เล่มที่ 18
สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ลักษณะของสถาปัตยกรรมของตึกที่มีอิทธิพลของจีน ที่นิยมสร้างกันในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ ในตัวเมืองจังหวัดภูเก็ต
ลักษณะของสถาปัตยกรรมของตึกที่มีอิทธิพลของจีน ที่นิยมสร้างกันในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ ในตัวเมืองจังหวัดภูเก็ต

การกรีดยาง เป็นอาชีพหลักอาชีพหนึ่ง โดยเฉพาะในภาคใต้ของประเทศไทย
การกรีดยาง เป็นอาชีพหลักอาชีพหนึ่ง
โดยเฉพาะในภาคใต้ของประเทศไทย
ภาค ใต้

            บริเวณภาคใต้ของประเทศไทยนั้น นับเนื่องตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป เป็นบริเวณที่คาบสมุทร ไปจนจดเขตแดน ประเทศมาเลเซีย ลักษณะภูมิประเทศประกอบด้วยบริเวณชายทะเลทั้งสองด้านคือ ด้านตะวันออก และตะวันตก มีเทือกเขาผ่ากลางเป็นกระดูกสันหลัง บริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกซึ่งติดกับอ่าวไทยนั้น มีลักษณะเป็นแผ่นดินงอกทางด้านตะวันออก อันเกิดจากการกระทำของคลื่นลม และลำน้ำสายสั้นๆ ที่ไหลลงจากภูเขาทางทิศตะวันตก เป็นเหตุให้เกิดบริเวณที่เป็นสันทรายยาวขนานไปกับชายฝั่งทะเล และบริเวณที่เป็นดินดอนสามเหลี่ยมเล็กๆ ตามปากแม่น้ำ การตั้งหลักแหล่งของชุมชนมนุษย์ในแถบนี้ จึงมักตั้งอยู่บนสันทราย ซึ่งเป็นบริเวณที่สูง น้ำท่วมไม่ถึง รูปแบบของชุมชนจึงมีลักษณะเป็นแนวยาวไปตามสันทราย ซึ่งมักจะมีถนนผ่านกลาง การคมนาคมจึงต้องอาศัยการติดต่อกับชุมชนต่างๆ ที่อยู่ติดต่อกันตามสันทราย ในขณะเดียวกันบริเวณด้านข้างของสันทรายทั้งสองด้าน ก็เป็นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมถึง เหมาะกับการเพาะปลูกข้าวอย่างยิ่ง ทำให้ในบางแห่งทางภาคใต้ เช่น บริเวณต่ำจากนครศรีธรรมราช ลงมายังเขตจังหวัดสงขลา และพัทลุง กลายเป็นแหล่งปลูกข้าวที่เลี้ยงคนส่วนใหญ่ในภูมิภาคได้ นอกจากนั้นบรรดาเมืองสำคัญๆ เช่น นครศรีธรรมราช ไชยา ปัตตานี ก็ล้วนแต่ตั้งอยู่บนบริเวณที่เป็นสันทรายทั้งสิ้น

            ส่วนบริเวณที่เป็นดินดอนสามเหลี่ยมนั้น มักพบตามบริเวณที่มีลำน้ำไหลจากเทือกเขาทางตะวันตกมาออกทะเล ทำให้เกิดการทับถมเป็นที่ราบลุ่ม และบริเวณปากน้ำ ตรงที่ออกทะเลก็มักกลายเป็นทะเลตม ยื่นล้ำออกไป อย่างเช่น บริเวณปากแม่น้ำตาปี ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นตัวอย่าง บริเวณเช่นนี้มักมีชุมชนตั้งเรียงรายอยู่ตามสองฝั่งแม่น้ำ แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ลึกเข้าไปตามลำแม่น้ำราว ๑๒-๑๔ กิโลเมตร จากชายฝั่งทะเล เพราะต่อจากนั้นเข้าไป ก็มักจะเข้าสู่บริเวณที่เป็นป่าดงสูง ไม่เหมาะกับการตั้งหลักแหล่ง อีกทั้งพื้นที่ราบลุ่มที่จะทำการเพาะปลูกก็มีน้อย โดยมากในพื้นที่ ซึ่งกลายเป็นบ้านเมืองใหญ่มักจะเป็นบริเวณที่มีทั้งสันทราย และลำน้ำอยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน

            หลักฐานทางโบราณคดีเท่าที่ทราบขณะนี้ บ่งแสดงให้เห็นว่า บริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของภาคใต้ของประเทศไทย เป็นบริเวณที่เคยมีการตั้งหลักแหล่งบ้านเมืองมาแต่โบราณ เพราะพบร่องรอยของชุมชนมนุษย์ในสมัยยุคต้นประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์ มากกว่าชายฝั่งทะเลทางด้านตะวันตก บริเวณสำคัญๆ ที่พบ ร่องรอยของชุมชนโบราณ ได้แก่ เขตอำเภอเมือง จังหวัดชุมพร อำเภอท่าชนะ ไชยา ท่าฉาง เลยไปจนถึงอำเภอพุนพิน และกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อจากนั้นก็มีอำเภอสิชล ท่าศาลา และอำเภอเมือง นครศรีธรรมราช อำเภอตะโหมด สทิงพระ และอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา รวมไปถึงบริเวณรอบๆ ทะเลสาบในเขตจังหวัดพัทลุงด้วย

            เหตุที่เกิดมีชุมชนบ้านเมืองมากตามชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกนี้ คงไม่ได้ขึ้นอยู่กับการที่เป็นบริเวณที่มีพื้นที่ราบลุ่ม ที่เหมาะแก่การเพาะปลูกมากกว่าบริเวณอื่นแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากยังเป็นเพราะว่า บริเวณนี้ตั้งอยู่บนเส้นทางการคมนาคมทางทะเลระหว่างบ้านเมืองต่างๆ ทั้งในหมู่เกาะ และพื้นแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ว่าได้ ปรากฏว่า มีโบราณวัตถุที่มีอายุนับแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๔-๕ แบบที่พบในประเทศเวียดนาม และประเทศจีนตอนใต้ ตามชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของประเทศไทย โบราณวัตถุเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่า มีกลุ่มชนต่างเผ่าพันธุ์จากภายนอก เดินทางเข้ามา หรือผ่านมาในประเทศไทย ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังหมู่เกาะในประเทศอินโดนีเซีย และที่อื่นๆ แม้กระทั่งในยุคประวัติศาสตร์เองคือ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ ก็ปรากฏพบร่องรอยของบรรดาเมืองท่า และสถานที่พักสินค้าในเขตอำเภอท่าชนะ ไชยา นครศรีธรรมราช และสงขลา การติดต่อค้าขายกับภายนอกนี้เอง เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้หัวเมืองทางภาคใต้เจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะเมืองนครศรีธรรมราช ที่เติบโตขึ้น ถึงขนาดเป็นรัฐสำคัญทางภาคใต้ ที่มีอำนาจทางทะเลในคาบสมุทรไทยและมาเลเซียทีเดียว ความสำคัญในฐานะที่เป็นแหล่งเมืองท่าของทางภาคใต้ดังกล่าวนี้ ยิ่งเน้นหนักมากขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ทำให้เกิดบ้านเมืองชายทะเลมากกว่าเดิม เมืองนครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี ก็กลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญ ที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ

            ในขณะที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก เกิดเป็นแหล่งบ้านเมืองใหญ่โตมาแต่สมัยโบราณนั้น ทางชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกยังอยู่ในสภาพที่ล้าหลัง ทั้งนี้เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่สูง อีกทั้งชายฝั่งทะเลมีลักษณะถูกคลื่นลมพัดจนสึกกร่อน มีพื้นที่ราบลุ่มที่จะทำการเพาะปลูกน้อย ไม่เหมาะกับการที่จะตั้งหลักแหล่งทำมาหากิน อีกทั้งคลื่นลมก็พัดแรงจัด แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีพัฒนาการของชุมชนมนุษย์ในบริเวณนี้เลย ขณะนี้พบร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีของมนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ หลายแห่ง ตามถ้ำและภูเขาใกล้กับทะเล เช่น ในจังหวัดกระบี่ แต่บรรดามนุษย์เหล่านั้น อยู่ในสภาพที่ล้าหลัง เที่ยวเร่ร่อนหาอาหารตามทะเล และชายฝั่งทะเลเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าทางชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกจะมีพัฒนาการเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ เป็นบ้านเมืองแล้วก็ตาม ทางชายฝั่งด้านตะวันตกยังคงอยู่ในสภาพที่ล้าหลัง ความเจริญที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นบางบริเวณ หรือบางท้องที่เท่านั้น ซึ่งก็เป็นเพราะเหตุผลที่มาจากภายนอก ประการแรกก็คือ ในสมัยยุคต้นประวัติศาสตร์ การติดต่อทางทะเลได้ขยายตัวไปเป็นการเกี่ยวข้องกับบ้านเมืองทางตะวันตก อันได้แก่ อินเดีย เปอร์เซีย ลังกา กรีก และโรมัน

            การเดินทางจากบ้านเมืองทางตะวันตกเหล่านี้ ผ่านไปยังทะเลจีน ต้องผ่านคาบสมุทรไทย โดยเฉพาะต้องมีการขนถ่ายสินค้าข้ามคาบสมุทรไทยไปยังชายฝั่งทะเลด้าน ตะวันออก สมัยที่ยังไม่มีการเดินเรือโดยตลอด จากตะวันตก แล้วผ่านช่องแคบมะละกาไปยังจามปา เวียดนาม และจีน บริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของประเทศไทย ที่เหมาะสำหรับเป็นแหล่งจอดเรือ พักถ่ายสินค้าไปทางตะวันออก และรับสินค้าจากทางตะวันออกมาลงเรือ เพื่อเดินทางต่อไปยังบ้านเมืองทางตะวันตก คาดว่า คงเป็นบริเวณอ่าวพังงา ในเขตจังหวัดตรัง กระบี่ และพังงา เพราะเป็นบริเวณที่เหมาะสมในการจอดเรือ และขนถ่ายสินค้าผ่านช่องเขาหินปูน มายังต้นแม่น้ำตาปี แล้วเดินทางตามลำน้ำนี้ ไปออกชายฝั่งทะเลในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราชทางหนึ่ง กับทางอำเภอพุนพิน และอำเภอไชยาในเขตอ่าวบ้านดอนอีกทางหนึ่ง เหตุนี้จึงพบหลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นสิ่งของของชาวอินเดีย เปอร์เซีย กรีก และโรมัน นำเข้ามาในชุมชนโบราณที่ตั้งอยู่ในเขตอ่าวพังงาหลายแห่ง แห่งที่ สำคัญคงจะเป็นบริเวณคลองท่อม ซึ่งขณะนี้พบหลักฐานทางโบราณคดีมากมาย มีอายุอย่างน้อย ราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๙ ซึ่งร่วมสมัยกับแคว้นฟูนัน ที่มีศูนย์กลางอยู่แถวปากแม่น้ำโขงในประเทศเวียดนาม ความรุ่งเรืองของชุมชนชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกดังกล่าวนี้ คงรุ่งเรืองอยู่ไม่นาน เพราะสมัยหลังลงมา เมื่อมีการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา มายังทะเลจีนได้แล้ว การใช้เส้นทางข้ามคาบสมุทรไทย ก็คงหมดความสำคัญไปโดยปริยาย

            ถึงแม้ว่าการเป็นแหล่งขนถ่ายสินค้าข้ามคาบสมุทรจะหมดความสำคัญลง แต่ก็มีปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้บริเวณบางแห่ง ซึ่งเป็นชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของคาบสมุทรไทยนั้น มีพัฒนาการเป็นบ้านเป็นเมืองขึ้นในสมัยต่อมา นั่นก็คือ ความอุดมสมบูรณ์ของบางแห่ง ที่พรั่งพร้อมด้วยแร่ธาตุ รวมทั้งผลิตผลของป่า ที่เลยเข้าไปถึงบริเวณเทือกเขา ที่อยู่ตอนกลางของคาบสมุทรด้วย โดยเหตุนี้จึงมีชาวต่างประเทศ เช่น พวกอินเดีย และอาหรับ เข้ามาตั้งชุมชนอยู่ตามชายฝั่งทะเลหลายแห่ง อย่างเช่น บริเวณเกาะคงเขา ในเขตอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และตามบริเวณแม่น้ำลำคลองในเขตอำเภอนี้ แต่ว่าการเกิดของชุมชนดังกล่าวนี้ ก็ไม่ได้ขยายใหญ่โต จนเกิดเป็นรัฐหรือแว่นแคว้นขนาดใหญ่แต่อย่างใด มีหลักฐานทางเอกสารเป็นตำนาน หรือพงศาวดารกล่าวถึง คล้ายกับว่า ความเจริญเติบโตขึ้นเป็นชุมชนบ้านเมืองขนาดใหญ่ และมากมายหลายแห่งของชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกนี้ เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง ทั้งนี้เพราะว่า บริเวณชายฝั่งทะเลและเกาะมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุ จึงมีผู้คน โดยเฉพาะคนจีนเป็นจำนวนมาก อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่ง ทำเหมืองแร่ เกิดหัวเมืองชายฝั่งทะเล ที่สำคัญขึ้นหลายแห่ง เช่น เมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง ท้ายเมือง กระบี่ และภูเก็ต ปัจจุบันนี้ อาจกล่าวได้ว่า ประชาชนที่ตั้งรกรากอยู่ทางฝั่งทะเลด้านตะวันตกของประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายของชาวจีน ที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งทำเหมืองแร่ในยุคแรกๆ ซึ่งนอกจากผู้คนดังกล่าวนี้ อาคารบ้านเรือน และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ตามเมืองต่างๆ ก็ล้วนสะท้อนให้เห็นรูปแบบอิทธิพลของจีน ที่มีมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๔-๕ ทั้งสิ้น

            นอกจากเรื่องการทำเหมืองแร่แล้ว ก็มีการปลูกยางพารา ซึ่งเป็นปัจจัยอีกอย่างหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับการตั้งรกรากทำมาหากินของผู้คนในภาคใต้ ทั้งทางชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก และตะวันออก ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่นำเข้ามาปลูกจากภายนอก ในสมัยอาณานิคม ที่ชาวตะวันตกเข้ามาปกครองบ้านเมือง ในแหลมมลายู การปลูกยางพารา ทำให้มีการขยายตัวของชุมชน ที่เคยตั้งหลักแหล่งอยู่ตามที่ราบลุ่ม บริเวณชายฝั่งทะเล เข้าไปยังบริเวณภายใน ที่เคยเป็นป่าและภูเขา เกิดการถางป่าตัดต้นไม้อยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะปลูกยางพาราขึ้นแทน ทั้งการทำเหมืองแร่ และการปลูกยางพารา ดูเหมือนมีบทบาทสำคัญมาก ในการทำให้ผู้คนในภาคใต้ที่ต่างเผ่าพันธุ์ และต่างภาษา อยู่รวมกันในลักษณะที่ต้องพึ่งพากัน อย่างเช่น บรรดาคนจีน หรือลูกหลานคนจีน ที่อยู่ในสังคมเมือง เป็นเจ้าของเหมืองแร่ และสวนยาง ส่วนในชนบทตามป่าและสวนยาง เป็นที่อยู่ของคนมุสลิมพื้นเมือง ทำหน้าที่เป็นกรรมกรสวนยาง และเหมืองแร่ ยังมีชนพื้นเมืองอีกกลุ่มหนึ่ง คือ พวกชาวเล มีอาชีพเป็นชาวประมง อาศัยอยู่ตามชายทะเล ทั้งทางฝั่งตะวันออก และตะวันตก โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกนั้น มีเป็นจำนวนมาก เช่น ในเขตจังหวัด กระบี่ พังงา และภูเก็ต คนเหล่านี้แต่ก่อนเคยมีอาชีพเร่ร่อน และโยกย้ายถิ่นไปเรื่อยๆ แต่ปัจจุบันเริ่มตั้งหลักแหล่งติดที่ อยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านใหญ่แถวชายทะเล ในด้านวัฒนธรรม ชนกลุ่มนี้ยังอยู่ในสภาพชนกลุ่มน้อย