เล่มที่ 19
ภูมิปัญญาชาวบ้าน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การเลี้ยงวัว
การเลี้ยงวัว

ในสังคมระดับหมู่บ้าน คนเฒ่าคนแก่มักจะเป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษาแก่คนในหมู่บ้าน
ในสังคมระดับหมู่บ้าน คนเฒ่าคนแก่มักจะเป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษาแก่คนในหมู่บ้าน

เครื่องในพิธีสืบชะตาแม่น้ำ
เครื่องในพิธีสืบชะตาแม่น้ำ  

การละเล่นของชาวบ้าน
การละเล่นของชาวบ้าน
การอยู่ร่วมกันในสังคม

            การอยู่ร่วมกันในชุมชนดั้งเดิมนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นญาติพี่น้องไม่กี่ตระกูล ซึ่งได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาอยู่ หรือสืบทอดบรรพบุรุษจนนับญาติกันได้ทั้งชุมชน มีคนเฒ่าคนแก่ที่ชาวบ้านเคารพนับถือเป็นผู้นำหน้าที่ของผู้นำ ไม่ใช่การสั่ง แต่เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษา มีความแม่นยำในกฎระเบียบประเพณีการดำเนินชีวิต ตัดสินไกล่เกลี่ย หากเกิดความขัดแย้ง ช่วยกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น

            ปัญหาในชุมชนก็มีไม่น้อย ปัญหาการทำมาหากิน ฝนแล้ง น้ำท่วม โรคระบาด โจรลักวัวควาย เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีปัญหาความขัดแย้งภายในชุมชน หรือระหว่างชุมชน การละเมิดกฎหมาย ประเพณี ส่วนใหญ่จะเป็นการ " ผิดผี" คือ ผีของบรรพบุรุษ ผู้ซึ่งได้สร้างกฎเกณฑ์ต่างๆ ไว้ เช่น กรณีที่ชายหนุ่มถูกเนื้อต้องตัวหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงาน เป็นต้น หากเกิดการผิดผีขึ้นมา ก็ต้องมีพิธีกรรมขอขมา โดยมีคนเฒ่าคนแก่เป็นตัวแทนของบรรพบุรุษ มีการว่ากล่าวสั่งสอน และชดเชยการทำผิดนั้น ตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้

            ชาวบ้านอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกัน ยามเจ็บไข้ได้ป่วย ยามเกิดอุบัติเหตุเภทภัย ยามที่โจรขโมยวัวควายข้าวของ การช่วยเหลือกันทำงานที่เรียกกันว่า การลงแขก ทั้งแรงกายแรงใจที่มีอยู่ก็จะแบ่งปันช่วยเหลือ เอื้ออาทรกัน การ แลกเปลี่ยนสิ่งของ อาหารการกิน และอื่นๆ จึงเกี่ยวข้องกับวิถีของชุมชน ชาวบ้านช่วยกันเก็บเกี่ยวข้าว สร้างบ้าน หรืองานอื่นที่ต้องการคนมากๆ เพื่อจะได้เสร็จโดยเร็ว ไม่มีการจ้าง

            กรณีตัวอย่างจากการปลูกข้าวของชาวบ้าน ถ้าปีหนึ่งชาวนาปลูกข้าวได้ผลดี ผลิตผลที่ได้จะใช้เพื่อการบริโภคในครอบครัว ทำบุญที่วัด เผื่อแผ่ให้พี่น้องที่ขาดแคลน แลกของ และเก็บไว้ เผื่อว่าปีหน้าฝนอาจแล้ง น้ำอาจท่วม ผลิตผล อาจไม่ดี

            ในชุมชนต่างๆ จะมีผู้มีความรู้ความสามารถหลากหลาย บางคนเก่งทางการรักษาโรค บางคนทางการเพาะปลูกพืช บางคนทางการเลี้ยงสัตว์ บางคนทางด้านดนตรีการละเล่น บางคนเก่งทางด้านพิธีกรรม คนเหล่านี้ต่างก็ใช้ความสามารถ เพื่อประโยชน์ของชุมชน โดยไม่ถือเป็นอาชีพ ที่มีค่าตอบแทน อย่างมากก็มี "ค่าครู" แต่เพียงเล็กน้อย ซึ่งปกติแล้ว เงินจำนวนนั้น ก็ใช้สำหรับเครื่องมือประกอบพิธีกรรม หรือ เพื่อทำบุญที่วัด มากกว่าที่หมอยา หรือบุคคลผู้นั้น จะเก็บไว้ใช้เอง เพราะแท้ที่จริงแล้ว "วิชา" ที่ครูถ่ายทอดมาให้แก่ลูกศิษย์ จะต้องนำไปใช้ เพื่อประโยชน์แก่สังคม ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว การตอบแทนจึงไม่ใช่เงินหรือสิ่งของเสมอไป แต่เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยวิธีการต่างๆ

            ด้วยวิถีชีวิตเช่นนี้ จึงมีคำถาม เพื่อเป็นการสอนคนรุ่นหลังว่า ถ้าหากคนหนึ่งจับปลาช่อนตัวใหญ่ได้หนึ่งตัว ทำอย่างไรจึงจะกินได้ทั้งปี คนสมัยนี้อาจจะบอกว่า ทำปลาเค็ม ปลาร้า หรือเก็บรักษาด้วยวิธีการต่างๆ แต่คำตอบที่ถูกต้อง คือ แบ่งปันให้พี่น้อง เพื่อนบ้าน เพราะเมื่อเขาได้ปลา เขาก็จะทำกับเราเช่นเดียวกัน

            ชีวิตทางสังคมของหมู่บ้าน มีศูนย์กลางอยู่ที่วัด กิจกรรมของส่วนรวม จะทำกันที่วัด งานบุญประเพณีต่างๆ ตลอดจนการละเล่นมหรสพ พระสงฆ์เป็นผู้นำทางจิตใจ เป็นครูที่สอนลูกหลานผู้ชาย ซึ่งไปรับใช้พระสงฆ์ หรือ "บวชเรียน" ทั้งนี้เพราะก่อนนี้ยังไม่มีโรงเรียน วัดจึงเป็นทั้งโรงเรียน และหอประชุม เพื่อกิจกรรมต่างๆ ต่อเมื่อโรงเรียนมีขึ้น และแยกออกจากวัด บทบาทของวัด และของพระสงฆ์ จึงเปลี่ยนไป

            งานบุญประเพณีในชุมชนแต่ก่อนมีอยู่ทุกเดือน ต่อมาก็ลดลงไป หรือสองสามหมู่บ้านร่วมกันจัด หรือผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน เช่น งานเทศน์มหาชาติ ซึ่งเป็นงานใหญ่ หมู่บ้านเล็กๆ ไม่อาจจะจัดได้ทุกปี งานเหล่านี้มีทั้งความเชื่อ พิธีกรรม และความสนุกสนาน ซึ่งชุมชนแสดงออกร่วมกัน