เล่มที่ 17
ของเสียที่เป็นอันตราย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
แหล่งที่มาของเสียที่เป็นอันตราย

ของเสียที่เป็นอันตรายมีที่มาจากแหล่งกำเนิดที่สำคัญ ๓ แหล่ง ได้แก่

๑. โรงงานอุตสาหกรรม

            กากสารเคมีที่ได้จากขบวนการผลิต หรือสารเคมี ที่เหลือใช ้ภาชนะบรรจุสารเคมี ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่เสื่อมคุณภาพ หรือไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำทิ้งของโรงงาน เป็นของเสียอันตราย ที่จะต้องได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ของเสียเหล่านี้อาจมีทั้งประเภทที่มีลักษณะเป็นสารที่เป็นพิษ สารไวไฟ สารกัดกร่อน หรือมีหลายลักษณะรวมกัน ขึ้นอยู่กับประเภทของโรงงานอุตสาหกรรม อาทิ ของเสียจากโรงงาน ชุบโลหะส่วนใหญ่จะมีสารพิษ เช่น ไซยาไนด์ และสารโลหะหนักเจือปนอยู่ ตัวอย่างของเสียเหล่านี้ ได้แก่ โครเมียม แคดเมียม สังกะสี ทองแดง และอื่นๆ ของเสียจากโรงงานผลิตโซดาไฟในขบวนการผลิตแบบเก่า จะมีพวกสารปรอทปะปนอยู่ ของเสียจากโรงงานผลิตสี หรือโรงงานทอผ้าที่มีการย้อมสี จะมีสารพวกตะกั่ว ปรอท และสารหนู เป็นต้น ของเสียจากโรงงานผลิตและบรรจุยาฆ่าแมลง ส่วนใหญ่จะเป็นภาชนะบรรจุวัตถุดิบ หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้แล้ว ซึ่งอาจจะมีสารเคมีที่เป็นพิษ หรือสารยาฆ่าแมลงติดค้างอยู่ ของเสียจากโรงกลั่นน้ำมัน จะเป็นพวกกากตะกอนน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นสารไวไฟ และอาจมีโลหะหนัก เช่น ตะกั่วเจือปนอยู่ ของเสียจากโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ ที่เป็นโลหะ จะเป็นพวกกรดหรือด่างที่ใช้ในการผลิต

โรงกลั่นน้ำมัน


๒. ชุมชนหรือบ้านเรือนที่พักอาศัย

            ของที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน บางชนิดอาจจะมีสารเคมีที่เป็นพิษ หรือสารไวไฟ หรือสารกัดกร่อนเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย แม้ว่าของนั้นจะหมดสภาพการใช้งานแล้ว แต่สารเคมีที่เป็นส่วนประกอบก็ยังคงเหลือความเป็นอันตรายในตัวเองอยู่ ถ้าดำเนินการกับของเสียนั้นๆ อย่างไม่ระมัดระวังหรือไม่ถูกวิธี ก็จะทำให้สารเคมีที่อยู่ในของเสียนั้น รั่วซึมออกมาได้ เช่น ซากถ่านไฟฉาย จะมีสารโลหะหนักพวกแมงกานีส หรือแคดเมียมอยู่ภายใน ซากแบตเตอรี่รถยนต์เก่าอาจมีน้ำกรด และมีสารโลหะหนักพวกตะกั่วเหลืออยู่ นอกจากนี้หลอดฟลูออเรสเซนซ์ที่หมดอายุใช้งานแล้ว ยังคงมีสารปรอทเหลืออยู่ เศษของเสียเหล่านี้ถ้าถูกทิ้งไปโดยไม่ดูแลให้ถูก ต้อง สารพิษดังกล่าวอาจถูกน้ำชะล้างออกมา ปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อมได้ นอกจากนี้ น้ำมัน- เครื่อง น้ำมันเบรก ที่ใช้ในรถยนต์ แม้จะใช้แล้ว ก็ยังคงความเป็นสารไวไฟหรือสารกัดกร่อน ภาชนะที่บรรจุยาฆ่าแมลงสาบและยุงที่ใช้หมด แล้วอาจมีเศษของยาฆ่าแมลงเหลือติดค้างอยู่ น้ำยาขัดพื้น หรือน้ำยาล้างห้องน้ำ จะมีส่วน ผสมของกรดหรือด่าง แม้จะใช้แล้วก็ยังคงมี ฤทธิ์ในการกัดกร่อนอยู่ ส่วนสี ทินเนอร์ ยา ตลอดจนเครื่องสำอางที่หมดอายุแล้ว ก็นับเป็น ของเสียที่เป็นอันตรายด้วยเช่นกัน

            ของเสียที่ถูกทิ้งออกมาจากโรงพยาบาล และสถานพยาบาลต่างๆ บางส่วนอาจจะมีเชื้อโรคติดต่อปะปนอยู่ เช่น เศษเนื้อเยื่อ ชิ้นส่วนอวัยวะต่างๆ น้ำเหลือง น้ำหนอง เสมหะ น้ำลาย เหงื่อ ปัสสาวะ อุจจาระ ไขข้อ น้ำใน กระดูก น้ำอสุจิ เลือด เซรุ่มของผู้ป่วย เครื่องใช้ที่สัมผัสกับผู้ป่วย เช่น สำลี ผ้าพันแผล กระดาษชำระ เข็มฉีดยา มีดผ่าตัด และเสื้อผ้าจากห้องฉุกเฉิน ห้องปัจจุบันพยาบาล ห้องออร์โธ ปิดิกส์ หน่วยโลหิตวิทยา ห้องศัลยกรรม ห้องอายุรกรรม ห้องกุมารเวชกรรม ห้องสูตินารีเวชกรรม หน่วยพยาธิวิทยา เป็นสิ่งของที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรค หากไปสัมผัสเข้า นอกจากของเสียที่ติดเชื้อโรคแล้ว ยังมีของเสียชนิดอื่นอีก เช่น ยาที่หมดอายุแล้ว และสารเคมีที่ใช้ในการแพทย์ ตลอดจนซากสัตว์หรืออุปกรณ์ที่ ทิ้งจากห้องเลี้ยงสัตว์ทดลอง เป็นต้น


๓. เกษตรกรรม

            ได้แก่ การผลิต และการใช้สารเคมีทางการเกษตร เช่น ยากำจัดแมลง ยากำจัดวัชพืช ยากำจัดเชื้อราที่เหลือใช้ หรือเสื่อมคุณภาพ ภาชนะที่บรรจุยากำจัดศัตรูพืชต่างๆ ซึ่งอาจมีเศษยาติดค้างอยู่ สารเคมีเหล่านี้มีความเป็นพิษในตัวของมันเอง บางชนิดมีความคงทนไม่สลายตัวง่าย ทำให้มีฤทธิ์อยู่ได้นาน ส่วนใหญ่นอกจากจะมีพิษต่อศัตรูพืชแล้วยังมีพิษต่อมนุษย์ด้วย