เล่มที่ 18
ภาษาและอักษรไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ภาษาพูด

ลักษณะภาษาไทยมาตรฐาน

            ภาษาไทยมาตรฐาน หมายถึง ภาษาที่ใช้เป็นภาษาราชการ ภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอน ในโรงเรียน ภาษาที่ใช้ในโอกาสที่เป็นทางการต่างๆ และภาษาที่สื่อสารมวลชนต่างๆ ใช้ด้วย เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของการบริหารประเทศ เราจึงคิดว่า ภาษามาตรฐานเป็นภาษากรุงเทพฯ แต่แท้จริงแล้ว ภาษาในเมืองหลวงนี้ มีความหลากหลายมาก ตามลักษณะผู้คนที่แตกต่างกัน ซึ่งมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมหาศาล ภาษามาตรฐานจึงหมายถึง ภาษาที่ใช้ในโอกาสที่เป็นทางการ มากกว่าที่จะเป็นภาษาของคนกรุงเทพฯ กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ ลักษณะภาษาไทยมาตรฐานที่สอนในโรงเรียน เป็นลักษณะของภาษาเขียน ซึ่งมีข้อแตกต่างไปจากภาษาพูดหลายประการ เป็นธรรมชาติที่ภาษาพูดกับภาษาเขียนย่อมไม่เหมือนกัน ลักษณะสำคัญของตัวอักษรไทยมาตรฐานมีดังต่อไปนี้
เสียง

เสียงวรรณยุกต์


            ลักษณะเด่นของภาษาไทยทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นภาษาของคนกลุ่มใดก็ตาม คือ เป็นภาษาที่ใช้เสียงวรรณยุกต์แยกความหมายของคำ เสียงวรรณยุกต์ หมายถึง ระดับเสียงสูงต่ำในทำนองเดียวกับระดับเสียงในดนตรี ในภาษาไทย ระดับเสียงสูงต่ำทำให้ความหมายของคำต่างกันได้ ซึ่งแตกต่างจากภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส มาเลเซีย และเขมร ในภาษาเหล่านี้ คำๆ หนึ่ง อาจออกเสียงสูงต่ำได้ โดยความหมายของคำไม่เปลี่ยนไป

            ภาษาไทยมาตรฐานมีเสียงวรรณยุกต์ ๕ เสียง ซึ่งมีชื่อเรียกตามหนังสือไวยากรณ์ไทยทั่วไปว่า เสียงสามัญ เสียงเอก เสียงโท เสียงตรี และเสียงจัตวา เราอาจแบ่งเสียงทั้ง ๕ นี้ออกเป็น ๒ กลุ่ม ตามลักษณะระดับเสียงคือ

๑. เสียงคงระดับ

            หมายถึง เสียงวรรณยุกต์ ที่ระดับเสียงเมื่อเริ่มต้น กับระดับเสียงเมื่อจบ ไม่ต่างกันมาก จนเป็นคนละเสียง

๒. เสียงเปลี่ยนระดับ


            เป็นเสียงที่ระดับเสียงเมื่อเริ่มต้น กับเมื่อจบ ต่างกันมาก จนเป็นคนละเสียง

สัญลักษณ์แสดงระดับเสียงวรรณยุกต์ในภาษาไทยมาตรฐาน
สัญลักษณ์แสดงระดับเสียงวรรณยุกต์ในภาษาไทยมาตรฐาน

            ภาษาไทยมาตรฐานมีเสียงวรรณยุกต์ ๕ เสียง แต่ใช้ระดับเสียงเพียง ๓ ระดับเท่านั้น คือ สูง กลาง และต่ำ ลักษณะเสียงวรรณยุกต์ทั้ง ๕ มีดังนี้ คือ

เสียงคงระดับ


๑. เสียงสามัญ


            เป็นเสียง ระดับกลาง โดยประมาณ ตัวอย่างคำที่มีเสียงระดับกลาง เช่น มา ไป ดู วัน ดาว กิน ปี เดือน เรือ

๒. เสียงเอก


            เป็นเสียงที่มี ระดับต่ำ ตัวอย่าง คำที่มีเสียงระดับต่ำ เช่น ไก่ ไข่ เบื่อ หย่า ป่าน ห่าง อย่าง สิบ ปาก

๓. เสียงตรี


            เป็นเสียงที่มี ระดับสูง ตัวอย่าง คำที่มีเสียงระดับสูง เช่น ช้าง น้อง รัก ไว้ คั้น ฆ้อง ซ้าย นก มุข

เสียงเปลี่ยนระดับ

๔. เสียงโท


            เริ่มต้นเป็นเสียงระดับสูง และเลื่อนลง จบด้วยเสียงระดับต่ำ ตัวอย่างคำที่มีเสียงโท เช่น ถ้า ข้าม ให้ เสื้อ เชื่อ พ่อ ลาภ มาก ยาก

๕. เสียงจัตวา

            เริ่มต้นด้วยเสียงระดับต่ำ แล้วเลื่อนสูงขึ้นและจบด้วยเสียงระดับสูง ตัวอย่างคำที่มีเสียงจัตวา เช่น สี ฝน ของ ถาม หาย ผัน ฉาย เสือ เผา

            ลักษณะคำหรือพยางค์ในภาษาไทยมีความเกี่ยวข้องกับเสียงวรรณยุกต์ด้วยคือ คำเป็น คือคำ ที่มีเสียงเบา อาจมีเสียงวรรณยุกต์ใดๆ ก็ได้ ๑ ใน ๕ เสียงที่กล่าวมาแล้ว แต่ คำตาย มีได้เพียง ๓ เสียงเท่านั้น คือ เสียงเอก เสียงโท และเสียงตรี เสียงหนึ่งเสียงใด ซึ่งหมายความว่า คำตายไม่ใช้ เสียงวรรณยุกต์สามัญ และจัตวา แต่ในภาษาพูด ในปัจจุบัน มีผู้ออกเสียงคำตายที่ลงท้ายด้วยสระ สั้นที่มีเสียงวรรณยุกต์เอกและตรีเป็นเสียงสามัญ เช่น พยางค์แรกของคำว่า ทะเล รหัส คือ ทะ- และ ระ- ควรเป็นเสียงตรี แต่มีผู้ออกเสียงเป็น เสียงสามัญเป็นจำนวนมาก ในทำนองเดียวกัน พยางค์แรกของคำว่า กระเป๋า ตะปู สบู่ คือ กระ- ตะ- ส- ควรมีเสียงวรรณยุกต์เป็นเสียงเอก แต่ก็มี ผู้ออกเสียงเป็นเสียงสามัญ ซึ่งเราอาจนับว่าเป็น ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในภาษา และกำลังเป็นที่สังเกตเห็นได้ชัดมากขึ้นทุกขณะ โดย เฉพาะในสภาวะที่ต้องใช้ภาษาราชการ เช่น การ อ่านข่าว ในปัจจุบันเรายังมีทั้งผู้ที่อ่านออกเสียงคำ ตายตามที่ควรเป็นมาแต่ดั้งเดิม คือ ออกเป็นเสียง เอกหรือเสียงตรี และผู้ที่อ่านตามเสียงภาษาพูด คือ ออกเป็นเสียงสามัญ

เสียงพยัญชนะ

            เสียงพยัญชนะในภาษาไทยมาตรฐานมี ๒๑ เสียงแต่มี ๔๔ รูป ดังอาจจัดเป็นกลุ่มตาม ตำแหน่งลิ้นในช่องปากที่เหมือนกัน โดยไม่คำนึงถึงเสียงวรรณยุกต์ในชื่ออักษร ดังนี้



            ตัว "ข ฃ ค ฅ ฆ" เขียนต่างกัน แต่ ตำแหน่งลิ้นในขณะออกเสียงเหล่านี้เหมือนกัน ในทำนองเดียวกัน ตัว "ฉ ช ฌ" ก็มีตำแหน่งลิ้น เหมือนกัน และตัวอักษรในกลุ่มต่างๆ ที่มีมาก กว่าหนึ่งตัวขึ้นไป ก็มีตำแหน่งลิ้นเหมือนกับ อักษรอื่นในกลุ่มเดียวกัน

ในแง่ของการออกเสียง มีเสียงตัว "ร" เพียงเสียงเดียวที่แสดงว่า กำลังมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น กล่าวคือ การออกเสียงนี้ไม่สม่ำเสมอเหมือนเสียง พยัญชนะอื่นๆ เสียง "ร" นี้ คนจำนวนมากออกเสียงเป็นเสียง "ล" เช่น เรือ รู้ ออกเสียงเป็น เลือ ลู้ และบางครั้งมีผู้ที่ออกเป็นเสียง "ร" บาง ครั้งก็ออกเป็นเสียง "ล" การออกเสียงไม่สม่ำเสมอในทำนองนี้ ปรากฏทั้งในสภาพการที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ กล่าวคือ แม้บางครั้งผู้ใช้ภาษาจะตระหนักถึงความเหมาะสม ที่จะ ต้องออกเสียง "ร" ให้ถูกต้อง แต่ผู้ใช้ภาษาก็ยังออกเสียงเป็น "ล" ในบางครั้ง เพราะไม่สามารถควบคุมการออกเสียงได้ทุกครั้ง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการออกเสียงนี้ กำลังอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลง ในภาษาไทยถิ่นอื่นหลายถิ่น เสียง "ร" แบบนี้ได้กลายเป็นเสียงอื่นไปแล้ว แต่ทั้งนี้ ไม่จำเป็นว่า เสียง "ร" จะต้องกลายเป็นเสียง "ล" ในภาษาไทยมาตรฐานด้วยเช่นกัน การที่ภาษาเขียนยังมีตัว "ร" อยู่ การสอนให้ออกเสียงตามตัวเขียนในโรงเรียน และความรู้สึกว่า การออกเสียงให้ถูกต้องเหมือนภาษาเขียนเป็นสิ่งที่จำเป็น อาจเป็นสิ่งที่ทำให้ยังมีการออกเสียงตัว "ร" อยู่ในภาษาไทยมาตรฐานต่อไป ในภาษาของคนไทยบางกลุ่ม การออกเสียงไม่สม่ำเสมอแบบนี้ มีอยู่ในการออกเสียงควบกล้ำด้วย

เสียงพยัญชนะควบกล้ำในภาษาไทยมาตรฐานมีทั้งหมด ๑๒ เสียง ดังนี้



ในบรรดาเสียง ๑๒ กลุ่มนี้ มีเพียง ๒ กลุ่มเท่านั้น ที่ผู้ใช้ภาษาไทยมาตรฐานออกเสียงได้สม่ำเสมอ คือ กลุ่มที่ ๓ และ ๖ ที่เหลือผู้ใช้ ภาษาบางครั้งออกเสียงควบกล้ำ "ร" เป็น "ล" หรือไม่ออกเสียงควบกล้ำเลย

เสียงสระ

ลักษณะเด่นของสระในภาษาไทย คือ เสียงสั้นยาวของสระ มีความสำคัญทำให้ความหมายของคำต่างกันได้ เช่น แกะ-แก่ เป็นคำที่ต่างกัน เพราะคำหนึ่งมีสระสั้น อีกคำหนึ่งมีสระ ยาว เป็นต้น ซึ่งลักษณะนี้ต่างจากภาษาอื่นๆ อีกหลายภาษาที่เรารู้จัก เช่น ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน ในภาษาเหล่านี้คำๆ เดียวกัน จะออกเสียงสระของคำให้สั้นหรือยาว ความหมายของคำก็ไม่เปลี่ยนไป

ภาษาไทยมาตรฐานมีเสียงสระเดี่ยวสั้น ๙ เสียง และยาว ๙ เสียงดังนี้



มีสระผสมอีก ๓ เสียง คือ เ-ีย เ-ือ และ -ว สระผสมนี้เสียงสั้นและยาวไม่มีความสำคัญเหมือนกับในสระสั้น กล่าวคือ คำที่มีสระผสมเราอาจออกเสียงให้สั้นหรือยาวก็ได้ โดยคำไม่เปลี่ยนความหมายไป แต่ในภาษาเขียนเราสามารถแสดงถึงความแตกต่างของสระสั้นและยาวได้ ดังนี้

๑. เ-ียะ เช่น เกี๊ยะ เปี๊ยะ เ-ีย เช่น เสีย เลี้ยง
๒. เ-ือะ เ-ือ เช่น เรือ เชื่อง
๓. -ัวะ -ัว เช่น หัว กลัว
ลักษณะวลีและประโยคพื้นฐาน

นักภาษาจำแนกภาษาต่างๆ ในโลกออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ ตามลักษณะรูปประโยคที่ใช้ คือ

๑. ภาษาที่เรียงบทกรรมของประโยคไว้ หลังบทกริยาของประโยค หรือเรียกว่า ภาษาแบบกริยา + กรรม ตัวอย่างเช่น

เขาปล่อยนก (นกเป็นบทกรรม ปล่อยเป็นบทกริยา)

ภาษาไทย อังกฤษ มาเลย์ เขมร ฯลฯ เรียงประโยคแบบนี้ และจัดเป็นภาษาประเภทนี้

๒. ภาษาที่เรียงบทกรรมของประโยคไว้หน้าบทกริยา หรือเรียกว่า ภาษาแบบกรรม + กริยา ตัวอย่างเช่น

เขานกปล่อย (มีความหมายว่า เขาปล่อยนก)

ภาษาญี่ปุ่น พม่า สิงหล ฯลฯ เรียง ประโยคแบบนี้ และจัดเป็นภาษาประเภทนี้

นอกจากการเรียงรูปประโยคต่างกันดังกล่าว แล้ว ภาษา ๒ ประเภทนี้ ยังมีลักษณะเฉพาะอื่นๆ ที่แตกต่างตรงข้ามกันอีกหลายประการ เป็นต้นว่า การเรียงลำดับคำเรียกชื่อกับคำบอกตำแหน่ง ชื่อ กับนามสกุล บทขยายนามกับคำนาม บทขยาย กริยากับกริยา คำปฏิเสธกับคำกริยา ฯลฯ ตัวอย่าง เช่น ภาษาสิงหลเรียงนามสกุลมาก่อนชื่อ อนุประโยคที่ขยายนามอยู่หน้าคำนาม คำปฏิเสธอยู่หลังคำกริยา

ภาษาไทยจัดว่าเป็นภาษาแบบกริยา + กรรม และมีลักษณะสำคัญต่างๆ ดังนี้

๑. เรียงคำบุพบทไว้หน้าคำนาม เช่น ในบ้าน บนโต๊ะ
๒. คำแสดงการเปรียบเทียบ "กว่า" ตามหลังคำที่ใช้เปรียบเทียบ เช่น ใหญ่กว่า
๓. เรียงตำแหน่งและชื่อไว้หน้านามสกุล เช่น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
๔. คำแสดงความเป็นเจ้าของอยู่หลังคำนาม เช่น หนังสือของเรา
๕. คำขยายคำนามอยู่หลังคำนาม เช่น หนังสือเล่มใหญ่
๖. อนุประโยคอยู่หลังคำนามที่ขยาย เช่น คนที่ช่วยเราทำงาน
๗. คำปฏิเสธอยู่หน้าคำกริยา เช่น ไม่ชอบ
ลักษณะอื่นๆ

นอกจากลักษณะสากลดังกล่าวแล้ว ภาษาไทยยังมีลักษณะเฉพาะตัวอีก คือ ประโยคในภาษาไทยมีกริยาเรียงติดต่อกันได้หลายคำ เรียกว่า กริยาอนุกรม และคำกริยาเหล่านี้สื่อความหมาย เรียงตามลำดับเรื่องที่เกิดขึ้นจริง เช่น

เด็กๆ เคยคิดจะออกไปเดินเล่นแถวนั้น


ในตัวอย่างนี้มีกริยาเรียงกันหลายตัว และกริยาที่เกิดก่อนในประโยค ก็สัมพันธ์กับเรื่องที่เกิดก่อน ดังนี้ การเคย เกิดก่อน การคิด และการคิด เกิดก่อน การออกไป เป็นต้น

นอกจากนี้บางครั้งผู้กระทำกริยาก็หลายคน แต่ว่าไม่ปรากฏรูปในประโยค เช่น "ฉันบอกให้ ออกไปข้างนอก" "ฉัน" เป็นประธานของ "บอกให้" แต่ไม่ใช่ประธานของ "ออกไป" และผู้ใช้ภาษาไทยสามารถเข้าใจอย่างนี้ได้ ก็เพราะความหมายส่วนหนึ่งของประโยคอยู่ในสภาพการใช้ภาษา ผู้ที่อยู่ในการพูดจึงเข้าใจได้ต่างจากภาษาอีกหลายภาษาในตะวันตก เช่น ภาษาอังกฤษ ซึ่งโดยทั่วไปประโยคจะสื่อความหมายทั้งหมด และความหมายไม่ขึ้นกับสภาพการพูดในทำนองนี้

ลักษณะเด่นของภาษาไทยอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นภาษาที่ใช้คำลักษณะนามเมื่อเกี่ยวข้องกับจำนวน การชี้เฉพาะ หรือการกำหนดเฉพาะต่างๆ เช่น

ภาษาไทยอื่นๆ

ภาษาไทยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษาไทยมาตรฐาน คือ อาจเป็นภาษาของคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ แต่ไม่ ใช่ภาษาที่ใช้ในราชการ หรือภาษาในถิ่นอื่นๆ นอกเหนือจากภาคกลาง ส่วนใหญ่มีลักษณะเหมือนกับภาษาไทยมาตรฐานที่กล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะของการเรียงคำในวลีและประโยค สิ่งที่ต่างกันมากที่สุดระหว่างภาษาไทยกลุ่มต่างๆ คือ เสียงวรรณยุกต์ ภาษาหลายกลุ่มมีจำนวนเสียงวรรณยุกต์เท่ากัน แต่ลักษณะเสียงวรรณยุกต์ที่เกิดในแต่ละคำต่างกันไป ซึ่งกลายเป็นลักษณะเฉพาะถิ่น หรือเฉพาะกลุ่มไปได้ เช่น คนที่ใช้ภาษาทางภาคเหนือด้วยกัน เมื่อฟังคนพูด แล้วอาจบอกได้ว่า เป็นคนจากถิ่นใด เช่น ลำพูน ลำปาง เพราะใช้เสียงต่างกัน นอกจากนี้ภาษาในแต่ละถิ่นแต่ละภาค ยังมีคำศัพท์เฉพาะถิ่นด้วย ซึ่งนับเป็นความแตกต่างอีกอย่างหนึ่งระหว่างภาษากลุ่มต่างๆ ในประเทศไทย