การช่างไทยประเภทต่างๆ การช่างไทยที่มีมาแต่อดีตนั้นแบ่งออก เป็นสองประเภท คือ ๑. การช่างพื้นบ้านพื้นเมือง ๒. การช่างที่เกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์ และพุทธศาสนา การช่างพื้นบ้านพื้นเมือง เป็นการช่างของชาวบ้านตามท้องถิ่นต่างๆ เป็นการช่างที่ผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ และดำรงชีวิตตามสภาพแวดล้อม ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมของท้องถิ่น มีกรรมวิธีการผลิต การใช้วัสดุ และการสร้างรูปทรง ตามแบบอย่างที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ การช่างพื้นบ้านแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้ การทำเครื่องปั้นดินเผา การทำเครื่องจักรสาน การทอผ้าและการเย็บปักถักร้อย การแกะสลัก การช่างโลหะ การก่อสร้าง การ วาดภาพ การปั้นรูปและลวดลาย และการช่าง ประเภทอื่นๆ ได้แก่ การทำพาหนะพื้นบ้าน การทำเครื่องเขิน การทำเครื่องกระดาษ การทำเครื่องหนัง การทำเครื่องประดับ การทำดอกไม้ไฟ และเชื้อปะทุ เป็นต้น | |
การทำเครื่องจักสาน จัดอยู่ในประเภทการช่างพื้นบ้านพื้นเมือง | |
การช่างที่เกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์ และพุทธศาสนา มีทั้งการช่างที่มีความละเอียด ประณีต เพื่อประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ สำหรับพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ สิ่งของเครื่องใช้สำหรับพระภิกษุเฉพาะพระชั้นผู้ใหญ่ หรือสิ่งของที่ถวายเป็นพุทธบูชาแก่พระพุทธศาสนา ซึ่งมักประดับตกแต่งให้มีความสวยงามเป็นพิเศษ ช่างที่ทำงานเหล่านี้ จึงต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และได้รับการฝึกฝนการช่างประเภทต่างๆ มาแล้วเป็นอย่างดี ส่วนมากเป็นช่างหลวง ที่มีหน้าที่ทำงานช่างต่างๆ ตามพระราชประสงค์ ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งประจำอยู่ในกรมช่าง ต่างๆ แต่ละกรมจะมีช่างผู้ชำนาญการช่างประจำอยู่ การช่างของไทยที่สำคัญในกรมช่างหลวงมีดังนี้ ๑. ช่างเขียน ถือเป็นแม่บทของการช่างทั้งมวล ช่างต่างๆ จะต้องผ่านการเรียน การฝึกฝน การเขียนภาพระบายสี การเขียนภาพร่าง การเขียนภาพลงรักปิดทอง ซึ่งช่างจะต้องฝึกฝนการเขียนภาพตามแบบแผนโบราณให้ครบ ๔ หมวด คือ กนก นารี กระบี่ และคชะ | |
กนก | กนก คือ การฝึกร่างลวดลาย ให้รู้จักความประสานสัมพันธ์กันของเส้น ที่ผูกรวมกันเป็นลายไทย โดยเฉพาะกนกแบบต่างๆ เช่น กนกสามตัว กนกใบเทศ กนกเปลว ถือเป็นปฐมบทที่ต้องฝึกฝนให้ชำนาญ ก่อนที่จะทำการช่างอย่างอื่นต่อไป |
นารี คือ การเรียนรู้ และฝึกฝนเกี่ยวกับการเขียนหน้ามนุษย์ เทวดา นางฟ้า พระ และนาง ซึ่งถือว่า เป็นภาพหลักของภาพไทย เมื่อเขียนได้คล่องแคล่วดีแล้ว จึงฝึกเขียนทั้งตัวในอิริยาบถต่างๆ ภาพเหล่านี้จะแสดงอารมณ์ด้วย กิริยา ใบหน้าของตัวภาพจะไม่แสดงอารมณ์ ดังนั้นจึงฝึกฝนเขียนตัวภาพไทยให้งดงามถูกต้องตามแบบแผนของศิลปะไทย นอกจากการฝึกเขียนตัวภาพหลักดังกล่าวแล้ว ยังต้องฝึกการเขียนภาพกาก หรือตัวภาพที่เป็นคนธรรมดา และการเขียนภาพจับ สำหรับเขียนเรื่องรามเกียรติ์ให้เกิดความชำนาญด้วย | นารี |
กระบี่ | กระบี่ คือ การฝึกเขียนภาพอมนุษย์ต่างๆ ได้แก่ พวกยักษ์ วานร เป็นต้น ในการฝึกจะต้องฝึกจากภาพลิงหรือกระบี่เป็นอันดับแรก เมื่อเขียนได้แม่นยำแล้ว จึงฝึกเขียนภาพอื่นต่อไป การฝึกเขียนภาพหมวดนี้จะเป็นประโยชน์ ในการเขียนภาพเรื่องรามเกียรติ์ |
คชะ คือ การฝึกเขียนภาพสัตว์สามัญ และภาพสัตว์ประดิษฐ์ต่างๆ โดยเริ่มจากคชะหรือช้าง ซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่ก่อน แล้วจึงฝึกเขียนภาพสัตว์เล็กๆ ต่อไป | คชะ | ||||
การช่างเขียนดังกล่าวถือว่า เป็นวิชาการช่างหลักของการช่างไทย ซึ่งช่างส่วนใหญ่จะต้องเรียนรู้ และฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ ก่อนที่จะไปเป็นช่างเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์ วิหาร หรือประกอบการช่างอื่นต่อไป ๒. ช่างแกะ คือ การช่างเกี่ยวกับการแกะสิ่งต่างๆ ผู้ที่จะต้องฝึกฝนการแกะโลหะ เช่น แกะเงิน แกะทอง รวมถึงการแกะ "คร่ำ" ต่างๆ โดยเฉพาะช่างที่สังกัดในกรมช่างสิบหมู่ จะต้องแกะได้ทั้งงานที่มีลวดลายละเอียดประณีต เช่น การแกะตราพระราชลัญจกร ตราประจำตำแหน่ง ตราประจำรัชกาล ตรากฎหมายตราสามดวง จนถึงงานขนาดใหญ่อย่างการแกะสลักไม้หน้าบัน โบสถ์วิหาร การแกะลวดลายบนบานประตู บานหน้าต่างลวดลายตกแต่งตู้ และการแกะโขนเรือพระที่นั่งต่าง ๆ เป็นต้น | |||||
ตราพระราชลัญจกร รัชกาลที่ ๗ ซึ่งช่างแกะ จะต้องแกะลวดลายที่ละเอียดประณีต | |||||
คร่ำ คือ การตกแต่งโลหะเป็นลวดลายด้วยการฝังเงินและทอง ฝังเงินเรียกว่า คร่ำเงิน ฝังทอง เรียกว่า คร่ำทอง การแกะคร่ำจะใช้เครื่องมือปลายแหลมแกะโลหะที่จะนำมาคร่ำให้เนื้อโลหะฟู แล้วฝังเส้นเงินหรือทองลงไป แล้วย้ำให้แน่น แต่งผิวให้เรียบ จะได้ลวดลายคร่ำตามชนิดของโลหะที่คร่ำ คือ เงินหรือทอง | |||||
พระราชลัญจกร รัชกาลที่ ๙ | |||||
๓. ช่างสลัก เป็นการช่างที่มาจากคำว่า "ช่างฉลัก" หมายถึง ช่างสลักของอ่อน เช่น สลักหยวก หรือฉลักกระดาษ แต่เดิมเป็นการช่างที่ทำหน้าที่สลักหยวก หรือแทงหยวก สำหรับประดับเมรุ ประดับพลับพลาชั่วคราว ซึ่งมักนำหยวก หรือกาบกล้วย ฟักทอง มะละกอ มาแกะ สลักเป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายฟันปลา ลายฟันสาม ลายแข้งสิงห์ สำหรับตกแต่งจิตกาธาน หรือแกะสลักเป็นดอกไม้ เรียกเครื่องตกแต่ง ชั่วคราวเหล่านี้ว่า "เครื่องสด" เพราะเป็นการตกแต่งด้วยของสดนั่นเอง | |||||
ช่างสลักจะสลักหยวกหรือแทงหยวก สำหรับประดับเมรุหรือประดับพลับพลาชั่วคราว | |||||
งานช่างสลักอีกอย่างหนึ่งคือ การสลักกระดาษสี โดยการฉลุหรือตอกด้วยตุ๊ดตู่ให้เป็นลวดลาย สำหรับใช้ประดับอาคารต่างๆ ๔. ช่างหุ่น ได้แก่ การทำหุ่น ตั้งแต่การทำหุ่นด้วยกระดาษ ไม้ เป็นของจำลองสิ่งต่างๆ จนถึงการทำหุ่น เพื่อใช้ในการแสดง เช่น หุ่นใหญ่ หุ่นเล็ก ซึ่งเป็นมหรสพของราชสำนักในอดีต ๕. ช่างปั้น การสร้างรูปต่างๆ ด้วยดินเหนียว ปูน ขี้ผึ้งหรือวัสดุอื่นให้เป็นเป็นรูปลอยตัว (round relief) รูปนูน การปั้นรูปต่างๆ ของช่างไทยสมัยโบราณ มักปั้นพระพุทธรูป พระพิมพ์รูปคน รูปสัตว์ ด้วยดินเหนียวเป็นต้นแบบก่อนแล้วหล่อด้วยโลหะให้เป็นรูปที่ถาวร ซึ่งการปั้นประเภทนี้ช่างปั้นจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับการหล่อด้วย การสร้างรูปอีกประเภทหนึ่งของช่างไทยที่รวมอยู่กับการปั้นได้แก่ การปั้นเป็นดินดิบและดินเผา มักปั้นเป็นพระพิมพ์ตุ๊กตาต่างๆ การปั้นหุ่นสำหรับปิดกระดาษเป็นหัวโขน เป็นต้น | |||||
การปั้นตุ๊กตาต่างๆ ช่างปั้นควรจะมีความรู้เกี่ยวกับการหล่อด้วย | |||||
๖. ช่างหล่อ ได้แก่ กรรมวิธีในการหล่อโลหะต่างๆ เช่น การหล่อสำริดเป็นสิ่งต่างๆ ตั้งแต่ พระพุทธรูป เทวรูป รูปสัตว์ ระฆัง และสิ่งอื่นๆ ตามพระราชประสงค์ การหล่อโลหะของไทยมีแบบแผนเป็นของไทยโดยเฉพาะ ที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ ตั้งแต่กรรมวิธีในการสร้างรูปด้วยแกนทราย การหุ้มขี้ผึ้ง การสำรอกขี้ผึ้ง ซึ่งมีกรรมวิธีที่ต่างไปจากการหล่อโลหะแบบชาวตะวันตก | |||||
การปั้นหุ่นสำหรับปิดกระดาษเป็นหัวโขน เป็นงานช่างประเภทหนึ่งของช่างไทยที่รวมอยู่กับการปั้น | |||||
๗. ช่างรัก การช่างที่ต้องเกี่ยวข้องกับ "รัก" ซึ่งเป็นยางไม้ที่ได้จากต้นรัก ช่างไทยได้นำยางรักมาใช้ประโยชน์หลายอย่าง โดยเฉพาะในงานการช่างนั้น ช่างมักใช้รักเคลือบสิ่งต่างๆ เช่น การเคลือบภาชนะจักสาน หรือภาชนะกลึงที่เรียกว่า "เครื่องเขิน" ใช้รักตำเป็นพื้นสำหรับปิดทอง แล้วเขียนลายที่เรียกว่า "ลายรดน้ำ" มักเขียนตกแต่งบานประตู บานหน้าต่าง ตู้พระธรรมคัมภีร์ และอื่นๆ ๘. ช่างบุ การช่างที่มีอยู่ในกรมช่างสิบหมู่สมัยโบราณ ช่างบุจะทำหน้าที่บุโลหะเข้ากับสิ่งต่างๆ เช่น บุแผ่นโลหะลงบนเจดีย์ บุแผ่นเงินหรือทองลงบนพระพุทธรูป เป็นต้น นอกจากนี้ช่างบุยังรวมถึงช่างที่ทำภาชนะโลหะต่างๆ ด้วยการเคาะหรือบุโลหะบนแม่พิมพ์ เช่น การบุทองเหลือง เงิน ทอง เป็นขันหรือภาชนะต่างๆ หมู่บ้านที่ทำภาชนะเครื่องใช้โลหะต่างๆ ด้วยวิธีการบุ เรียกว่า บ้านบุ ในสมัยโบราณหมู่บ้านนี้อยู่ใกล้ๆ วัดสุวรรณาราม กรุงเทพมหานครหมู่บ้านตามประเภทของภาชนะที่ทำ เช่น บ้านบาตร เป็นหมู่บ้านทำบาตรพระซึ่งถือเป็นงานช่างประเภทช่างบุ ปัจจุบันบ้านบาตรในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ยังมีการทำบาตรพระอยู่บ้าง ๙. ช่างมุก การช่างเก่าแก่ของไทยประเภทหนึ่งที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา การประดับมุกจะต้องใช้เปลือกมุกฉลุเป็นลวดลาย แล้วประดับลงบนสิ่งต่างๆ โดยมีรักเป็นพื้น เช่น การประดับมุกบนบานประตูปราสาท บานประตูและบานหน้าต่างโบสถ์ วิหาร จนถึงการประดับมุกลงบนสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ประดับมุกบนเตียบสำหรับใส่อาหารของพระภิกษุ การประดับมุกลงบนพาน เครื่องดนตรี โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น | |||||
ฐานตู้พระธรรมประดับมุก ในพระมณฑปวัดพระศรีรัตนศาสดาราม | |||||
๑๐. การช่างเบ็ดเตล็ด ได้แก่ การช่างประเภทต่างๆ ที่เคยปรากฏเป็นกรมช่างในสมัยโบราณ เป็นการช่างสำหรับสร้างสิ่งของเครื่องใช้ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์ และพระพุทธศาสนาในอดีตมากมายหลายประเภท ที่สูญหายไปก็มาก เพราะหมดความจำเป็นในการใช้สอย เช่น ช่างกระเบื้อง การช่างเกี่ยวกับการทำเครื่องเคลือบดินเผา โดยเฉพาะการทำกระเบื้องของหลวง สำหรับมุงหลังคาปราสาทราชวัง วัดวาอาราม
ช่างกระดาษ การช่างเกี่ยวกับการฉลักหรือฉลุกระดาษ เพื่อใช้ประดับพลับพลา หรือพระเมรุของพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ ช่างดอกไม้เพลิง การช่างเกี่ยวกับการประดิษฐ์พลุ ดอกไม้เพลิงต่างๆ สำหรับใช้ในงานพระราชพิธี นอกจากนี้ยังมีการช่างอื่นๆ อีก เช่น ช่างดีบุก ช่างทอง ช่างสนะ (ช่างทำเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม) การช่างเหล่านี้ ได้สูญหายไปแล้ว เป็นส่วนใหญ่ การช่างของไทยที่เกิดขึ้นในอดีต แล้วพัฒนาเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาตามสภาพสังคม ขนบประเพณี และวัฒนธรรม แต่ละยุค แต่ละสมัย การช่างเหล่านี้เป็นมรดกทางภูมิปัญญาของช่างไทย ที่เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินไทยเป็นพื้นฐานของการช่างไทย การช่างบางประเภท ยังคงสืบทอดกันมาจนปัจจุบัน แสดงให้เห็นมรดกทางภูมิปัญญาของช่างไทยได้เป็นอย่างดี นอกจากการช่างของไทยแล้ว ถิ่นที่อยู่ของช่าง คือ "หมู่บ้านช่าง" ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ หมู่บ้านช่าง มีทั้งในชนบท และในเมืองหลวง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครสมัยโบราณนั้น เป็นศูนย์กลางในการผลิตหัตถกรรมหลายสิ่งหลายอย่าง และมักทำรวมๆ กันอยู่เป็นย่านๆ ดังที่ปรากฏชื่อย่านหรือหมู่บ้าน ที่ทำงานช่างหัตถกรรมอยู่ จนทุกวันนี้หลายแห่ง เช่น บ้านหม้อ อยู่ในเขตพระนคร แขวงพระบรมมหาราชวัง แต่เดิมคงเป็นหมู่บ้านผลิตหรือขายเครื่องปั้นดินเผา ประเภทหม้อข้าวหม้อแกง ดินเผา โอ่ง อ่าง กระถาง และภาชนะดินเผาต่างๆ ทุกวันนี้ไม่มีจำหน่ายเครื่องปั้นดินเผาแล้ว แต่ชื่อบ้านหม้อยังคงเรียกขานกันอยู่
บ้านบาตร อยู่ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย แขวงสำราญราษฎร์ ใกล้กับวัดสระเกศ เป็นย่านที่ทำบาตรพระมาแต่โบราณ ทุกวันนี้ก็ยังมีทำอยู่บ้าง เป็นหมู่บ้านการช่างที่เก่าแก่โบราณมากแห่งหนึ่ง | |||||
ขั้นตอนการทำบาตร : วิธีการเป่าเล่น เพื่อเชื่อมตะเข็บ | |||||
บ้านตีทอง อยู่แถวถนนตีทอง เขตพระนคร แขวงเสาชิงช้า เป็นย่านที่ตีทองคำให้เป็นทองคำเปลว เพื่อใช้ปิดพระพุทธรูป ปิดหน้าบันโบสถ์ วิหาร ใช้ทำลายรดน้ำ ลายทอง และงานช่างศิลป์อื่นๆ ปัจจุบันยังมีการตีทองอยู่บ้างในบริเวณหน้าวัด และหลังวัดบวรนิเวศวิหาร | |||||
แผ่นทองคำเปลว นำมาใช้ปิดพระพุทธรูป ปิดหน้าบันโบสถ์ วิหาร ฯลฯ | |||||
บ้านพานถม อยู่ในเขตพระนคร แขวง บ้านพานถม ในสมัยโบราณเป็นแหล่งทำเครื่องโลหะ และเครื่องถมที่สำคัญแห่งหนึ่ง บ้านลานทอง อยู่ในเขตพระนคร แขวงบางขุนพรหม เป็นย่านที่เคยทำใบลานสำหรับใช้จาร หรือเขียนคัมภีร์ที่พระใช้เทศน์ ทุกวันนี้ยังมีทำอยู่บ้าง บ้านช่างหล่อ ปัจจุบันเป็นแขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย เป็นแหล่งปั้นและหล่อพระพุทธรูปมาแต่โบราณ ทุกวันนี้ ยังมีการปั้น และหล่อพระพุทธรูป และรูปประติมากรรมต่างๆ ด้วยทองเหลือง และสำริดกันอยู่หลายบ้าน บ้านขันบุและบ้านพาน เดิมอยู่ปากคลอง บางกอกน้อย เป็นแหล่งทำขันและพานโลหะ เช่น ขันทองเหลือง ด้วยวิธีการบุ จึงเรียกว่า บ้านบุ หรือบ้านขันบุ ปัจจุบันไม่มีทำแล้ว บ้านครัว เป็นหมู่บ้านแขกจามที่อพยพ เข้ามาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และตั้งถิ่นฐานอยู่ริมคลองมหานาค และคลองแสนแสบ ปัจจุบัน อยู่กันเป็นชุมชนใหญ่ประมาณ ๖๐๐ ครอบครัว แต่เดิมชาวบ้านครัวมีความสามารถในการทอผ้าไหมได้งดงามเป็นที่รู้จักกันดี เช่น ผ้าขาวม้า ผ้าโสร่ง ปัจจุบันการทอผ้าไหมที่บ้านครัวยังมีทออยู่บ้าง แต่ไม่มากเหมือนสมัยก่อน | |||||
ชาวบ้านใน "บ้านครัว" ริมคลองมหานาค และคลองแสนแสบ มีความสามารถในการทอผ้าไหมได้งดงาม ปัจจุบันยังมีทออยู่บ้าง แต่ไม่มากเหมือนสมัยก่อน | |||||
นอกจาก "ย่าน" หรือหมู่บ้านที่ทำงานช่างประเภทต่างๆ ในกรุงเทพมหานครในสมัยโบราณ ซึ่งบางแห่งยังทำงานช่างสืบต่อมา จนทุกวันนี้แล้ว ในจังหวัดต่างๆ ก็ยังมีหมู่บ้านหัตถกรรมห รือหมู่บ้านช่าง ที่มีการทำงานช่างหัตถกรรมกระจายอยู่ตามภาคต่างๆ มากมายหลายแห่ง บางแห่งก็เรียกชื่อหมู่บ้านตามประเภทของงานช่างที่ทำ เช่น บ้านหม้อ บ้านดาบ (หมู่บ้านทำมีดดาบ) บ้านกระดาษ บ้านดินสอ หรือบางหมู่บ้านเป็นแหล่งผลิตงานหัตถกรรม หรือเป็นหมู่บ้านที่ทำงานช่างคุณภาพดี เป็นที่รู้จักกันทั่วไป เช่น บ้านหาดเสี้ยว ตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เป็นแหล่งผลิตผ้าทอมือ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี โดยเฉพาะผ้าซิ่นตีนจก และผ้าที่ทอเป็นลวดลายต่างๆ ล้วนสวยงามน่าใช้แทบทั้งสิ้น ลับแล เภอหนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นแหล่งทอผ้าซิ่นตีนจกที่สวยงาม ส่วนมากทอมาจากหมู่บ้านต่างๆ ในตำบลชัยจุมพล ตำบลศรีนพมาศ ผ้าที่ทอจากหมู่บ้านเหล่านี้มักเรียกกันว่า ผ้าลับแล บ้านพุมเรียง หมู่บ้านทอผ้ายกที่มีชื่อเสียงมาแต่โบราณ อยู่ในตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันยังมีการทอผ้าไหม และผ้ายกอยู่หลายหลังคาเรือน บ้านเขว้า หมู่บ้านในตำบลนาเสียว อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ เป็นหมู่บ้านทอผ้าพื้นเมือง ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของภาคอีสาน บ้านนาหมื่นศรี หมู่บ้านในตำบลนาหมื่นศรี อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เป็นแหล่งทอผ้าพื้นเมืองของภาคใต้ที่สำคัญแห่งหนึ่ง เกาะยอ เกาะที่มีฐานะเป็นตำบลหนึ่งใน อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นแหล่งผลิตผ้าพื้นบ้านพื้นเมือง ที่สำคัญมาแต่โบราณ โดยเฉพาะผ้าเกาะยอ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป
แม่แจ่มและจอมทอง ในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นแหล่งที่มีการทอผ้าพื้นบ้านพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของภาคเหนือ โดยเฉพาะผ้าซิ่นตีนจกของแม่แจ่มนั้น มีลวดลาย และสีสวยงามมาก นอกจากนี้ในหลายหมู่บ้านในจังหวัดลำพูน ก็มีชื่อในการทอผ้ายกไหม และผ้าทอพื้นเมือง นอกเหนือไปจากหมู่บ้านทอผ้าพื้นเมืองในภาคต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ยังมีหมู่บ้านช่างที่ทำงานหัตถกรรมประเภทอื่นๆ อีกมาก เช่น หมู่บ้านทำเครื่องปั้นดินเผาที่บ้านเหมืองกุง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ บ้านทุ่งหลวง ตำบล ทุ่งหลวง อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย บ้านด่านเกวียน ตำบลท่าอ่าง อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา บ้านสทิงหม้อ ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นต้น หมู่บ้านเครื่องจักสาน มีทำกันหลายหมู่บ้าน ในทุกภูมิภาคของประเทศ เช่น บ้านบางเจ้าฉ่า อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง หมู่บ้านทำเครื่อง จักสานในบริเวณอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี หมู่บ้านทำเครื่องจักสานยานลิเพา บ้านหมน ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น | |||||
การจักสานไม้ไผ่เป็นภาชนะต่างๆ ที่ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี | |||||
หมู่บ้านเครื่องโลหะ ซึ่งมีการทำโลหะเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ด้วยทองเหลืองและเหล็ก เช่น การทำเต้าปูน และเครื่องใช้ทองเหลือง บ้านปะอาว ตำบลหนองขอน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี การตีเหล็กเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ประเภท มีด จอบ เสียม ขวาน ที่รู้จักกันในชื่อ หมู่บ้าน อรัญญิก ที่บ้านต้นโพธิ์ ตำบลท่าช้าง ตำบล สามไถ อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การทำเครื่องถม ในบริเวณอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น หมู่บ้านเครื่องไม้แกะสลัก เช่น หลาย หมู่บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ หลายหมู่บ้านในเขตอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน บ้านเมืองเก่า ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หมู่บ้านช่างที่ทำงานหัตถกรรมพื้นบ้านพื้นเมืองของไทย ยังมีอีกมากมาย หมู่บ้านเหล่านี้เป็นแหล่งสืบทอดการช่างของไทยที่สำคัญ ทำให้การช่างต่างๆ ดำรงอยู่สืบมาจนทุกวันนี้ เรื่องราวของช่าง การช่าง และหมู่บ้านช่างของไทยเราที่มีมาแต่สมัยโบราณนั้น เป็นสิ่งที่พวกเราควรภูมิใจ เพราะช่างและการช่างของไทยช่วยให้เรามีสิ่งของเครื่องใช้ บ้านเรือน พระราชวัง วัด ที่สวยงามเป็นของเรามาจนทุกวันนี้ |