เล่มที่ 17
ปอแก้วปอกระเจา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประวัติความสำคัญของปอประเทศไทย

            มีการใช้ปอให้เป็นประโยชน์มาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย เมื่อประมาณ ๖๗๐ ปีมาแล้ว เชือกปอในสมัยนั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของราษฎร จึงมีการจารึกลงในหลักศิลาจารึกหลักที่ ๗ ก ซึ่งขุดพบที่วัดมหาธาตุ หรือวัดสระศรี เรียกว่า "ปอฟั่น" ในสมัยนั้นใช้ในรูปปอกลีบ นำมาทำเชือกสำหรับมัดสิ่งของ และผูกสัตว์เลี้ยง เพราะในสมัยนั้นไม่มีการใช้กระสอบ สำหรับบรรจุอาหาร และธัญพืช เมื่อประเทศเจริญรุ่งเรืองขึ้น มีการขนส่งระยะไกล ตลอดจนธัญพืช และผลิตผลทางการเกษตรเพิ่มขึ้น จึงเริ่มมีการใช้กระสอบ ตามหลักฐานพบว่า ใน พ.ศ. ๒๔๗๐ ประเทศไทยสั่งกระสอบเข้าเป็นมูลค่า ๙ ล้านบาท และต้องใช้เพิ่มขึ้น เพราะผลิตผลข้าวเพิ่มขึ้น กรมเกษตรในสมัยนั้น ก็ได้สำรวจแหล่งปลูกปอกระเจา และทดลองทำปอฟอกใน พ.ศ. ๒๔๘๒ ที่ สถานีทดลองภาค ๔ (สุโขทัย) ตลอดจนส่งเสริมให้ทำเส้นใยปอฟอก แต่ไม่สำเร็จ เพราะราคาเส้นใยปอฟอกต่ำกว่าปอกลีบ

โรงงานทอกระสอบ

            ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๘๔ รัฐบาลมีนโยบาย จะตั้งโรงงานทอกระสอบขึ้นในประเทศ จึงให้กรมเกษตร และกรมพาณิชย์ ส่งเสริมการปลูก และรับซื้อเส้นใยปอฟอก จนถึง พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลจึงตั้งโรงงานทอกระสอบแห่งแรกขึ้น ที่ตำบลบางกระสอ จังหวัดนนทบุรี ชื่อ "โรงงานทอกระสอบป่าน กรมโรงงานอุตสาหกรรม" ดำเนินกิจกรรมเป็นรัฐวิสาหกิจในการควบคุม ของกระทรวงอุตสาหกรรม ผลิตกระสอบ ผ้า กระสอบ ผ้าเฮซเซียน (ผ้ากระสอบที่ต้องทอ หน้ากว้าง บางกว่าผ้ากระสอบทั่วไป ต้องใช้ปอ คุณภาพดี) ด้าย และเชือก ต่อมามีการตั้งโรงงานทอกระสอบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดอิ่มตัว เพราะมีเส้นใยสังเคราะห์เป็นคู่แข่ง ใน พ.ศ. ๒๕๑๖ มีพื้นที่ปลูกปอเพิ่มขึ้นถึง ๒.๗ ล้าน ไร่ ผลิตผลเส้นใยมีถึง ๔.๖๘ แสนตัน หลัง จากนั้นโรงงานทอกระสอบบางรายต้องปิดกิจการ และเปลี่ยนผู้ดำเนินการ มีผลทำให้ราคาเส้นใยปอตกต่ำ และพื้นที่ปลูกลดลงเรื่อยๆ บางปีถึงกับต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ โรงงานทอกระสอบป่านแห่งแรกของประเทศไทย ได้ปิดกิจการลงเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๓

ดอกปอแก้ว

            ปัจจุบันมีโรงงานทอกระสอบที่ยังเปิดดำเนินการอยู่เพียง ๙ โรง เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ ซึ่งต้องการปีละ ๒๒๐,๐๐๐-๒๕๐,๐๐๐ ตัน จำเป็นต้องสั่งซื้อปอคุณภาพสูงจากบังกลาเทศ เข้ามาอีกปีละประมาณ ๔๖,๐๐๐ ตัน (พ.ศ. ๒๕๓๕) นอกจากนี้ยังต้องการต้นปอแห้งอีก ปีละ ๒๐๐,๐๐๐ ตัน เพื่อใช้ในการผลิตเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์ของปอที่ผลิตได้ร้อยละ ๔๕ ใช้ ภายในประเทศไทยโดยผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ร้อย ละ ๙๗ เป็นกระสอบใช้บรรจุสินค้าทางการเกษตร และจำแนกเป็นกระสอบร้อยละ ๔๐ และเป็นเส้นเชือกร้อยละ ๖๐ มีประเทศในกลุ่มตลาดร่วมยุโรป ซาอุดีอาระเบีย และญี่ปุ่น เป็นประเทศผู้สั่งซื้อรายใหญ่ การผลิตกระสอบ เพื่อใช้ในประเทศมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากมีการแข่งขันกับกระสอบพลาสติกใยสังเคราะห์ และมีการเปลี่ยนแปลงระบบการขนส่ง