เล่มที่ 19
ม้า
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
โรคม้า

๑. การแพ้ยาถ่ายพยาธิ

            การถ่ายพยาธิเป็นสิ่งสำคัญในการเลี้ยงดูม้า ฟีโนไธอาซีน (Pheno thiazine) เป็นยาถ่ายพยาธิที่นิยมใช้กันมาก เพราะสามารถทำลายพยาธิตัวกลมได้เกือบทุกชนิด แต่ในขณะเดียวกัน ยาถ่ายพยาธิชนิดนี้สามารถทำให้ม้าป่วย เพราะพิษยาได้ด้วย อาการที่พบ เช่น อาการโลหิตจางเรื้อรัง ม้าท้องอาจแท้งลูก และเกิดอาการแพ้แสงสว่าง การรักษาอาจทำได้ โดยหยุดใช้ยาชนิดนี้ ในกรณีที่เป็นพิษรุนแรง อาจจำเป็นต้องมีการให้เลือด

๒. พยาธิม้า

            พยาธิม้ามีมากมายหลายชนิด และที่สำคัญมี ๔ ชนิด คือ

            (๒.๑) พยาธิดูดเลือด (Strongylus spp.)

            ตัวแก่ของพยาธิชนิดนี้ อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ของม้า ดูดเลือดม้ากินเป็นอาหาร ตัวอ่อนของพยาธิอาจชอนไชเข้าไปในกระแสโลหิต ซึ่งอาจทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือด ทำให้ม้าตายได้

            (๒.๒) พยาธิเข็มหมุด (Oxyuris equi)

            ตัวแก่ของพยาธิชนิดนี้ อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ของม้า แล้วจะติดออกมากับอุจจาระ และจะวางไข่ไว้บริเวณใต้หางม้า ทำให้เกิดการระคายเคือง และม้าจะเอาหางไปถูไว้กับผนังคอก ทำให้ขนหลุด จนกลายเป็นขี้กลาก

            (๒.๓) พยาธิตัวกลม (Round worm, Parascaris equorum)

            ตัวแก่อาศัยอยู่ในลำไส้ของม้า และคอยแย่งกินอาหารที่ย่อยแล้ว ทำให้ม้าเกิดโรคขาดอาหาร ตัวอ่อนของพยาธิอาจชอนไชเข้าไปในเส้นเลือด เข้าสู่ตับ หัวใจ ปอด ซึ่งอาจทำให้ม้าถึงแก่ความตายได้

            (๒.๔) พยาธิบอท (Bot Grubs, Gastro philus spp.)

            ตัวแก่ของบอทเป็นแมลงคล้ายๆ แมลงดูดเลือด และจะวางไข่บนตัวม้า บริเวณขา หน้าอก สวาบ ไข่ของพยาธิบอทที่ม้ากินเข้าไป จะเจริญเป็นตัวหนอน (maggot) ไปฝังตัวอยู่ที่ผนังกระเพาะ ทำให้เกิดแผล หรือก้อนเนื้องอกในกระเพาะ ทำให้มีอาการเสียด

ตัวอ่อนของแมลงบอท  

\
ม้าที่ป่วยเป็นโรคเซอร่า

การป้องกันรักษา

ทำได้โดยการทำลายวงจรของพยาธิแต่ละชนิด และจะต้องให้ม้ากินยาถ่ายพยาธิเป็นประจำทุกๆ ๖-๘ สัปดาห์ ยาถ่ายพยาธิที่นิยมใช้กันมากมี
ออกซิเบนดาโซล (Oxibendazole) 
ไอเวอร์แมกติน (Ivermectin) 
๓. โรคติดต่อร้ายแรงในม้า

            (๓.๑) โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax)

            เป็น โรคร้ายแรง และอาจทำให้สัตว์ถึงตายได้ สาเหตุเกิดจากเชื้อบัคเตรีที่เรียกว่า บาซิลลัส แอนทราซีส (Bacillus anthracis)

            สัตว์ที่ป่วยจะมีอาการเสียดอย่างแรง มีอาการไข้สูง ตัวสั่น เบื่ออาหาร หงอย ซึม กล้ามเนื้อขาไม่มีกำลัง อุจจาระมีเลือดปน ท้องและคอจะบวมร้อน

            การควบคุมโรคทำได้ โดยการทำลายสัตว์ที่ป่วย ฉีดวัคซีนป้องกันโรค และแยกสัตว์ที่ป่วยออกจากฝูง นอกจากนี้ยังต้องทำลายเชื้อโรคบริเวณคอกสัตว์ โดยราดด้วยโซดาไฟละลายน้ำ ๕ ต่อ ๑๐๐ ส่วน

            (๓.๒) โรคเซอร่า (Surra)

            สาเหตุเกิดจาก เชื้อโปรโตซัว ชื่อว่า ทรีพพาโนโซมา อีแวนซี (Trypanosoma evansi) ซึ่งจะเข้าไปอาศัยอยู่ในไขสันหลัง ม้าม และในกระแสเลือด อาการที่ปรากฏหลังจากได้รับเชื้อแล้ว ๔ - ๑๓ วัน คือ เบื่ออาหาร ซึม ง่วงเหงา ไข้สูง อ่อนเพลีย หาย ใจถี่หรือหอบ เกิดจุดเลือดที่เปลือกตาชั้นใน และเยื่อตาบวม บริเวณหนังอวัยวะสืบพันธุ์ ขา ใต้คาง และเนื้อท้อง สัตว์ที่ป่วยอาจจะตายในระยะเพียงไม่กี่วัน

            (๓.๓) โรคโลหิตจางในม้า (Equine Infec tious Anemia : F.I.A.)

            เป็นโรคติดต่อร้ายแรงในม้า เกิดจากเชื้อไวรัส ไทรเฟอร์ อีควินอรัม (Trifur equinorum) ทำให้ม้ามีอาการไข้ขึ้นลง ซึม อ่อนแอ บวมน้ำ น้ำหนักลด บางรายมีเลือดคั่ง มีจุดเลือดตามเยื่อเมือกของตา พบโลหิตจางเป็นเวลานาน

อาการขั้นสุดท้าย

            สัตว์จะแสดงอาการ อ่อนเพลีย ทรงตัวไม่ไหว หายใจเร็ว เบื่ออาหาร ไข้สูง ท้องบวม และตายในที่สุด โรคนี้ยังไม่มียารักษา แต่อาจป้องกันได้ ด้วยการแยกสัตว์ป่วยให้พ้นพื้นที่ และฆ่าเชื้อโรคบริเวณที่สัตว์อาศัย ภาชนะ หรือเครื่องขี่ของสัตว์ป่วย ต้องได้รับการอบ-ฆ่าเชื้อโรค จนมั่นใจแล้ว จึงนำมาใช้ได้

            (๓.๔) โรคบาดทะยัก (Tetanus)

            สาเหตุ เกิดจากเชื้อ คลอสตริเดียม เททานิ (Clostridium tetani) ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณผิวดิน ในอุจจาระ สัตว์ที่ป่วยจะมีอาการขากรรไกรแข็ง หรือขาหลังทำงานไม่ได้ตามปกติ อุณหภูมิในร่างกายขึ้นสูง หายใจลำบาก กล้ามเนื้อกระตุก สัตว์ที่ป่วยจะไม่ชอบแสงสว่างและเสียง เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อเป็นตะคริวแข็งมากขึ้น อาจล้มลง และถึงตายได้ในที่สุด

            (๓.๕) โรคมงคล่อธรรมดา (Strangles)

            สาเหตุเกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ สเตรปโตคอกคัส อีควิ (Streptococcus equi) อาการสัตว์ที่ป่วยจะพบว่า กินอาหารน้อยลง เป็นหวัดอย่างรุนแรง เนื้อเยื่อในจมูกจะแห้ง มีน้ำหนองไหลออกมาเกาะตามบริเวณริมฝีปากของม้า หลอดคออักเสบ ต่อมน้ำเหลืองบวมโต

การรักษา

            ทำได้ด้วยการฉีดเซรุ่ม ถ้าเป็นหนองต้องผ่าออก และรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ