษาให้กว้างขวางขึ้น ได้มีการนำหลักฐานทางด้านโบราณคดี และศิลปะ มาวิเคราะห์ประกอบพร้อมกันไป กับหลักฐานที่ปรากฏในจารึก

            แนวทางการศึกษาจารึก เพื่อนำมาใช้เป็นหลักฐานการศึกษาประวัติศาสตร์นั้น ได้เริ่มขึ้นมานานแล้ว แต่เพิ่งจะมีการปฏิบัติกันอย่างจริงจัง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ โดยทางกองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้จัดให้มีการประชุมสัมมนา จารึกพ่อขุนรามคำแหงขึ้น ผลการประชุมสัมมนาครั้งนั้น ทำให้ได้แนวทางการศึกษาวิชาจารึก อย่างกว้างขวาง และจากการวิเคราะห์กลุ่มจารึก ซึ่งพบทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ทำให้สรุปเรื่องราวจากการวิเคราะห์จารึกได้ดังนี้

จารึกที่พบบริเวณภาคใต้ เนื้อหาของเรื่องในจารึก จะเน้นหนักไปทางหลักธรรมคำสอนของศาสนา
ดังเช่น จารึกวัดเสมาเมือง จ.นครศรีธรรมราช
            ๔.๑ บริเวณภาคใต้ เป็นบ้านเมืองที่มีกลุ่มชนหลายเชื้อชาติพำนักอาศัยอยู่ร่วมกัน เป็นสังคมผสม มีอารยธรรมหลายรูปแบบ จุดยืนของสังคมจึงต้องอาศัยศาสนาเป็นสำคัญ ซึ่งปะปนกันอยู่ทั้งพระพุทธศาสนา และลัทธิในศาสนาพราหมณ์ เนื้อหาของเรื่องในจารึก จึงเน้นหนักไปทางหลักธรรมคำสั่งสอน อันเป็นหัวใจของศาสนา ดังตัวอย่างข้อความในจารึกหุบเขาช่องคอย จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นหลักฐานที่บอกให้ทราบว่า กลุ่มชนผู้สร้างจารึก เป็นผู้นับถือศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ใช้ภาษาสันสกฤต ได้เดินทางมาพำนักในบริเวณนั้นเป็นการชั่วคราว ไม่ใช่กลุ่มชนที่อยู่ประจำถิ่น ใช้สถานที่บริเวณที่พบจารึก หุบเขาช่องคอยเป็นศิวสถาน เพื่อปฏิบัติศาสนกิจตามจารีตของตน พร้อมทั้งอบรมสั่งสอนให้ผู้อยู่ในสันนิบาตนั้น สำนึกในความเป็นคนต่างถิ่น พลัดบ้านเมืองมา สมควรประพฤติตนเป็นคนดี จะได้พำนักอาศัยอยู่ในสังคม ที่มีขนบธรรมเนียมแตกต่างกันได้อย่างสุขสงบ ดังปรากฏความในจารึก กล่าวถึง การเคารพบูชาพระศิวะ พระสวามี แห่งนางวิทยาเทวี พระผู้เป็นเจ้าอันสูงสุด บุคคลใด สรรเสริญองค์พระศิวะอย่างเทิดทูนบูชา บุคคลนั้นจะได้รับพรจากพระองค์ ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ ใด ย่อมได้รับการต้อนรับด้วยดีทุกสถาน

            ๔.๒ บริเวณภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรกัมพูชา เป็นบ้านเมือง ที่มีความเป็นปึกแผ่นมั่นคง ประชาชนใช้ภาษาเขมร ขณะเดียวกันก็ได้พบจารึกใช้ภาษาสันสกฤต แล ภาษาบาลีปะปนอยู่ด้วย เนื้อหาในจารึกจะมุ่งแสดงพละกำลัง อำนาจ และความยิ่งใหญ่ แม้จะเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับศาสนา เช่น ข้อความในจารึกพระเจ้ามเหนทรวรมัน กล่าวว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า จิตรเสน ผู้เป็นโอรสของ พระเจ้าศรีวีรวรมัน เป็นพระนัดดาของ พระเจ้าศรีสารวเคามะ แม้โดยศักดิ์จะเป็นพระอนุชา แต่ก็เป็นพระเชษฐาของพระเจ้าศรีภววรมัน ผู้มีพระนามปรากฏในด้านคุณธรรมแต่พระเยาว์ พระเจ้าจิตรเสนได้รับพระนามอันเกิดจากการอภิเษกว่า พระเจ้าศรีมเหนทรวรมัน (หลังจาก) ชนะประเทศ (กัมพูชา) นี้ทั้งหมด แล้วได้สร้างพระศิวลึงค์ อันเป็นเสมือนหนึ่ง เครื่องหมายแห่งชัยชนะของพระองค์ ไว้บนภูเขานี้

ศิวลึงค์ รูปเคารพในลัทธิศาสนาฮินดู ตามที่ปรากฏในจารึก

            ๔.๓ บริเวณภาคกลาง เป็นบ้านเมืองที่มีความสงบสุข ได้พบจารึกภาษาสันสกฤต ภาษา บาลี ภาษามอญ และภาษาเขมร ปะปนกันอยู่ทั่วไป ความในจารึกส่วนใหญ่เป็นเรื่องในคัมภีร์ พระพุทธศาสนา เช่น จารึกธรรมจักร และจารึกเยธมฺมาฯ เป็นต้น

            ๔.๔ บริเวณภาคเหนือ หลักฐานทาง เอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรปรากฏครั้งแรก ในกลุ่มจารึกมอญโบราณ ภาษามอญโบราณ พุทธศตวรรษที่ ๑๗ พบที่จังหวัดลำพูน และเชียงใหม่ ตามหลักฐานนี้แสดงให้เห็นว่า มอญ ในอาณาจักรหริภุญชัยได้เจริญรุ่งเรื่องขึ้น นับถือพระพุทธศาสนาอย่างเถรวาท

จารึกธรรมจักร เนื้อความในจารึกส่วนใหญ่ เป็นเรื่องในคัมภีร์ พระพุทธศาสนา

            จารึกในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๘ ส่วนใหญ่จะเป็นจารึกอักษรขอม ภาษาเขมร และภาษาสันสกฤต ได้แก่ จารึกปราสาทหิน พนมรุ้ง จารึกปราสาทเขาพระวิหาร และจารึกปราสาทหินพิมาย เป็นต้น เนื้อเรื่องในจารึกเหล่านั้น แม้จะกล่าวถึงกิจกรรม ในศาสนาฮินดูเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าวิเคราะห์โดยละเอียดถี่ถ้วนแล้ว จะเห็นได้ว่า ความสำคัญของการ สร้างศาสนสถานเหล่านั้น เน้นการส่งเสริม และสร้างสรรค์ความเป็นอยู่ของประชาชน เพิ่มพูนความเจริญให้แก่ท้องถิ่น คือ เมื่อสร้างศาสนสถาน สำหรับชุมชนเคารพบูชาแล้ว ก็จะสร้างบ่อน้ำ ห้องสมุด และสถานพยาบาลไว้ร่วมกับศาสนสถานนั้น โดยประสงค์ให้ประชาชนในท้องถิ่นได้รับประโยชน์

            การศึกษาข้อมูลจารึกพึงตั้งข้อสังเกตว่า หลักฐานจารึกสามารถสร้างขึ้นใหม่เลียนแบบ หรือจำลองของเก่าได้ ตัวอย่างเช่น จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก จังหวัดเลย เป็นจารึกที่สร้างขึ้น เพื่อประกาศความสัมพันธ์ของอาณาจักรศรีอยุธยา กับอาณาจักรศรีสัตนาคนหุต ซึ่งได้กระทำสัตยาธิษฐานต่อกัน เมื่อพุทธศักราช ๒๑๐๓ ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๔๙ จารึกได้ถูกเคลื่อนย้ายไปประเทศลาว โดยจำลองจารึกขึ้นใหม่ ประดิษฐานแทนจารึกของเดิม ตัวอย่างนี้เป็นอุทาหรณ์ ให้นักวิชาการทั้งหลาย ควรให้ความสำคัญในการพิจารณาว่า จารึกนั้นๆ เป็นเอกสารที่สร้างขึ้นในยุคสมัยใด ศักราชที่ปรากฏในจารึก เป็นการอ้างถึงเรื่องในอดีต หรือเหตุการณ์ปัจจุบัน ขณะสร้างจารึก หรือเป็นการคัดลอกของเดิมมาทั้งหมด โดยไม่บอกวันเดือนปีที่คัดเลือกไว้ให้ชัดเจน ซึ่งบางครั้งอาจจะห่างกันนับร้อยปีขึ้นไปก็ได้ สิ่งที่จะใช้เป็นข้อตัดสินอายุสมัย ของจารึกได้นั้น ต้องประกอบด้วยหลักฐานต่างๆ นอกเหนือจากศักราชที่ปรากฏในจารึก โดยวิเคราะห์จากเนื้อเรื่อง ที่ปรากฏในจารึกนั้น และจารึกอื่นที่ร่วมสมัย รวมทั้งลักษณะของรูปแบบอักษร ภาษา และอักขรวิธีที่ใช้จารึก ซึ่งต้องอาศัยหลักวิชา อักขรวิทยาเป็นแนวทางประกอบด้วย

จารึกปราสาทหินพนมรุ้ง เนื้อเรื่องส่วนใหญ่ในจารึก จะกล่าวถึงกิจกรรมในศาสนาฮินดู

            จารึกที่รวบรวมไว้ตั้งแต่ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่ในความดูแลของหอพระสมุดสำหรับพระนคร ตลอดมาจนถึงปีพุทธศักราช ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ ย้ายจารึก และหนังสือตัวเขียน จากตัววัตถุมา ไว้ ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ในพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งเป็นที่ทำการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร พระราชทานนามว่า หอพระสมุดวชิรญาณ ส่วนตึกถาวรวัตถุพระราชทานนามว่า หอสมุดวชิราวุธ ต่อมาในปี พุทธศักราช ๒๔๗๖ ทางราชการได้กำหนดให้หอสมุดฯ เป็นส่วนราชการ มีฐานะเป็นกองหนึ่ง ในกรมศิลปากร จารึกจึงอยู่ในการดูแลของกรมศิลปากร นับแต่นั้นเป็นต้นมา

            เนื่องจากจารึกเป็นวัตถุที่มีอายุนาน จัดเป็นโบราณวัตถุอันเป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในพุทธศักราช ๒๕๐๔ หมวด ๓ มาตรา ๒๖ กำหนดว่า "โบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน และอยู่ในความดูแลรักษาของกรมศิลปากรนั้น จะเก็บรักษาไว้ ณ สถานที่อื่นใด นอกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมิได้ แต่ในกรณีที่ไม่อาจ หรือไม่สมควร จะนำมาเก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และได้รับอนุมัติ จากรัฐมนตรีแล้ว จะเก็บไว้ ณ สถานที่อื่นก็ได้" ดังนั้นจารึกจึงต้องจัดแสดงหรือเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติข้างต้น แต่เนื่องจากหอสมุดฯ เคยดูแลรักษาจารึกมาก่อน รวมทั้งมีบุคลากรปฏิบัติงานอ่านแปลจารึกอยู่แล้ว หน้าที่เกี่ยวกับจารึก เช่น การ ศึกษาวิเคราะห์ อ่าน แปล และเก็บรักษาจารึกที่อยู่ระหว่างการอ่านแปล จึงยังคงอยู่ในความรับผิดชอบของหอสมุดแห่งชาติสืบมา จนถึงปัจจุบัน