๑. คุณลักษณะของผู้ขี่ม้า
การเป็นนักขี่ม้าที่ดี ต้องได้รับการฝึกสอน และมีการฝึกฝนเป็นประจำ ทั้งในทางปฏิบัติ และทฤษฎี แต่การที่จะให้ทุกคนเป็นนักขี่ม้าที่ดีนั้น ลำบาก เพราะสิ่งแวดล้อม เวลา และการอบรม ตลอดจนนิสัยของนักขี่ม้าแต่ละคนไม่เหมือนกัน ลักษณะของผู้ขี่ม้าที่ดี คือ
(๑) ต้องมีนิสัยเป็นคนเรียบร้อย สุภาพ อ่อนโยน ปฏิบัติตามคำสั่งของครูฝึกสอน และเจ้าของคอกม้า รู้จักระเบียบข้อปฏิบัติต่างๆ ใน เรื่องการขี่ม้าของสนาม
(๒) มีนิสัยรักม้า เมื่อเกิดความรัก ก็มีใจเมตตาต่อม้านั้นๆ
(๓) ต้องมีความซื่อตรง โดยต้องเป็นคนไว้ใจได้ ซื่อตรงต่อหน้าที่ของตน ทั้งต่อหน้า และลับหลัง
(๔) ได้รับการฝึกมาแล้วเป็นอย่างดี การเป็นนักขี่ม้าแข่งได้ ต่อเมื่อได้ผ่านการทดสอบมาแล้ว แม้เมื่อผ่านการทดสอบมาแล้ว ใช่ว่าจะเป็นนักขี่ม้าที่ดี ต้องคอยซ้อม ทบทวน หรือหาความชำนาญเสมอ
(๕) เป็นคนที่สนใจ และชอบการขี่ม้า สนใจในการหัดม้า ไม่เกียจคร้านในการฝึกซ้อม พยายามสังเกตนิสัยของม้าเสมอๆ รู้จักม้า และจำม้าที่เคยซ้อมได้
(๖) มีความสามารถในการบังคับม้า หรือพูดได้ว่า ขี่ม้าเก่ง ซ้อมม้าได้ดี รู้จักผ่อนหนัก ผ่อนเบากับม้า
(๗) มีกำลังใจกล้าแข็งเหนือม้า ไม่กลัวม้า และไม่กลัวอันตรายที่ได้รับจากม้า ตลอดจนรู้ว่า อันตรายนั้นมีอะไรบ้าง มีความเข้มแข็งอดทน
(๘) ใจเย็นไม่ฉุนเฉียว ไม่ลงโทษม้าด้วยความโมโหโทโส รู้จักการลงโทษม้า ให้รางวัลม้า และรู้จักการฝึก การปลอบ การเอาใจม้า
(๙) ต้องมีความเมตตากรุณา รู้จักการให้ อภัย เพราะม้าพูดกับเราไม่ได้ ไม่ทราบว่า จะทำอย่างไรจึงจะสัมพันธ์กัน และม้าไม่เคยมีความรู้เรื่องการวิ่ง การแข่งมาก่อน เราต้องเป็นผู้ฝึกหัดให้
(๑๐) รู้จักการถนอมกำลังกายของตัวเอง เพื่อให้มีความสมบูรณ์อยู่เสมอ รู้จักการรักษาเนื้อรักษาตัวให้เป็นคนที่แข็งแรง เพื่อมีกำลังกาย กำลังใจ ความคิด ในการขี่ม้า
๒. เครื่องม้าและการเก็บรักษา
เครื่องม้า และการเก็บรักษา เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในวงการม้าขี่ และม้าแข่ง เพราะเครื่องม้าเป็นส่วนประกอบในการขี่ม้า ถ้าหากว่า การเก็บรักษา และการทำความสะอาดไม่ดีพอแล้ว อาจทำให้ชำรุด หรือเสียหายเร็วเกินไป หรือถ้าหากว่าผู้ใช้ไม่ตรวจให้ละเอียดรอบคอบแล้ว อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ขี่ม้า ถึงพิการ หรือเสียชีวิตได้
เครื่องขี่ม้า
ประกอบไปด้วยสิ่งต่างๆ เช่น
ก. เครื่องบังเหียน
ข. อานม้า
ค. เครื่องม้า และเบ็ดเตล็ดอื่นๆ
ก. เครื่องบังเหียน เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการ บังคับม้า เพื่อให้ม้าเลี้ยวไปตามทิศทาง ที่ผู้ขี่ต้องการ บังเหียนใช้ผูกบริเวณส่วนหน้าของม้า
ข. อานม้า เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการนั่งขี่ และบังคับม้าด้วยเข่า มีส่วนประกอบที่สำคัญคือ สายรัดทึบยึดติดตัวอานม้าไว้บนหลังไม่ให้เลื่อนไหล หรือพลิกกลับ และสายโกลน ซึ่งใช้ในการเหยียบและยึดเท้าของผู้ขี่
ค. เครื่องม้าและเบ็ดเตล็ดอื่นๆ ได้แก่ สิ่งต่างๆ ดังนี้
๑. ขลุมขี่
๒. ขลุมจูง
๓. ขลุมตีวง
ขลุมขี่ เป็นเครื่องมือบังคับม้าให้ทำตามความประสงค์ของผู้ขี่ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
(๑) ขลุมเดี่ยว หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ชุด บังเหียนปากอ่อน ใช้สำหรับผูกบังเหียนอันเดียว
(๒) ขลุมคู่ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ชุด บังเหียนปากแข็ง ขลุมนี้ใช้สำหรับผูกกับบังเหียนคู่ เช่น บังเหียนปากอ่อนควบกับบังเหียนปากแข็ง ซึ่งต้องมีสายรัดกระหม่อม ๒ สาย สายขลุม ๒ สาย สายบังเหียน ๒ สาย การใช้ขลุมคู่นี้มักจะใช้กับม้าที่มีนิสัยดื้อ เกเร ซึ่งหากใช้บังเหียนปากอ่อน จะไม่สามารถบังคับม้าได้ จึงใช้กับบังเหียนปากแข็งคู่
ขลุมจูง เป็นขลุมที่ใส่ไว้เพื่อล่ามม้า ใช้มัดหรือจับจูงเดินในบริเวณที่ไม่ใช่แปลงปล่อยม้า ใช้เพื่อจูงเดิน หรือล่ามเพื่อทำความสะอาดตัวม้า
ขลุมตีวง เป็นขลุมที่มีไว้ เพื่อใช้ฝึกม้าให้รู้จักทำตามคำสั่ง ขลุมนี้จะใช้กับม้าที่นำมาฝึกใหม่ๆ
การใส่บังเหียนและอานม้า
สิ่งสำคัญอีกอย่างในการดูแลรักษาม้า คือ การใส่บังเหียน และการใส่อานที่ถูกวิธี โดยจะต้องไม่หลวมหรือตึงจนเกินไปต่อการใส่ ซึ่งจะทำให้ม้าเกิดความคล่องตัวในการเดินหรือวิ่ง