เล่มที่ 17
ปอแก้วปอกระเจา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประวัติปอแก้วและปอกระเจา

ปอแก้ว

            ปอแก้วแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ ปอแก้ว ไทย (Thai Kenaf or roselle) หรือที่เรียกว่า "ปอแก้ว" ในปัจจุบัน และปอคิวบา (Cuban Kenaf) ปอแก้ว และปอคิวบา เป็นพืชในวงศ์มัลวาซีอี (Malvaceae) เช่นเดียวกับฝ้าย และอยู่ในสกุลเดียวกันคือ ไฮบิสคุส (Hibiscus) แต่ต่างชนิดกัน

            ๑. ปอแก้ว

            ปอแก้วเป็นปอพื้นเมือง ซึ่งปลูกกระจัดกระจายในแอฟริกา และอินเดีย มีถิ่นกำเนิดในแถบตะวันตกของประเทศซูดาน เป็นพืชให้เส้นใยที่ได้จากเปลือกของลำต้น รู้จักกันดีในอียิปต์ และอินเดีย มาหลายศตวรรษแล้ว ต่อมาปลูกกันแพร่หลายในทวีปเอเชีย อเมริกาใต้ และแอฟริกา ในปี พ.ศ. ๒๓๒๗ ดร.วิลเลียม ล็อกซ์เบิร์ก (Dr.William Loxberg) ได้นำมา ทดลองปลูกตามบริเวณฝั่งทะเลโคโรแมนเดล ของอินเดีย และที่สวนพฤกษชาติของกัลกัตตา เชื่อว่า แหล่งกำเนิดอุตสาหกรรมการผลิตเส้นใยจากปอแก้ว ได้เกิดขึ้นในอินเดียเป็นแห่งแรก ในพ.ศ. ๒๔๕๗ พีเจ เวบสเตอร์ (P.J. Webster) ได้ค้นคว้าพบว่า ปอแก้วที่ปลูกกันมากทาง โกลด์โคสต์ (Gold coast) ของแอฟริกาตะวันตก มีลำต้นตรง แตกกิ่งก้านสาขาน้อยมาก จึงตั้ง ชื่อย่อยว่า แอลติสซิมา (Var. altissima) ซึ่งได้ปลูกแพร่กระจายทั่วไป โดยเฉพาะในประเทศไทย เพื่อใช้ผลิตกระสอบบรรจุธัญพืชและน้ำตาลทราย

            ปอแก้วมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ไฮบิสคุส ซับดาริฟฟา (Hibiscus sabdariffa) มีชื่อพื้นเมืองเรียกต่างกันไปตามท้องถิ่นที่ปลูก เช่น โรแซลล์ (roselle) ปูซาเฮมพ์ (pusa hemp) และชันนี (channi) เป็นต้น ปอแก้วมี ๒ ชนิดคือ ชนิดที่ ใช้กลีบรองดอกเป็นอาหารที่เรียกว่า กระเจี๊ยบ และชนิดที่ใช้เปลือกทำเส้นใย

กระเปาะปอแก้ว

            ๒. ปอคิวบา

            ปอคิวบามีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาแถบแองโกรา ซึ่งภูมิประเทศมีลักษณะร้อนชื้นอยู่ระหว่างเส้นละติจูด ๔๐° - ๔๘° เหนือ แล้วต่อมาจึงกระจัดกระจายออกไปแถบรัสเซีย และแมนจูเรีย จนถึงเส้นละติจูด ๓๐°ใต้

            การนำพันธุ์เข้ามาปลูกในประเทศไทย

            โดยเฉพาะอย่างยิ่งปอแก้วนั้น ค้นคว้าหลักฐานไม่พบ เท่าที่ทราบครั้งแรกเรียกกันว่า ปอแก้วจีน สันนิษฐานว่า คงมีผู้นำมาจากประเทศจีนหรือไต้หวันเป็นครั้งแรก แล้วต่อมาเปลี่ยนเป็นปอแก้วไทย และเป็นปอแก้วในปัจจุบัน ส่วนการนำพันธุ์ปอแก้วมาทดลองปลูก เริ่มมีมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยหลวงอิงคศรีกสิการ (นายอินทรีย์ จันทรสถิตย์) นำมาปลูกทดสอบพันธุ์ที่โรงเรียน เกษตรกรรมโนนวัด (เปลี่ยนชื่อเป็นสถานีทดลอง พืชไร่โนนสูง อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันได้ยุบสถานีไปแล้ว) ซึ่งขณะนั้นสังกัด อยู่ในกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๙๓ ประเทศไทยได้เริ่มปลูก ปอแก้วกันเพิ่มขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีเนื้อที่ปลูกประมาณ ๓๑,๐๐๐ ไร่ ได้ผลิตผลประมาณ ๔,๗๐๐ ตัน

            ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ นายเริ่ม บูรณฤกษ์ รองอธิบดีกรมกสิกรรม ได้นำเมล็ดพันธุ์ปอคิวบา จำนวน ๑๐๘ สายพันธุ์จากสหรัฐอเมริกา เข้ามาทดลองปลูกในประเทศไทย มอบหมายให้ กองการค้นคว้า และทดลอง (ปัจจุบันเป็นสถาบัน วิจัยพืชไร่) กรมกสิกรรม ทำหน้าที่ค้นคว้า ทดลองเพื่อหาพันธุ์ดีใช้ในการส่งเสริม

            ปอคิวบามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ไฮบิสคุส คานาบินุส ลินเนียส (Hibiscus Canabinus Linnaeus) มีชื่อพื้นเมืองเรียกต่างกันไปตามท้องถิ่น ที่ปลูก เช่น เคนัฟ (kenal) เดคคานเฮมพ์ (deccan hemp) บิมลิพาตัม (bimlipatam) และเมสตา (mesta) เป็นต้น

ต้นปอคิวบา