เล่มที่ 19
ภูมิปัญญาชาวบ้าน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การเลี้ยงวัว
การเลี้ยงวัว

การเกษตรแบบผสมผสานอีกรูปแบบหนึ่ง
การเกษตรแบบผสมผสานอีกรูปแบบหนึ่ง

เครื่องปั้นดินเผา
เครื่องปั้นดินเผา

ชาวบ้านนำพืชผักไปขายหรือแลกเปลี่ยนกัน
ชาวบ้านนำพืชผักไปขายหรือแลกเปลี่ยนกัน

ตลาดตามหมู่บ้าน
ตลาดตามหมู่บ้าน
การทำมาหากิน

            แม้วิถีชีวิตของชาวบ้านเมื่อก่อนจะดูเรียบง่ายกว่าทุกวันนี้ และยังอาศัยธรรมชาติ และแรงงานเป็นหลัก ในการทำมาหากิน แต่พวกเขาก็ต้องใช้สติปัญญา ที่บรรพบุรุษถ่ายทอดมาให้ เพื่อจะได้อยู่รอด ทั้งนี้เพราะปัญหาต่างๆ ในอดีตก็ยังมีไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อครอบครัวมีสมาชิกมากขึ้น จำเป็นต้องขยายที่ทำกิน ต้องหักร้างถางพง บุกเบิก พื้นที่ทำกินใหม่ การปรับพื้นที่ปั้นคันนา เพื่อทำนา ซึ่งเป็นงานที่หนัก การทำไร่ทำนา ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ และดูแลรักษาให้เติบโต และได้ผล เป็นงานที่ต้องอาศัยความรู้ความสามารถ การจับปลาล่าสัตว์ก็มีวิธีการ บางคนมีความสามารถมากรู้ว่า เวลาไหน ที่ใด และวิธีใด จะจับปลาได้ดีที่สุด คนที่ไม่เก่งก็ต้องใช้เวลานาน และได้ปลาน้อย การล่าสัตว์ก็เช่นเดียวกัน

            การจัดการแหล่งน้ำ เพื่อการเกษตร ก็เป็นความรู้ความสามารถ ที่มีมาแต่โบราณ คนทางภาคเหนือรู้จักบริหารน้ำ เพื่อการเกษตร และเพื่อการบริโภคต่างๆ โดยการจัดระบบเหมืองฝาย มีการจัดแบ่งปันน้ำกันตามระบบประเพณีที่ สืบทอดกันมา มีหัวหน้าที่ทุกคนยอมรับ มีคณะกรรมการจัดสรรน้ำตามสัดส่วน และตามพื้นที่ทำกิน นับเป็นความรู้ที่ทำให้ชุมชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ใกล้ลำน้ำ ไม่ว่าต้นน้ำ หรือปลายน้ำ ได้รับการแบ่งปันน้ำอย่างยุติธรรม ทุกคนได้ประโยชน์ และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

            ชาวบ้านรู้จักการแปรรูปผลิตผลในหลายรูปแบบ การถนอมอาหารให้กินได้นาน การดองการหมัก เช่น ปลาร้า น้ำปลา ผักดอง ปลาเค็ม เนื้อเค็ม ปลาแห้ง เนื้อแห้ง การแปรรูปข้าว ก็ทำได้มากมายนับร้อยชนิด เช่น ขนมต่างๆ แต่ละพิธีกรรม และแต่ละงานบุญประเพณี มีข้าวและขนมในรูปแบบไม่ซ้ำกัน ตั้งแต่ขนมจีน สังขยา ไปถึงขนมในงานสารท กาละแม ขนมครก และอื่นๆ ซึ่งยังพอมีให้เห็นอยู่จำนวนหนึ่ง ในปัจจุบันส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนมาเป็นการผลิตเพื่อขาย หรือเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน

            ความรู้เรื่องการปรุงอาหารก็มีอยู่มากมาย แต่ละท้องถิ่นมีรูปแบบ และรสชาติแตกต่างกันไป มีมากมายนับร้อยนับพันชนิด แม้ในชีวิตประจำวัน จะมีเพียงไม่กี่อย่าง แต่โอกาสงานพิธี งาน เลี้ยง งานฉลองสำคัญ จะมีการจัดเตรียมอาหารอย่างดี และพิถีพิถัน

            การทำมาหากินในประเพณีเดิมนั้น เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ การเตรียมอาหาร การจัดขนม และผลไม้ ไม่ได้เป็นเพียงเพื่อให้รับประทานแล้วอร่อย แต่ให้ได้ความสวยงาม ทำให้สามารถสัมผัสกับอาหารนั้น ไม่เพียงแต่ทางปาก และรสชาติของลิ้น แต่ทางตา และทางใจ การเตรียมอาหารเป็นงานศิลปะ ที่ปรุงแต่ด้วยความตั้งใจ ใช้เวลา ฝีมือ และความรู้ความสามารถ

            ชาวบ้านสมัยก่อนส่วนใหญ่จะทำนาเป็นหลัก เพราะเมื่อมีข้าวแล้ว ก็สบายใจ อย่างอื่นพอหาได้จากธรรมชาติ เสร็จหน้านาก็จะทำงานหัตถกรรม การทอผ้า ทำเสื่อ เลี้ยงไหม ทำเครื่องมือ สำหรับจับสัตว์ เครื่องมือการเกษตร และ อุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น หรือเตรียมพื้นที่ เพื่อการทำนาครั้งต่อไป

            หัตถกรรมเป็นทรัพย์สิน และมรดกทางภูมิปัญญาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของบรรพบุรุษ เพราะเป็นสื่อที่ถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความเชื่อ และคุณค่าต่างๆ ที่สั่งสมมาแต่นมนาน ลายผ้าไหม ผ้าฝ้าย ฝีมือในการทออย่างประณีต รูปแบบเครื่องมือ ที่สานด้วยไม้ไผ่ และอุปกรณ์ เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ เครื่องดนตรี เครื่องเล่น สิ่งเหล่านี้ได้ถูกบรรจงสร้างขึ้นมา เพื่อการใช้สอย การทำบุญ หรือการอุทิศให้ใครคนหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อการค้าขาย

            ชาวบ้านทำมาหากินเพียงเพื่อการยังชีพ ไม่ได้ทำเพื่อขาย มีการนำผลิตผลส่วนหนึ่งไปแลกสิ่งของที่จำเป็น ที่ตนเองไม่มี เช่น นำข้าวไป แลกเกลือ พริก ปลา ไก่ หรือเสื้อผ้า การขายผลิตผลมีแต่เพียงส่วนน้อย และเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้เงิน เพื่อเสียภาษีให้รัฐ ชาวบ้านนำผลิตผล เช่น ข้าว ไปขายในเมืองให้กับพ่อค้า หรือขายให้กับพ่อค้าท้องถิ่น เช่น ทางภาคอีสาน เรียกว่า "นายฮ้อย" คนเหล่านี้จะนำผลิตผลบางอย่าง เช่น ข้าว ปลาร้า วัว ควาย ไปขายในที่ไกลๆ ทางภาคเหนือมีพ่อค้าวัวต่างๆ เป็นต้น

            แม้ว่าความรู้เรื่องการค้าขายของคนสมัยก่อน ไม่อาจจะนำมาใช้ในระบบตลาดเช่นปัจจุบันได้ เพราะสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แต่การค้าที่มีจริยธรรมของพ่อค้าในอดีต ที่ไม่ได้หวังแต่เพียงกำไร แต่คำนึงถึงการช่วยเหลือ แบ่งปันกันเป็นหลัก ยังมีคุณค่าสำหรับปัจจุบัน นอกนั้น ในหลายพื้นที่ในชนบท ระบบการแลกเปลี่ยนสิ่งของยังมีอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ยากจน ซึ่งชาวบ้านไม่มีเงินสด แต่มีผลิตผลต่างๆ ระบบการแลกเปลี่ยนไม่ได้ยึดหลักมาตราชั่งวัด หรือการตีราคาของสิ่งของ แต่แลกเปลี่ยน โดยการคำนึงถึงสถานการณ์ของผู้แลกทั้งสองฝ่าย คนที่เอาปลาหรือไก่มาขอแลกข้าว อาจจะได้ข้าวเป็นถัง เพราะเจ้าของข้าวคำนึงถึงความจำเป็นของครอบครัวเจ้าของไก่ ถ้าหากตีราคาเป็นเงิน ข้าวหนึ่งถังย่อมมีค่าสูงกว่าไก่หนึ่งตัว