เล่มที่ 18
ภาษาและอักษรไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ภาษาเขียนและตัวอักษร

            นักภาษาประมาณว่า ในโลกเรามีภาษาที่ใช้พูดกันอยู่ราวๆ ๓,๐๐๐ ภาษา แต่ภาษาที่มีตัวอักษรมีอยู่ไม่ถึง ๕% การประดิษฐ์ภาษาเขียนขึ้นในสังคมใดๆ ก็ตาม นับเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ของสังคมนั้นๆ เพราะภาษาเขียนทำให้สังคมพัฒนา และก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในสังคมไปจากเดิมมาก ในสังคมที่ไม่มีภาษาเขียน การดำเนินชีวิตมักเป็นไปตามกรอบประเพณี ที่สืบทอดมาอย่างเคร่งครัด การเรียนการสอนใดๆ ย่อมอาศัยการฟัง การฝึกปฏิบัติ เป็นหลักสำคัญ การท่องจำ การทำซ้ำแล้วอีกเป็นสิ่งจำเป็น สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการท่องจำนับเป็นสิ่งที่มีค่า เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ควรแก่การเก็บรักษา ไม่พึงทำให้เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ในการเรียนการพูดใดๆ จะต้องมี ๒ ฝ่ายเสมอ เนื่องจากความจำของมนุษย์มีขอบเขตจำกัด การจำ จึงทำได้อย่างมีขอบเขตที่จำกัด เช่นกัน ตัวอักษรทำให้ข้อจำกัดนี้หมดไป มนุษย์สามารถบันทึกเรื่องราวต่างๆ ได้ยาวเท่าที่ต้องการ และสภาพการใช้ภาษาก็เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง มนุษย์เปลี่ยนจากการใช้เสียง และการใช้หูฟัง มาเป็นการใช้เครื่องมือเขียน และใช้สายตาอ่าน การเขียนทำให้เกิดสภาพการใช้ภาษาเพียงคนเดียว หรือฝ่ายเดียวได้ คือ อ่านและเขียนคนเดียวได้ ภาษาเขียนทำให้เกิดการเรียนการสอนที่กว้างไกล ผู้เรียนไม่ต้องเห็นหน้าผู้สอนก็ได้ เพราะเหตุนี้การเผยแพร่ศาสนา การศึกษาในโรงเรียน วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีต่างๆ จึงเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ว่าการเขียนจะทำให้เกิดความก้าวหน้าเท่าใดก็ตาม ภาษาเขียนก็ยังต้องผูกพันกับภาษาพูด สังคมมนุษย์ทุกสังคมมีภาษาพูด แต่ตัวอักษรมีในบางสังคมเท่านั้น และไม่มีสังคมใดที่มีแต่ภาษาเขียนและตัวอักษร โดยไม่มีภาษาพูด

            ตัวอักษรที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมีหลายรูปแบบ แบบแรกเริ่มเป็นภาษาเขียนที่ใช้แทนความหมาย สัญลักษณ์หนึ่งใช้แทนความคิด หรือความหมายหนึ่ง เช่น ดวงอาทิตย์ หมายถึง วัน แต่รูปแบบภาพธรรมดาที่ไม่ได้ใช้แทนความหมายอื่น ไม่นับเป็นตัวอักษร ตัวอักษรจีนซึ่งมีใช้นานหลายพันปี เป็นภาษาเขียนที่ใช้แทนคำหรือความคิด ดังนั้นคนจีนที่พูดกันคนละภาษา เช่น จีนกลางกับจีนแต้จิ๋ว ซึ่งต่างกันมาก และไม่สามารถพูดกันได้รู้เรื่อง สามารถอ่านภาษาเดียวกันได้ เพราะเป็นภาษาที่แทนคำหรือความคิด ตัวอักษรหนึ่งอาจใช้แทนความคิด เช่น คน หรือน้ำ ได้โดยไม่เกี่ยวกับเสียงในภาษาเลย ผู้ที่ออกเสียงคำต่างกัน จึงอ่านภาษาเดียวกันได้ แต่คำในภาษาหนึ่งๆ มีจำนวนมากมาย การเขียนแบบนี้จึงต้องมีตัวเขียนจำนวนมหาศาลด้วย การเขียนอีกแบบหนึ่ง เป็นตัวเขียนแทนพยางค์ เช่น ภาษาญี่ปุ่น ตัวเขียนแบบนี้หนึ่งตัวแทนพยางค์หนึ่งพยางค์ จำนวนตัวเขียนในภาษาน้อยลงกว่าแบบแทนคำ แต่ก็ยังมีจำนวนมากอยู่

การเรียนการสอนผ่านทางสื่อสารมวลชน

ตัวอย่างคำเรียกขวัญ ภาษาไทอาหม

วัดจะจารึกบัญชีรายชื่อคนและสิ่งของที่ประชาชนนำมาบริจาค

            ตัวอักษรแบบที่พัฒนามากที่สุดเป็นตัวอักษรแทนเสียงที่ใช้อยู่ในภาษา แต่ละภาษาใช้เสียงจำนวนจำกัด ในขณะที่คำในแต่ละภาษามีคำเป็นจำนวนพันจำนวนหมื่น ไม่มีภาษาใดที่ใช้เสียงถึง ๑๐๐ เสียง ภาษาเขียนแบบนี้จึงมีตัวหนังสือน้อยกว่าภาษาเขียน ๒ แบบแรกมาก การเขียนแบบตัวอักษรนี้เกี่ยวข้องกับเสียงในภาษาโดยเฉพาะ จึงเป็นเรื่องเฉพาะของภาษาใดภาษาหนึ่ง การเขียนแบบตัวอักษรที่ประดิษฐ์ในยุคแรกๆ ไม่มีตัวอักษรแทนเสียงสระ เช่น ภาษาฮีบรู ภาษาอารบิค การเขียนในสมัยต่อมา ได้พัฒนาให้มีทั้งอักษรแทนเสียงพยัญชนะและสระ และการเขียนของไทยนับว่า พัฒนาไปไกลมาก คือ นอกจากมีตัวเขียนแทนเสียงพยัญชนะและสระแล้ว ยังมีตัวเขียนกำกับเสียงวรรณยุกต์อีกด้วย นับว่า เป็นตัวเขียนที่เป็นตัวอักษรแทนเสียงในภาษาได้ใกล้เคียงที่สุด

            ภาษาเขียนต่างจากภาษาพูดตรงที่ เมื่อเขียนขึ้นมาแล้วมักคงรูปอยู่แบบเดิม ผู้ใช้มักไม่เปลี่ยนแปลงภาษาเขียน และในหลายสังคมถือว่า ภาษาเขียนเป็นศักดิ์สิทธิ์ และเป็นมรดกจากสังคมโบราณ ซึ่งพึงอนุรักษ์ไว้ ส่วนภาษาพูดนั้นเป็นสิ่งที่ติดอยู่กับตัวผู้ใช้ภาษา จึงเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม และสภาพการใช้ภาษาตลอดเวลา เพราะเหตุนี้ ในปัจจุบันภาษาเขียนของหลายภาษา จึงต่างจากภาษาพูด โดยเฉพาะภาษาที่ประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้มานานแล้ว เสียงในภาษาพูดปัจจุบัน อาจเปลี่ยนไป หรือต่างไปจากเสียงเดิม ตัวอักษร ซึ่งประดิษฐ์มานานแล้ว จึงยังแทนเสียงในภาษาเดิมอยู่ และไม่ใช่ตัวแทนเสียงของภาษาในปัจจุบันอย่างสมบูรณ์

            ในสังคมโบราณของโลก การเขียนการบันทึกทั้งหมดเกิดจากสังคมที่เป็นเมืองแล้ว ซึ่งหมายถึงว่า เป็นสังคมที่มีคนมาก และเป็นคนที่มีการประกอบอาชีพต่างกัน ไม่เหมือนสังคมหมู่บ้าน ที่ส่วนใหญ่คนมักมีอาชีพเดียวกัน และคนในเมืองมีกิจกรรมที่ต้องทำร่วมกับผู้อื่นหลากหลายมากกว่า มีการซื้อขาย การแลกเปลี่ยน ฯลฯ รวม ความแล้วก็คือ กิจกรรมต่างๆ ของคนในสังคมเมือง เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดการเขียน การบันทึกขึ้น ภาษาเขียนสุเมเรียนซึ่งเป็นภาษา เขียนที่เก่าแก่ที่สุดในโลกมีอายุประมาณ ๕,๐๐๐ ปี มีบันทึกรายชื่อสิ่งของและรายชื่อคนมากมาย ศาสนาก็เป็นแรงผลักดันที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ ทำให้เกิดการเขียนขึ้น วัดหรือโบสถ์ในสังคม โบราณ หลายแห่งในโลก มักมีบัญชีรายชื่อคน และสิ่งของที่ผู้คนนำมาบริจาคให้