เล่มที่ 18
สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ภาคเหนือ

            นับตั้งแต่บริเวณเหนือเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ ตาก เพชรบูรณ์ ขึ้นไปเป็นเขตที่ภูมิประเทศเปลี่ยนเป็นบริเวณที่มีภูเขาทอดกันลงมา คล้ายกับนิ้วมือ ที่แผ่อยู่บนฝ่ามือ ในลักษณะจากเหนือลงใต้และช่องว่างระหว่างเชิงเขา หรือระหว่างนิ้วมือนั้น คือ บริเวณที่ราบลุ่มในหุบเขา ที่มีลำน้ำไหลผ่าน อาจแบ่งบริเวณหุบเขาใหญ่ๆออกได้ตามลำน้ำสำคัญๆ โดยเริ่มทางด้านตะวันตกไปตะวันออก ได้แก่ บริเวณลุ่มน้ำปิงที่อยู่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูนลุ่มน้ำวังในเขตจังหวัดลำปาง ลุ่มน้ำยมในเขตจังหวัดแพร่ และลุ่มน้ำน่านในเขตจังหวัดน่าน ถัดมาทางด้านตะวันออกเป็นบริเวณลุ่มน้ำของลำน้ำที่เป็นสาขาของแม่น้ำโขง ได้แก่ ที่ราบลุ่มน้ำแม่ลาว แม่กก และแม่วังซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ในเขตจังหวัดเชียงราย และพะเยา

            ดังนั้นจะเห็นได้ว่า บริเวณที่เป็นภาคเหนือทั้งหมด มีลักษณะภูมิประเทศที่ประกอบด้วยที่ราบลุ่มตามหุบเขา และบริเวณภูเขาที่เป็นที่สูง บริเวณหุบเขาเป็นที่ราบลุ่มมีลำน้ำไหลผ่าน เป็นที่เหมาะแก่การกสิกรรมโดยเฉพาะการปลูกข้าว ส่วนบริเวณที่สูงภูเขานั้นมีป่าไม้และพันธุ์ไม้ใหญ่นานาชนิดขึ้นปกคลุม โดยเฉพาะไม้สักซึ่งเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญของภูมิภาค การตั้งหลักแหล่งชุมชนของผู้คนในภาคเหนือนี้ มีทั้งในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยหลังๆ ลงมาในยุคประวัติศาสตร์ ปัจจุบันนักโบราณคดีสำรวจ และขุดพบหลักฐานทางโบราณคดี ที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อประมาณ ๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว มีผู้คนอาศัยอยู่ตามถ้ำใกล้ธารน้ำตามภูเขา ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกของจังหวัดเชียงใหม่ (พิสิฐ เจริญวงศ์ ๒๕๒๕: ๑๐๕-๑๐๗) ผู้คนเหล่านี้นอกจากหาเลี้ยงชีพด้วยการเก็บผลหมากรากไม้ของป่า และล่าสัตว์เพื่อเลี้ยงชีพ ยังน่าจะรู้จักทำการเพาะปลูกพอสมควร มีความรู้ในการทำเครื่องปั้นดินเผาอย่างหยาบๆ ขึ้นมาใช้ และในสมัยหลังๆ ลงมาก็รู้จักใช้ต้นไม้มาขุดทำเป็นที่บรรจุศพคนตายไว้ตามถ้ำต่างๆ แต่ว่าเครื่องมือส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นหินกะเทาะแบบหยาบๆ สมัยต่อมา ในยุคที่มนุษย์รู้จักทำเครื่องมือหินขัด และตามมาด้วยยุคโลหะ พบโบราณวัตถุตามเนินเขา และที่ราบลุ่มบ้างเล็กน้อย ที่แสดงให้เห็นว่า มีผู้คนในยุคนี้ผ่านเข้ามา แต่คงยังไม่มีการตั้งหลักแหล่งเป็นบ้านเมืองใหญ่โตกันเท่าใด เพราะไม่พบหลักฐานอะไรมากไปกว่านี้ อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่ากลุ่มชนในภาคเหนือนั้น ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามภูเขาและที่สูงสืบเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่สมัยก่อน ประวัติศาสตร์ เกิดเป็นเผ่าพันธุ์หลายหมู่เหล่า ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ ก็มีผู้คนจากบริเวณอื่น ที่อาจจะเคลื่อนย้ายมาจากบริเวณภาคกลาง และบริเวณที่ราบลุ่มทางแม่น้ำโขงด้านตะวันออก และด้านเหนือ เข้ามาตั้งหลักแหล่ง และผสมผสานกับกลุ่มชนบางเผ่าบางเหล่า ที่เคลื่อนย้ายลงมาจากภูเขา และที่สูง มีการจัดตั้งบ้านเมืองขึ้นในที่ราบลุ่ม

            หลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ขณะนี้ แสดงให้เห็นว่า บริเวณลุ่มน้ำแม่ปิงในเขตที่ราบลุ่มเชียงใหม่ และลำพูน เกิดเป็นบ้านเมืองที่เป็นรัฐเรียกว่า หริภุญชัย ก่อนมีเมืองศูนย์กลางอยู่ที่เมืองลำพูน มีกษัตริย์ปกครอง และมีการติดต่อกับทางเมืองละโว้ หรือลพบุรีในภาคกลาง และเกี่ยวข้องกับเมืองมอญ ในลุ่มน้ำสาละวิน ในประเทศพม่า ร่องรอยของซากเมืองโบราณสมัยหริภุญชัย แสดงให้เห็นว่า เป็นการตั้งหลักแหล่งในที่ราบลุ่มอย่างแท้จริง เพราะบรรดาเมืองเหล่านั้น ล้วนตั้งอยู่ริมแม่น้ำ และลำน้ำทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม หลักฐานทางเอกสารชี้ให้เห็นว่า ผู้คนของรัฐหริภุญชัย มีทั้งพวกเม็งหรือมอญ พวกละโว้ที่อยู่บนพื้นราบ และพวกละโว้ที่อยู่บนที่สูง ผสมปนเปกัน นอกจากมีการตั้งบ้านเมืองในบริเวณลุ่มน้ำแม่ปิงแล้ว สมัยหลังๆ ลงมา ยังมีการขยายตัวไปสร้างเมืองในลุ่มน้ำแม่วัง ในเขตจังหวัดลำปางอีกด้วย เพราะพบหลักฐานทางโบราณคดี และหลักฐานทางเอกสารที่กล่าวว่า ชนกลุ่มเดียวกันที่มาจากเมืองลำพูนได้สร้างเมืองเขลางค์นคร ซึ่งต่อมาคือ นครลำปาง
ลักษณะของการตั้งชุมชนในภาคเหนือ ที่สร้างอยู่บนภูเขา ตามหุบเขา เช่นที่หมู่บ้านหล่มด้ง ดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
ลักษณะของการตั้งชุมชนในภาคเหนือ ที่สร้างอยู่บนภูเขา ตามหุบเขา เช่นที่หมู่บ้านหล่มด้ง ดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
            ทางบริเวณที่ราบลุ่มเชียงราย-พะเยา ในเขตลุ่มน้ำแม่สวง แม่กก และแม่อิง นั้น มีเอกสารด้านตำนาน และพงศาวดาร กล่าวถึงการสร้างบ้านแปงเมือง โดยกลุ่มชนที่อพยพมาจากทางเหนือและตะวันออก กับกลุ่มชนที่เคลื่อนย้ายลงมาจากเทือกเขา เช่น เทือกเขาบริเวณดอยตุง ในอำเภอแม่สาย เป็นต้น แต่หลักฐานทางโบราณคดีนั้น พบซากเมือง และโบราณสถานวัตถุ ที่สัมพันธ์กับพุทธศาสนา ตั้งแต่สมัยราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ เป็นส่วนมาก เห็นจะมีที่มีร่องรอยเก่าแก่กว่านี้ก็ที่เมืองพะเยา ซึ่งตั้งอยู่ริมกว๊านพะเยา ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เพราะพบโบราณวัตถุ ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ลงมา อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ทางที่ราบลุ่มเชียงใหม่ มีเมืองลำพูนเป็นศูนย์กลาง ในบริเวณลุ่มน้ำแม่ปิงนั้น ทางที่ราบลุ่มเชียงราย และพะเยา ก็มีเมืองสำคัญอยู่ที่เชียงราย บนฝั่งแม่น้ำกก และเมืองพะเยา ริมกว๊านพะเยา อันเป็นบริเวณต้นน้ำของแม่น้ำวัง ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เจ้าผู้ครองนครเชียงราย คือ พญามังราย ได้รวบรวมบ้านเมืองในเขตที่ลุ่มเชียงราย และพะเยา ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วยกกองทัพข้ามเทือกเขา มาตีรัฐหริภุญชัย หลังจากตีได้แล้ว ก็ผนวกบ้านเมืองทางภาคเหนือทั้งหมด ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยการสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้น เป็นศูนย์กลางของรัฐใหม่ที่เรียกว่า ล้านนา แคว้นล้านนา หรือลานนาไทยนี้ มีกษัตริย์ปกครองมาช้านาน จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยอย่างสมบูรณ์

            นับตั้งแต่มีการสร้างบ้านแปงเมืองขึ้น เป็นรัฐ เป็นต้นมา ชาวภาคเหนือ หรือพวกล้านนา ส่วนใหญ่จะตั้งหลักแหล่งบนที่ราบลุ่มในหุบเขา ตามริมลำน้ำ หรือลำธาร และมีอาชีพส่วนใหญ่ในการทำนา การขยายตัวของการตั้งถิ่นฐานนั้นก็คือ เคลื่อนย้ายเข้าไปหักร้างถางพงตามหุบเขาที่ยังไม่เคยมีผู้คนเข้าไปอยู่ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ อาจกล่าวได้ว่า เกือบไม่มีหุบเขาใดในภาคเหนือที่ยังว่าง โดยไม่มีผู้คนเข้าไปสร้างบ้านแปงเมือง แต่ทว่า การที่ตั้งหลักแหล่งในหุบเขาดังกล่าวนี้ ทำให้ชุมชนบ้านเมืองในภาคเหนือของประเทศ ต่างก็อยู่ในลักษณะที่กระจาย และแยกออกจากกัน ในสมัยก่อนๆ ต่างแยกกันอยู่ตามลำพัง จะมีความสัมพันธ์กันก็แต่เพียงเรื่องทางการเมือง และวัฒนธรรม คือ เมืองหนึ่งๆ ในแต่ละหุบเขา ก็เป็นเครือข่ายในการปกครองของเมือง ที่เป็นศูนย์กลาง และมีการนับถือพระพุทธศาสนา ตลอดจนการประกอบพิธีกรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างเหมือนกัน ส่วนในด้านสังคม และเศรษฐกิจ ดูเหมือนจะจำกัดอยู่ในกลุ่มแต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ

            ลักษณะเด่นชัดในทางสังคม และวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชุมชนในภาคเหนือ ที่ไม่เหมือนกับภาคอื่นๆ ก็คือ บรรดาชุมชนหมู่บ้านต่างๆ ที่ อยู่ในหุบเขาเดียวกันนั้น จะต้องมีความสัมพันธ์กันทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด จึงจะอยู่ร่วมกันได้ สิ่งนี้แลเห็นได้จากการ ร่วมมือกันในการทำให้มีการชลประทาน เหมือง ฝายขึ้น นั่นก็คือ แต่ละชุมชนจะต้องมาร่วมกันทำ ฝาย หรือเขื่อนกั้นน้ำ และขุดลอกลำเหมืองเพื่อ ระบายน้ำจากฝายที่กั้นลำน้ำไปเลี้ยงที่นาของ แต่ละชุมชน ทั้งนี้เป็นเพราะในแต่ละหุบเขานั้น ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ลาดลงสู่บริเวณที่เป็น แอ่งตอนกลางที่มีลำน้ำไหลผ่าน ลำน้ำดังกล่าวนี้ เกิดจากลำธารหรือลำน้ำสาขาที่ไหลลงจากที่สูงทั้ง สองข้างหุบเขามาสมทบด้วย จำนวนลำน้ำเหล่านี้ มีจำกัดไม่เพียงพอแก่การเพาะปลูกของผู้คนทั่วไป จึงจำเป็นต้องทำฝายทดน้ำ และขุดเหมืองจาก บริเวณลำน้ำหรือธารน้ำนั้นเข้าไปเลี้ยงที่นาและ เพื่อการใช้น้ำของชุมชน จึงต้องมีการออกแรงร่วมกัน เกิดมีกฎเกณฑ์ และแบบแผน ในการร่วมแรงกันทำเหมืองฝายมาแต่โบราณ จึงเป็นกิจกรรมที่กษัตริย์เจ้าเมือง หรือนายบ้าน จะต้องคอยควบคุมดูแล ให้มีการร่วมมือกัน และลงโทษผู้ที่ไม่ร่วมมือ แต่ทว่าลักน้ำ ขโมยน้ำจากผู้อื่น จึงเกิดมีกฎหมายโบราณขึ้น ที่เรียกว่า กฎหมายมังราย เชื่อว่า พญามังรายผู้สร้างแคว้นล้านนาเป็นผู้บัญญัติขึ้น
ชาวไทยในทุกภาคจะมีงานรื่นเริงกัน เมื่อถึงเทศกาลต่างๆ เช่น ประเพณีสงกรานต์
ชาวไทยในทุกภาคจะมีงานรื่นเริงกัน เมื่อถึงเทศกาลต่างๆ เช่น ประเพณีสงกรานต์
ประเพณีการบวชของพุทธศาสนิกชน ที่อำเภอเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ประเพณีการบวชของพุทธศาสนิกชน
ที่อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
            กฎหมายมังรายนี้ มีการคัดลอก และจดจำกันสืบต่อมา จนสมัยหลังๆ ปัจจุบันนี้ การออกแรงร่วมมือกันทำเหมืองฝาย หรือซ่อมแซมเหมืองฝาย ก็ยังคงมีทำกันอยู่ แม้ว่าทางรัฐบาลจะกำหนดให้เป็นหน้าที่ของกรมชลประทานเข้ามาดำเนินการ แล้วก็ตาม การที่ชุมชนแต่ละแห่งต้องร่วมมือกันในเรื่องการชลประทานเหมืองฝายนี้ เป็นผลให้มีความสัมพันธ์กันทางสังคม และวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง ดังจะเห็นได้ว่า แม้ในปัจจุบัน ถ้าหมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่งมีงานประเพณี หรือจัดกิจกรรมทางสังคมขึ้นแล้ว ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงจะมาร่วมงานด้วยเสมอ เช่น มีงานบุญเกิดขึ้นที่วัดหนึ่งของชุมชนหนึ่ง ชุมชนและวัดที่อยู่ใกล้และไกล จะพากันแห่เป็นขบวนมาร่วมเสมอ มีงานเลี้ยง งานบุญ และงานสนุกสนานเฮฮาร่วมกัน นับว่า ทำให้เกิดโครงสร้างทางสังคม ที่กระชับกว่าชุมชนในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทยทีเดียว

            ชุมชนในภาคเหนือส่วนใหญ่ตั้งเป็นกระจุกเล็กๆ กระจายกันอยู่ตามริมลำน้ำ โดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง แต่ละแห่งไม่มีขนาดใหญ่เหมือนกับทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง แต่มักกระจายอยู่ตามพื้นที่ซึ่งเหมาะสม โดยทั่วไปแล้ว ในแต่ละหุบเขา หรือท้องถิ่นใหญ่ๆ ที่มีหลายชุมชนอยู่รวมกัน มักจะสร้างวัดหรือสถูปเจดีย์ขึ้น ตามไหล่เขา หรือบนเขา มองเห็นแต่ไกล เพื่อเป็นที่ผู้คนที่อยู่ต่างชุมชนกันมากราบไหว้ และประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมทั้งมีงานประเพณีรื่นเริงกัน เมื่อถึงเทศกาลการสร้างวัดหรือพระธาตุเจดีย์ อันเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นดังกล่าวนี้ เป็นประเพณีที่มีมาแล้วแต่โบราณ จึงมักพบซากวัดร้าง หรือพระสถูปเจดีย์ร้างบนภูเขา บนดอยอยู่ทั่วไป ยิ่งกว่านั้นผู้ครองบ้านเมืองในอดีต ยังได้สร้างพระมหาธาตุเจดีย์ขึ้นตามภูเขาหรือดอย ที่เป็นประธานของบ้านเมือง พระมหาธาตุเจดีย์เหล่านี้ เป็นส่วนมากทีเดียว ที่ได้รับการปฏิสังขรณ์ให้เป็นศาสนสถานที่สำคัญของบ้านเมืองสืบมาจนทุก วันนี้ อย่างเช่น ที่เมืองพะเยา มีพระธาตุจอมทอง เมืองแพร่ มีพระธาตุช่อแฮ และเมืองน่าน มีพระธาตุแช่แห้ง เป็นต้น

            การตั้งถิ่นฐาน เพื่อสร้างที่พักอาศัย เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่ง เพื่อการอยู่รอดของมนุษย์ วิวัฒนาการของการตั้งถิ่นฐานในประเทศไท เริ่มจากการเร่ร่อนของกลุ่มชนเล็กๆ ที่อาศัยแหล่งธรรมชาติ ตามถ้ำและเพิงหินที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำและอาหาร ครั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อหลายหมื่นปีมาแล้ว ถึงสมัยประวัติศาสตร์ที่มีการสร้างบ้านเมืองอยู่อย่างถาวร มีประชากรเป็นร้อยเป็นพัน มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ และปัจจุบัน ซึ่งมีประชากรเป็นแสน เป็นล้าน ตามเมืองขนาดใหญ่ การที่มนุษย์มีประสบการณ์ที่ทำให้เขาสามารถคาดคะเน ปรับตัว และปรับสภาพแวดล้อม เพื่อทำการเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ได้นั้น ทำให้มนุษย์หยุดเร่ร่อน และมีเวลาพัฒนาสังคม และวัฒนธรรม จนถึงระดับที่มีความซับซ้อนมาก ดังเห็นได้จากการสร้างศาสนสถาน หรือปราสาทหินขนาดใหญ่หลายแห่ง การติดต่อค้าขายกับสังคมภายนอก ก็มีส่วนในการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ โดยเฉพาะตามเมืองท่า หรือเมืองที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้า จากริมฝั่งทะเลเข้าไปถึงชุมชนภายในของภาคต่างๆ เมื่อสภาพเส้นทางของแม่น้ำเปลี่ยนแปลงไป เมืองที่สำคัญก็ได้โยกย้ายไปสร้างใหม่อยู่ในที่สำคัญกว่า ทำให้เมืองเก่าต่างก็หมดบทบาทหน้าที่ และความสำคัญไป ดังเห็นได้จากเมืองโบราณที่ถูกละทิ้งไปในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ของประเทศไทย