ต้นปอสา ลำต้นมีสีน้ำตาลเข้มเปลี่ยนเป็นสีดำลายน้ำตาลเมื่ออายุมากขึ้น
ช่อดอกสาตัวผู้ | พืชที่ใช้ทำกระดาษ
ในเรื่องเยื่อกระดาษ (paper pulp) สำหรับทำกระดาษนั้น พืชแทบทุกชนิดให้เส้นใย แต่ต้องพิจารณาด้านการใช้ประโยชน์ให้มีประสิทธิภาพสูง การทำกระดาษ หรือเยื่อกระดาษ เป็นกระบวนการตีกลุ่มเส้นใย เอาสิ่งเจือปนออก เพื่อให้ได้เซลลูโลส ทำให้เป็นชิ้นสั้นๆ เพิ่มน้ำ ให้เป็นสารแขวนลอยในน้ำ สั่นให้เข้ากันดี แล้วนำเอาน้ำออก ทิ้งให้เยื่ออยู่บนตาข่าย หรือตะแกรง ตลอดจนทำให้จับตัวกันแน่นเป็นกระดาษ เมื่อแห้ง ในกรณีทำเยื่อกระดาษจากไม้นั้น เมื่อเอาเปลือกออกแล้ว ต้มชิ้นไม้ พร้อมกับบดด้วยเครื่องบด หรือหินทราย (sand-stones) ป่นให้ชิ้นไม้เป็นเส้นใยป่นๆ จากนั้นล้าง แล้วกรอง ก็จะได้เยื่อสำหรับทำกระดาษ
นอกจากนั้น มีการใช้สารเคมีช่วยทำปฏิกิริยา โดยต้มชิ้นไม้ในสภาพความกดดัน และอุณหภูมิสูง มีด่าง เช่น โซดาไฟ รวมอยู่ด้วย หรือผสมกับโซเดียมซัลเฟต ตลอดจนแคลเซียมไบซัลไฟต์สำหรับไม้แข็ง
ปอสา (paper mulberry tree)
ปอสา หรือต้นสา เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นกลม มีสีน้ำตาลเข้ม เมื่ออายุมากขึ้น จะเปลี่ยนเป็นสีดำลายน้ำตาล มียางสีขาวข้น ใบมี ๒ ลักษณะ คือ ใบหยักหรือเว้า ๓-๕ แฉก และใบกลม ซึ่งอาจพบอยู่บนต้นเดียวกัน มีดอกตัวผู้และตัวเมียแยกจากันคนละต้น (dioecious) ลำต้นส่วนที่เป็นเนื้อไม้จะให้เส้นใยสั้น ส่วนเปลือกให้เส้นใยยาวและเหนียวกว่าส่วนเนื้อไม้เยื่อ (ส่วนผสมของเส้นใยไม้ที่ชื้นจับตัวกันเป็นกระดาษ) ที่ได้จากปอสาเหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้ทำกระดาษ ร่ม ดอกไม้ประดิษฐ์ หรือดอกไม้กระดาษสา
โดยทั่วไปแล้ว พืชที่ปลูกแล้วนำไปใช้ทำเยื่อกระดาษ หรือกระดาษในประเทศไทยนั้น ปอแก้ว ซึ่งเป็นพืชที่ลอกเอาเส้นใยไปใช้ในอุตสาหกรรมเชือกและสิ่งทอ ก็สามารถนำไปใช้ทำเยื่อกระดาษได้ โดยโรงงานซื้อทั้งต้นที่ตากแห้งไปป้อนโรงงาน นอกเหนือไปจากการใช้ปอสา ไผ่ ยูคาลิปตัส และสนเกี๊ยะ หรือสนสามใบที่หาได้ยาก ปอสาเป็นผลจากต้นไม้ที่ขึ้นตามธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับไผ่ ส่วนยูคาลิปตัส และสนเกี๊ยะนั้น ก็คงเป็นลักษณะเช่นเดียวกับปอ คือ ปลูกกัน เพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่น นอกเหนือไปจากทำเยื่อกระดาษ สำหรับฟางข้าว และชานอ้อย ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการทำนา ผลิตข้าว และอุตสาหกรรมน้ำตาล มีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมกระดาษเพียงบางส่วน เช่นเดียวกับพืชอื่นๆ ซึ่งมีเซลลูโลส |