เล่มที่ 18
สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            การมีที่พักอาศัย เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งของการอยู่รอดของมนุษย์มนุษย์จำ เป็นต้องมีที่พักอาศัย ในสมัยแรกเริ่ม มนุษย์ได้อาศัยแหล่งธรรมชาติเป็นที่พักนอนชั่วคราว เช่น ถ้ำและเพิงหินภายหลังก็รู้จักตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร ดัดแปลงสร้างบ้านจากวัสดุที่หาได้จากธรรมชาติในบริเวณดินแดนของประเทศ ไทยปัจจุบัน นักโบราณคดีต่างก็ได้ทำการศึกษาขุดค้นแสวงหาร่องรอยของมนุษย์สมัยโบราณ และตามหลักฐานข้อมูลที่ได้มาปรากฏว่า เรามีหลักฐานที่แสดงถึงกิจกรรมของมนุษย์ที่มีอายุย้อนหลังไปประมาณ เกือบ๔๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว ในสมัยนั้นถือว่า เป็นสมัยก่อนประวัติศาสตร์ กล่าวคือ เป็นสมัยที่มนุษย์ยังไม่รู้จักการใช้ภาษา เขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมตัวเอง

มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มักใช้เพิงหินหรือถ้ำหินปูนที่อยู่สูงจากพื้นดินเป็นที่พักอาศัย ในภาพเป็นที่พักอาศัยเพิงหิน "นา ชิง" อำเภอเมืองจังหวัดกระบี่
            จากข้อมูลทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งมีทั้งที่ราบ ที่สูง หุบเขา แม่น้ำ ทะเลสาบ และชายฝั่งทะเล ปรากฏว่า ในสมัยแรกๆ มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์อาศัยอยู่กันเป็นกลุ่มๆ ตามสถานที่ธรรมชาติต่างๆ เช่น เพิงหิน และถ้ำตามภูเขา ที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำและอาหาร มนุษย์ในสมัยนั้นเลือกสถานที่พักอาศัยที่อยู่สูงจากพื้นที่ราบ ที่ปลอดภัยจากสัตว์ร้ายนานาชนิด และสามารถหลบลมหรือฝนได้ แหล่งที่พักอาศัยนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากแหล่งที่มนุษย์สามารถเก็บหาพืชผัก ผลไม้ และจับสัตว์ ทั้งบนบน และในน้ำ เช่น ปลาและหอยมาบริโภคได้วันต่อวัน

ลักษณะและรูปแบบต่างๆ ของขวานหินขัดที่ทำเสร็จแล้ว และที่ยังทำไม่เสร็จโดยมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ทิ้งไว้บนเพิงหิน "นาชิง" อำเภอเมืองจังหวัดกระบี่
            มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ไม่สามารถอยู่อย่าง โดดเดี่ยวได้ การรวมตัวเป็นกลุ่มของมนุษย์ในสมัยแรกเริ่มสันนิษฐานว่า คงเริ่มเป็นกลุ่มเล็กๆ แบบหนึ่ง "ครอบ ครัว" ที่มีผู้นำ และผู้พึ่ง รวมทั้งเด็ก การออกไปหาอาหารก็คงเป็นกิจกรรมประจำวัน เพื่อยังชีพ โดยมีการแบ่งแรงงานว่า ใครทำอะไร เช่น ออกเก็บหาอาหารพวกพืชผลไม้ ล่าสัตว์ทั้งเล็กและใหญ่ และอยู่ดูแลเลี้ยงเด็ก เป็นต้น มนุษย์ได้ประสบการณ์ที่สัมผัสกับธรรมชาติ โดยใช้การสังเกต ความทรงจำ และการวิเคราะห์หาสาเหตุ และเหตุผล มาอธิบายปรากฏการณ์ และพฤติกรรมต่างๆ ของพืช สัตว์ และธรรมชาติ ทำให้มนุษย์ได้เรียนรู้ โดยมีการถ่ายทอดประสบการณ์เหล่านี้ไปชั่วลูกหลาน
การปลูกข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของชุมชนในภูมิภาคต่างๆ ในประเทศไทยมักจะทำกันมากในพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงตามฤดูกาล
การปลูกข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของชุมชนในภูมิภาคต่างๆ ในประเทศไทยมักจะทำกันมากในพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงตามฤดูกาล
            ประสบการณ์ที่มนุษย์ได้เรียนรู้ ทำให้มนุษย์สามารถเข้าใจพฤติกรรมของธรรมชาติได้ดีขึ้น มนุษย์ได้เรียนรู้ว่า พืชและสัตว์ประเภทใดที่อาจนำมาบริโภคเป็นอาหารได้ ในฤดูกาล และสถานที่ใด มีพืชหรือสัตว์ประเภทไหน ที่จะมีให้เก็บหรือจับมาเป็นอาหารได้ เมื่อแหล่งอาหารของมนุษย์หมดลง หรือมีไม่พอให้สมาชิกกลุ่มบริโภค ก็ต้องโยกย้ายเร่ร่อนออกหาแหล่งอาหารใหม่ เพื่อยังชีพ มนุษย์ในสมัยนั้นยังไม่รู้จักการเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์เป็นอาหาร จึงต้องพึ่งอาหารที่ธรรมชาติมีให้ตามแหล่งและฤดูกาล การเร่ร่อนนี้ ทำให้มนุษย์ตั้งถิ่นฐานแบบชั่วคราว ไม่ถาวร ซึ่งเป็นรูปแบบของการตั้งถิ่นฐานในสมัยแรกเริ่มของมนุษย์สมัยก่อน ประวัติศาสตร์ในประเทศไทย

            หลักฐานทางโบราณคดีของการตั้งถิ่นฐานในสมัยแรกเริ่ม ของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในประเทศไทย มีปรากฏตามถ้ำและเพิงหินต่างๆ เช่น ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดกระบี่ ร่องรอยที่มนุษย์ในสมัยนั้นทิ้งไว้ให้นักโบราณคดีได้ศึกษา มีพวกเครื่องมือ เครื่องใช้ที่ทำด้วยหิน เช่น ขวานหินขัด และวัตถุอินทรีย์ เช่น กระดูกสัตว์ เปลือกหอย และไม้ นอกจากนี้ก็มีร่องรอยของกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งเถ้าถ่าน ที่แสดงถึงการใช้ไฟ การทำอาหาร และเศษขยะ เช่น กระดูกสัตว์ ก้างปลา เปลือกหอย และเมล็ดจากพืชและผลไม้ หลักฐานเหล่านี้ ทำให้เราสามารถทราบถึงสภาพแวดล้อมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ว่า มนุษย์ในสมัยแรกเริ่มนั้น ออกแสวงหา และดัดแปลงทรัพยากรทางธรรมชาติ และปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมอย่างไร เพื่อการอยู่รอด

            มนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ได้พัฒนาตัวเอง ในการใช้ประโยชน์จากวัสดุธรรมชาติ มาช่วยในการทุ่นแรง และยังชีพ หลักฐานทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่า ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ช่วงหลัง มนุษย์ได้พัฒนาตัวเองในการยังชีพ ทั้งทางด้านเทคโนโลยี สังคม และวัฒนธรรม ที่เริ่มจากเรื่องง่ายๆ ไปสู่ความซับซ้อนที่มีมากขึ้น ตามวิวัฒนาการทางวัตถุ และความคิดของมนุษย์ มนุษย์ได้เรียนรู้เรื่องการเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ มีความสามารถในการผลิตเครื่องปั้นดินเผาจากดิน สามารถถลุงโลหะ เพื่อผลิตเครื่องมือ เครื่องใช้ และเครื่องประดับ ที่เป็นทองแดง สัมริด และเหล็ก ความรู้เหล่านี้ ทำให้มนุษย์เข้าใจสภาพแวดล้อมรอบตัวเขาได้ดีขึ้น สามารถควบคุมสถานการณ์บางอย่างของธรรมชาติได้บ้าง เช่น การผลิตหรือหาอาหาร เพื่อบริโภค แล้วมีเหลือพอที่จะเก็บสะสมไว้สำหรับวันอื่น ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงไม่จำเป็นที่ต้องเร่ร่อนอีกต่อไป เขาสามารถตั้งถิ่นฐานอยู่อย่างค่อนข้างถาวรได้ ส่วนขนาดของกลุ่มก็มีการขยายใหญ่ขึ้นไปตามจำนวนของสมาชิก ที่มีเพิ่มขึ้นภายในชุมชนนั้น ชุมชนแบบนี้ปรากฏอยู่ในภาคต่างๆ ของประเทศไทย

            หลังจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย เข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ตอนต้น เมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว มีการบันทึกเหตุการณ์โดยสังคมภายนอก (ตะวันตก และตะวันออก) ที่เขียนเกี่ยวกับดินแดนในประเทศไทย ต่อมาจึงเริ่มมีการจารึกเหตุการณ์ในประเทศไทย ในช่วงนี้เราจะเห็นรูปแบบของการตั้งถิ่นฐานนั้น ได้เปลี่ยนไปจากการใช้ถ้ำและเพิงหินเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราว มาเป็นการตั้งบ้านเรือน รวมเป็นชุมชน อยู่อย่างถาวรในที่ราบลุ่มบนเนินตามริมฝั่งแม่น้ำ และลำน้ำต่างๆ

            ประเทศไทยตั้งอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตร และอยู่ในเขตอิทธิพลของลมมรสุม ซึ่งพัดผ่านเป็นประจำตามฤดูกาล ทำให้มีฝนตกประจำปี ซึ่งเหมาะกับการปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร ปรากฏการณ์เช่นนี้ ทำให้เกิดสังคมเกษตรกรรมขึ้นในทุกๆ ภาค โดยพืชหลักที่สำคัญ และใช้เป็นอาหารหลัก สำหรับสังคมในประเทศไทยก็คือ ข้าว การตั้ง ถิ่นฐานของชุมชนเกษตรกรรมนี้ ก็ต้องมีการเลือกสถานที่ที่เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอย่างถาวร และการทำเกษตรกรรมบริเวณดังกล่าวนี้ พบตามป่าเขา บนคาบสมุทรไทย เรื่อยลงไปจนถึงเขตประเทศมาเลเซีย ส่วนที่เป็นป่าโปร่ง หรือทุ่งหญ้า มีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัย ผู้คนสามารถตั้งหลักแหล่งทำการเกษตรกรรมได้ รวมทั้งบริเวณตามชายทะเลที่มีที่ราบลุ่ม และมีการติดต่อกับภายนอกทางทะเลนั้น ก็มีมากในดินแดนประเทศไทย