เล่มที่ 18
การแต่งกายของคนไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

เสื้อราชเปแตน (ราชปะแตน)
เสื้อราชเปแตน (ราชปะแตน)

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงฉลองพระองค์ชุดไทยพระราชนิยม
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ทรงฉลองพระองค์ชุดไทยพระราชนิยม

ชุดไทยจิตรลดา
ชุดไทยจิตรลดา

ชุดไทยบรมพิมาน
ชุดไทยบรมพิมาน

ชุดไทยดุสิต
ชุดไทยดุสิต

ชุดไทยศิวาลัย
ชุดไทยศิวาลัย

ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน อดีตประธานรัฐสภา ในชุดพระราชทานแขนยาวผ้าไหมพื้น
ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน อดีตประธานรัฐสภา ในชุดพระราชทานแขนยาวผ้าไหมพื้น

ฯพณฯ บัญญัติ บรรทัดฐาน รองนายกรัฐมนตรี ในชุดพระราชทานแขนยาวคาดเอว
ฯพณฯ บัญญัติ บรรทัดฐาน รองนายกรัฐมนตรี ในชุดพระราชทานแขนยาวคาดเอว            
การพระราชทานเสื้อ

            ในสมัยโบราณผ้าดีๆ หายาก และราคาแพง พระเจ้าแผ่นดินจะเก็บผ้าที่เป็นเครื่องราชบรรณาการ ที่ชาวต่างประเทศถวาย หรือทรงซื้อเก็บไว้ในพระคลัง เพื่อพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการที่มีความดีความชอบ ตลอดจนทหารประจำการ ในสมัยก่อนการให้เสื้อผ้าถือเป็นเกียรติยศอย่างหนึ่ง แม้พระเจ้าแผ่นดินต่อพระเจ้าแผ่นดิน ก็เคยถวายเสื้อให้แก่กัน เช่น มีกล่าวไว้ในจดหมายเหตุจีนฉบับหอสมุดแห่งชาติว่า พระเจ้ากรุงจีนได้ประทานหมังเหล็งไต๊เผา คือ เสื้อยศดำแพรหมังตึ้งปักลายมังกร แก่พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ก็ได้ขอประทานเสื้อลายมังกรจากพระเจ้ากรุงจีนมาอีก

            เสื้อที่พระราชทานแก่ผู้ที่มีความดีความชอบนั้น เท่าที่ปรากฏหลักฐานเรียกว่า เสื้อสนอบ เข้าใจว่า จะเป็นเสื้อชั้นดี มีค่าสูงกว่าเสื้ออื่นๆ เสื้อสนอบนี้มีกล่าวถึงในกฎหมายเก่า และกฎมณเฑียรบาลหลายแห่ง เช่น

            "ถ้าผู้ใดชนช้างชนะ บำเหน็จหมวกทองเสื้อสนอบทองปลายแขน ยกที่ขึ้นถือนา ๑๐,๐๐๐"

"อนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวประสาทผ้าเสื้อสนอบแก่ทหารพลเรือนทั้งหลาย เมื่อแขกเมืองมา และเบิกเข้าไปถวายบังคม บ่มิได้นุ่งห่มเสื้อสนอบ ซึ่งพระราชทานนั้น และนุ่งห่มผ้าอื่น มิควรให้มาดูร้าย"

            "อนึ่ง เสื้อสนอบพระราชทานนั้น แลเอาไปนุ่งห่มแห่งอื่นด้วยประการอันมิชอบ นุ่งห่มให้เศร้าหมอง ครั้งแขกเมืองมาไซ้นุ่งห่มเสื้อสนอบเก่านั้น ให้ดูร้าย เมื่อเบิกแขนเมืองนั้นเข้าถวายบังคม ควรให้ผู้ดูร้ายออกจากท้องพระโรงก่อน พิจารณาเห็นเป็นสัตย์ไซร้ให้ลงโทษดังนี้ ถ้าทีหนึ่งควรภาคทัณฑ์ ถึงสองทีให้ลงโทษตี ถึงสามทีให้ใส่คาแก่ผู้นั้นเสีย

            อนึ่ง เสื้อสนอบพระเจ้าอยู่หัวประสาททอง ควรเอาไปนุ่งห่มด้วยประการอันชอบ คือว่า การพระราชพิธีตรุษสารทก็ดี คือว่า การมหรสพแลโดยเสด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ถ้าแลผ้านั้นเก่าไซ้ ให้เอาส่งแก่ขุนมุนนายอนาพยาบาลให้เอาถวายในที่ราชรโหถาน แลบังคับทูลพระกรุณาขอพระราชทานเสื้อสนอบอื่นให้ อนึ่ง ถ้าจวนและมันถวายก็ดี ควรหาเสื้อสนอบอันควรนุ่งห่มอย่าให้ดูร้าย อนึ่ง ขุนมุนนายอนาพยาบาลแห่งอาตมาบอกกำหนดว่า จะเบิกแขกเมืองถวายบังคมพระเจ้าอยู่หัวก็ดี รู้เองก็ดี และมิได้มาทัน ควรให้ลงโทษเอาออกจากราชการ"

            ดังนี้ แสดงว่า เสื้อสนอบเป็นของดีที่ใช้แต่งรับแขกบ้านแขกเมืองได้ และเห็นจะเป็นด้วยเหตุนี้เอง เมื่อผู้ใดได้รับพระราชทานแล้ว ก็จะเก็บไว้ ไม่นำมาใช้ในเวลาปรกติ เพราะเกรงว่า เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเข้าสมาคมที่เป็นพิธีรีตองสำคัญ เสื้อนั้นจะเก่าไป

            คำว่า "ดูร้าย" ในกฎหมายเก่านั้น หมายถึง ดูไม่งามตานั่นเอง เพราะเมื่อเสื้อเก่าก็ดูซอมซ่อ ไม่งดงาม เครื่องแบบเก่าทำให้เสียพระเกียรติยศด้วย เรื่องนี้มีตัวอย่าง เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ เมื่อ วันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๒ ทูตสเปนมาดู แห่งคเชนทรัสวสนาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่เสด็จออก รับสั่งว่า "อายมัน ด้วยไม่ทันรู้ตัว เครื่องแห่มีแต่เสื้อขาด กางเกงขาด"

            เสื้อที่ใช้เป็นเครื่องแบบ และใช้ในงานพระราชพิธีในสมัยโบราณตามที่ปรากฏในหนังสือ วรรณคดี และตำราราชการต่างๆ มีกล่าวถึงก็คือ เสื้อครุย เสื้อสนอบ เสื้อเสนากุฎ เสื้อหนาวเกี้ยว และเสื้อยันต์ นอกจากนี้ยังมีเรียกชื่อตามชนิดของผ้าอีก เช่น เสื้ออัตลัด เสื้อปัศตู เสื้อมัสรู่ เสื้อเยียรบับ เป็นต้น
            
            ชื่อต่างๆ เหล่านี้บางชื่อก็ยังหาแบบอย่างไม่ได้ เช่น เสื้อหนาวเกี้ยว บางชื่อเรียกตามชื่อเมือง และเรียกตามลาย หรือชนิดของผ้านั้นๆ จะยกมาพอเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้
  • เสื้ออัตลัดหรืออัดตลัดมาจากภาษาอาหรับ ว่า อัตลัส เรียกตามชนิดของผ้า เป็นผ้าทอด้วยไหมแกมเส้นทองและเงิน เป็นลายเป็นดอกต่างๆ ไทยเรานิยมมาตัดทำเสื้อ จึงเรียกเสื้ออัตลัด 
  • เสื้อปัศตู ทำด้วยผ้าริ้วลายเป็นทางๆ 
  • เสื้อมัสรู่หรือมัศหรู่ ภาษาเปอร์เซียเรียกว่า มัซรู เป็นผ้าสองหน้า หน้าในเป็นด้าย หน้านอก เป็นไหม เป็นผ้าริ้วลายเป็นทางๆ
  • เสื้อเยียรบับ เข้าใจว่า เพี้ยนมาจากคำว่า ส้าระบับ เป็นผ้ายกทอง มาจากภาษาเปอร์เซีย ซาร แปลว่า ทอง บัฟต์ แปลว่า ทอ 
  • ผ้าลายกรุษราช ตามหนังสือคำให้การ ขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น หมายถึง ผ้าอินเดียที่ทำจากแคว้นคุรชระราษฎร์ ในอินเดีย และไทยเรียกว่า กุศหราด
  • ผ้าลายสุหรัด มีกล่าวถึงในพระราชนิพนธ์เรื่องสังข์ทองว่า "พระเสแสร้งว่า กับท่านยาย จะซื้อลายสุหรัดสักผืนหนึ่ง" ผ้าลายชนิดนี้ทำที่เมืองสุราษฎร์ หรือสุรัฐในอินเดีย ไทยเรียก สุหรัด ผ้าลายสุหรัดนิยมกันว่าเป็นของดี
            ที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ผ้าที่มาจากต่างประเทศมีอิทธิพลต่อการเรียกชื่อเสื้อผ้าที่ใช้แต่งกายของคนไทย และในสมัยอยุธยามีชาวต่างประเทศเข้ามากันมาก เข้าใจว่า แบบเสื้อของชาวฝรั่งเศส ชาวโปรตุเกส ฯลฯ ก็น่าจะนำมาใช้เป็นแบบกันบ้าง แต่ไม่มีหลักฐานกล่าวไว้ มีกล่าวถึงแต่เสื้อญี่ปุ่น จนถึงสมัยกรุงธนบุรี จึงได้พบว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เคยพระราชทานเสื้ออย่างฝรั่งตัวหนึ่งให้พระราชาเศรษฐีญวน เจ้าเมืองพุทไธมาศ ดังนี้ แสดงว่า ใน สมัยนั้นคงจะนิยมเสื้อแบบฝรั่งกันแล้ว

            นอกจากใช้ชนิดของผ้ากำหนดแบบแผนการแต่งกายของเจ้านาย และขุนนางแล้ว ยังมีเรื่องของสีอีกอย่างหนึ่ง (นอกจากสีแดง และสีอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ ในหนังสือ "ความทรงจำ" ตอนหนึ่งว่า

            "มีการจัดทำขึ้นในราชสำนักในปีมะเมีย (พ.ศ. ๒๔๑๓) นั้นอย่างหนึ่ง คือ เมื่อมีเครื่องแบบ สำหรับแต่งตัวมหาดเล็กขึ้นแล้ว ทรงพระราชดำริให้มีเครื่องแบบ สำหรับฝ่ายพลเรือน แต่งเข้าเฝ้าในเวลาปรกติด้วย ให้แต่งเสื้อแพรสีต่างกัน ตามกระทรวง คือ เจ้านายสีไพล ขุนนางกระทรวงมหาดไทยสีเขียวแก่ กลาโหมสีลูกหว้า กรมท่า (กระทรวงการต่างประเทศ) สีน้ำเงินแก่ (จึงเกิดเรียกสีนั้นว่า "สีกรมท่า" มาจนทุกวันนี้) มหาดเล็กสีเหล็ก (อย่างเดียวกับเสื้อแบบทหารมหาดเล็ก) อาลักษณ์กับโหรสีขาว รูปเสื้อแบบพลเรือนครั้งนี้เรียกว่า "เสื้อปีก" เป็นเสื้อปิดคอมีชาย (คล้ายเสื้อติวนิคแต่ชายสั้น) คาดเข็มขัดนอก เสื้อเจ้านายทรงเข็มขัดทอง ขุนนางคาดเข็มขัดหนังสีเหลือง หัวเข็มขัดมีตราพระเกี้ยว นุ่งผ้าม่วง โจงกระเบงแทนสมปัก แต่เครื่องแบบพลเรือนนี้ ไม่ได้บัญญัติให้ใช้ทั่วกันไป เป็นแต่ใครได้พระราชทานก็แต่ง ที่ไม่ได้พระราชทานก็คงแต่งตัวอย่างเดิม คือ ใส่เสื้อกระบอกผ้าขาว เจ้านายทรงผ้าม่วง โจงกระเบนคาดแพรแถบ ขุนนางนุ่งสมปักชักพกคาดผ้า ทราบแต่เครื่องแบบพลเรือนที่ว่านี้ ใช้มาเพียงปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ พอเสด็จกลับจากอินเดีย ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างอื่น"

            ในหนังสือจดหมายเหตุโหรของจมื่นก่งศิลป์ ได้จดไว้ เมื่อวันเสาร์ เดือน ๗ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีมะแม (วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๔๑๔) ว่า "ในข้างขึ้น เดือนนี้ข้าราชการแต่งคอเสื้อผ้าผูกคอด้วย เป็นธรรมเนียมฝรั่ง ธรรมเนียมนอก ความจริงการเปลี่ยนแปลงนี้ได้มีมาแต่เมื่อเสด็จสิงคโปร์ (วันที่ ๙ มีนาคม ๒๔๑๓) ในครั้งนั้นได้ทรงเห็นแบบอย่างของฝรั่งมามาก เมื่อเสด็จกลับจากสิงคโปร์ จึงเปลี่ยนแปลงระเบียบภายในราชสำนักก่อน ให้ผู้ที่เข้าเฝ้าแต่งตัวสวมถุงเท้า รองเท้า ใส่เสื้อเปิดคอแบบฝรั่ง นุ่งผ้าม่วงสีกรมท่า ครั้นเมื่อเสด็จไปอินเดีย เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๑๔ จึงได้เปลี่ยนเครื่องแต่งตัวเป็นแบบฝรั่งเลยทีเดียว แต่ยังคงนุ่งผ้าไม่ใช้กางเกงเท่านั้น"

            ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้เองได้ประดิษฐ์แบบเสื้อขึ้นใช้ในราชการ คือ เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ซึ่งได้เคยไปราชการทูตถึงกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้คิดแบบเสื้อแขนยาว คอตั้ง ลูกกระดุม ๕ เม็ด ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ได้รับพระราชทานตรามงกุฎสยามประดับเพชรเป็นพิเศษ เป็นเหตุให้บัญญัติชื่อเรียกเสื้อนั้นว่า "เสื้อราชปะแตน" ต่อมา ได้แก้ไขปรับปรุงเป็นเสื้อเครื่องแบบข้าราชการ ที่เรียกว่า ชุดขาว ในปัจจุบัน

            การแต่งกายแบบใหม่คือ สวมเสื้อนอก กระดุม ๕ เม็ด และนุ่งผ้าโจงกระเบน ยังคงเป็นที่นิยมต่อมา จนถึงสมัยประชาธิปไตย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้มีประกาศ สำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยมฉบับที่ ๑๐ ลงวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ให้ประชาชนชาวไทยแต่งกายตามแบบสากลนิยม และการแต่งกายที่ไม่เรียบร้อย เช่น นุ่งแต่กางเกงชั้นใน หรือไม่สวมเสื้อ หรือนุ่งผ้าลอยชาย ตลอดจนนุ่งโสร่ง นุ่งกางเกงแพร นุ่งผ้าโจงกระเบน ก็ให้แต่งเฉพาะอยู่ในบ้าน ไม่ควรแต่งในที่ชุมนุมชน

            อนึ่ง ในสมัยโบราณ ประชาชนไม่นิยมสวมรองเท้า เมื่อประกาศให้ประชาชนแต่งกายตามแบบสากล จึงให้สวมรองเท้า และสวมหมวกด้วย

            ส่วนการแต่งกายของสตรีนั้น มีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าการแต่งกายของผู้ชาย โดยเฉพาะข้าราชการฝ่ายในต้องแต่งกายตามพระราชนิยม เช่น ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ฝ่ายในนุ่งจีบ พอถึงรัชกาลที่ ๔ เปลี่ยนเป็นนุ่งโจง ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็มีทั้งนุ่งจีบ และนุ่งโจง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ถึงเครื่องแต่งตัวผู้หญิงไว้ว่า "เมื่อครั้ง รัชกาลที่ ๕ เสด็จกลับมาจากสิงคโปร์มิได้โปรด ให้แก้อย่างไร นางในยังคงนุ่งจีบ และห่มแพรสไบเฉียงกันตัวเปล่าอยู่อย่างเดิม จนถึงงานบรมราชาภิเษกครั้งหลัง พ.ศ. ๒๔๑๖ จึงดำรัสสั่งให้เปลี่ยนเครื่องแต่งตัวผู้หญิงเป็นแบบใหม่ คือ ให้คงแบบนุ่งจีบอย่างเดิมไว้แต่สำหรับแต่งกับห่มตาด เมื่อเต็มยศใหญ่ โดยปรกติให้เลิกนุ่งจีบเปลี่ยนเป็นนุ่งโจงอย่างเดิม และให้ใส่เสื้อแขนยาว ชายเสื้อเพียงบั้นเอว แล้วห่มแพรสไบเฉียงบ่านอกเสื้อ เป็นต้น"

            หลังจาก พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว ผู้หญิงก็ยังคงนิยมนุ่งโจงกันอยู่โดยมาก จนถึงสมัยรัฐนิยมดังกล่าว นายกรัฐมนตรีจึงขอให้สตรีไทยเปลี่ยนแปลงการแต่งกายใหม่รวม ๓ ข้อ คือ

            ๑. ขอให้สตรีไทยทุกคนไว้ผมยาวตามประเพณีนิยมในสมัยโบราณ หรือไว้ผมยาวตามสมัยนิยม (พ.ศ. ๒๔๘๔)

            ๒. ขอให้สตรีไทยทุกคนเลิกการใช้ผ้าโจงกระเบน เปลี่ยนเป็นการนุ่งผ้าถุงอย่างสมัยโบราณ หรือตามสมัย

            ๓. ขอให้สตรีไทยทุกคนเลิกใช้ผ้าผืนเดียวปกปิดท่อนบน คือ ไม่ใช้ผ้าคาดอก หรือปล่อยเปลือยกายท่อนบน ให้ใช้เสื้อแทน

            ต่อมาสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้พิจารณาปรับปรุง และวางหลักในการแต่งกายขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ มีทั้งแบบเครื่องเต็มยศ เครื่องครึ่งยศ เครื่องแบบปกติ เครื่องราตรีสโมสร เครื่องแต่งกายไว้ทุกข์ เครื่องแต่งกายธรรมดา เครื่องแต่งกายแบบไทย และเครื่องแต่งกายแบบสากล

            ในปัจจุบัน การแต่งกายของสตรีไทยได้นิยมตามแบบที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารในพระองค์ แสดงแบบเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๐๗ ณ เวทีสวนอัมพร ในโอกาสครบรอบร้อยปีของกาชาดสากล และนิยมเรียกกันว่า ชุดไทยตามพระราชนิยม ต่อมา ได้เพิ่มเติมขึ้นมีทั้งหมด ๘ แบบ ดังรายชื่อต่อไปนี้

            ๑. แบบไทยเรือนต้น
            ๒. แบบไทยจิตรลดา
            ๓. แบบไทยอมรินทร์
            ๔. แบบไทยบรมพิมาน
            ๕. แบบไทยจักรี
            ๖. แบบไทยดุสิต
            ๗. แบบไทยจักรพรรดิ
            ๘. แบบไทยศิวาลัย

            ส่วนการแต่งกายของชายนั้น ได้กำหนดแบบเสื้อคอตั้ง มีทั้งแขนสั้น แขนยาว และแบบแขนยาวมีผ้าคาดเอว เรียกว่า "เสื้อชุดไทย" หรือ "เสื้อชุดไทยพระราชทาน" ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้แบบเสื้อชุดไทยพระราชทาน ใช้แทนชุดสากลได้ (ตามหนังสือเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๒๓)

            เสื้อชุดไทยตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวง ศึกษาธิการ กำหนดแบบไว้ มีดังต่อไปนี้

๑. แบบแขนสั้น

            เป็นเสื้อคอตั้งสูง ประมาณ ๓.๕-๔ เซนติเมตร ตัวเสื้อเข้ารูปเล็กน้อย และผ่าอกตลอด มีสาบกว้างประมาณ ๓.๕ เซนติเมตร มีขลิบรอบๆ คอและสาบอก ปลายแขนมีขลิบหรือพับแล้วขลิบที่รอยเย็บ ติดกระดุม ๕ เม็ด กระดุมมีลักษณะเป็นรูปกลมแบน ทำด้วยวัสดุหุ้มด้วยผ้าสีเดียวกัน หรือคล้ายคลึงกับเสื้อ กระเป๋าบนมีหรือไม่มีก็ได้ ถ้ามีให้เป็นกระเป๋าเจาะข้างซ้าย ๑ กระเป๋า กระเป๋าล่างเป็นกระเป๋า เจาะข้างละ ๑ กระเป๋า อยู่สูงกว่าระดับกระดุมเม็ดสุดท้ายเล็กน้อย ขอบกระเป๋ามีขลิบ ชายเสื้อ อาจผ่ากันตึง เส้นรอยตัดต่อมีหรือไม่มีก็ได้ ถ้ามีให้เดินจักรพับตะเข็บ

๒. แบบแขนยาว

            เป็นเสื้อคอตั้งสูงตัด แบบเดียวกับแบบแขนสั้น จะต่างกันเฉพาะแขนเสื้อตัดแบบเสื้อสากล ปลายแขนเย็บทาบด้วยผ้า ชนิดและสีเดียวกันกับตัวเสื้อ กว้างประมาณ ๔-๕ เซนติเมตร โดยเริ่มจากตะเข็บด้านใน อ้อมด้านหน้า ไปสิ้นสุดเป็นปลายมนทับตะเข็บด้านหลัง นอกนั้นเหมือนแบบเสื้อแขนสั้นทุกอย่าง  

๓. แบบแขนยาวคาดเอว

            ตัวเสื้อ เหมือนแบบที่ ๒ แต่มีผ้าคาดเอว ขนาดความกว้าง ความยาวตามความเหมาะสม สีกลมกลืนหรือตัดกับเสื้อ ผูกเงื่อนแน่นทางซ้ายมือของผู้สวมใส่

ชนิดของผ้า


            เสื้อชุดไทยนี้ควรเลือกใช้ผ้าตามความเหมาะสม และควรเป็นผ้าที่ทำในประเทศไทย สีเรียบจาง หรือมีลวดลายสุภาพ ตามความเหมาะสมกับโอกาสในการสวมใส่

            เสื้อชุดไทยนี้ให้ใช้ควบคู่กับกางเกงสีสุภาพ หรือสีเดียวกันกับเสื้อ โดยให้ใช้แทนชุดสากล นิยมได้ทุกโอกาส แต่มิใช่เป็นการทดแทนชุดสากลโดยสิ้นเชิง โดยมีรายละเอียดดังนี้

๑. ชุดไทยแขนสั้น

            ใช้สีเรียบจาง หรือมีลวดลายสุภาพในโอกาสธรรมดาทั่วไป หรือในการปฏิบัติงาน หรือในโอกาสพิธีการเวลากลางวัน และอาจใช้สีเข้มได้ในโอกาสพิธีการเวลากลางคืน

๒. ชุดไทยแขนยาว

            ใช้สีเรียบจาง หรือมีลวดลายสุภาพในโอกาสพิธีการเวลากลางวัน และอาจใช้สีเข้มในโอกาสพิธีการเวลากลางคืนได้

๓. ชุดไทยแขนยาวคาดเอว

            ใช้ใน โอกาสพิธีการที่สำคัญมากๆ

๔. โอกาสงานศพ
            
            ให้ใช้เสื้อแขนสั้น หรือแขนยาวสีขาว กางเกงสีดำ หรือสีขาวทั้งชุด หรือสีดำทั้งชุดไม่ติดแขนทุกข์