การขยายเมล็ดพันธุ์ในประเทศไทย
ในประเทศไทยซึ่งการผลิตเมล็ดพันธุ์พึ่งเริ่มพัฒนา วิธีการผลิตพันธุ์พืชจึงยังเป็นการดัดแปลง และผสมผสานวิธีการต่างๆ ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และทางการเกษตรของประเทศ ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์มีดังนี้
การบรรจุเมล็ดพันธุ์ลงกระสอบ
๑. เกษตรกร
เมล็ดพันธุ์พืชส่วนใหญ่ที่เกษตรกรใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นเมล็ดพันธุ์พืชที่เกษตรกรเก็บและคัดเลือกไว้ใช้เอง โดยเก็บจากเมล็ดพืชที่ปลูกเป็นการค้าโดยทั่วไปนั่นเอง แต่แบ่งเมล็ดบางส่วนเหลือไว้ใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ในฤดูถัดไป โดยมีวิธีการคัดเลือก และเก็บรักษาที่ดี แตกต่างกว่าการเก็บเมล็ดพืชตามปกติ เช่น คัดเลือกจากฝักหรือรวงที่มีลักษณะดีเป็นพิเศษ และคลุกสารเคมีกำจัด และป้องกันศัตรูพืช ก่อนเก็บในภาชนะที่จัดโดยเฉพาะ
๒. หน่วยงานของรัฐ
ปัจจุบันมีหน่วยงานของรัฐหลายแห่งขยายเมล็ดพันธุ์พืชจำหน่ายแก่เกษตรกรโดยตรง เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และมหาวิทยาลัยบางแห่ง หน่วยงานเหล่านี้มีเจ้าหน้าที่เครื่องมือและอุปกรณ์ และเทคนิคการผลิตค่อนข้างดีเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตจึงมีคุณภาพดี แต่เนื่องจากการบริการ ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ และงบประมาณหมุนเวียนจำกัด ดังนั้นปริมาณเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตได้จึงยังไม่มากนัก และยังไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกรทั้งประเทศ เมล็ดพันธุ์ที่ผลิต ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง ปอแก้ว และฝ้ายเป็นต้น
๓. บริษัทเอกชน
เดิมบริษัทเอกชนที่ผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่าย ส่วนใหญ่เน้นเฉพาะเมล็ดพันธุ์ผัก เพราะเกษตรกรผู้ปลูกไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองได้ เนื่องจากสภาพดิน ฟ้า อากาศ ไม่เหมาะสม และต้องตัดต้นหรือผลิตผลในระยะที่ต้นยังสดอยู่ แต่ปัจจุบันมีการขยายตัวด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเพิ่มขึ้น เพราะเป็นพืชที่มีการนิยมใช้พันธุ์ลูกผสมมากขึ้น ปัจจุบันมีบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์พืชในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า ๑๐ บริษัท และมีปริมาณการผลิตประมาณปีละกว่า ๓ ล้านกิโลกรัม