เล่มที่ 19
ภูมิปัญญาชาวบ้าน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ภูมิปัญญาชาวบ้านในสังคมปัจจุบัน

            ภูมิปัญญาชาวบ้านได้ก่อเกิด และสืบทอดกันมาในชุมชนหมู่บ้าน เมื่อหมู่บ้านเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับสังคมสมัยใหม่ ภูมิปัญญาชาวบ้านก็มีการปรับตัวเช่นเดียวกัน

            ความรู้จำนวนมากได้สูญหายไป เพราะไม่มีการปฏิบัติสืบทอด เช่น การรักษาพื้นบ้านบางอย่าง การใช้ยาสมุนไพรบางชนิด เพราะหมอยาที่เก่งๆ ได้เสียชีวิต โดยไม่ได้ถ่ายทอดให้กับคนอื่น หรือถ่ายทอด แต่คนต่อมาไม่ได้ปฏิบัติ เพราะชาวบ้านไม่นิยมเหมือนเมื่อก่อน ใช้ยาสมัยใหม่ และไปหาหมอ ที่โรงพยาบาล หรือคลินิก ง่ายกว่า งานหันตถกรรม ทอผ้า หรือเครื่องเงิน เครื่องเขิน แม้จะยังเหลืออยู่ไม่น้อย แต่ก็ได้ถูกพัฒนาไปเป็นการค้า ไม่สามารถรักษาคุณภาพ และฝีมือแบบดั้งเดิมไว้ได้ ในการทำมาหากินมีการใช้เทคโนโลยีทันสมัย ใช้รถไถแทนควาย รถอีแต๋นแทนเกวียน

ศาลพระภูมิเสาเดียว

การผลิตเครื่องทองเหลือง  

            การลงแขกทำนา และปลูกสร้างบ้านเรือน ก็เกือบจะหมดไป มีการจ้างงานกันมากขึ้น แรงงานก็หายากกว่าแต่ก่อน ผู้คนอพยพย้ายถิ่น บ้างก็เข้าเมือง บ้างก็ไปทำงานที่อื่น ประเพณีงานบุญ ก็เหลือไม่มาก ทำได้ก็ต่อเมื่อ ลูกหลานที่จากบ้านไปทำงาน กลับมาเยี่ยมบ้านในเทศกาลสำคัญๆ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ เข้าพรรษา เป็นต้น

            สังคมสมัยใหม่มีระบบการศึกษาในโรงเรียน มีอนามัย และโรงพยาบาล มีโรงหนัง วิทยุ โทรทัศน์ และเครื่องบันเทิงต่างๆ ทำให้ชีวิตทางสังคมของชุมชนหมู่บ้านเปลี่ยนไป มีตำรวจ มีโรงมีศาล มีเจ้าหน้าที่ราชการฝ่ายปกครอง ฝ่ายพัฒนา และอื่นๆ เข้าไปในหมู่บ้าน บทบาทของวัด พระสงฆ์ และคนเฒ่าคนแก่เริ่มลดน้อยลงไป

การตักบาตร

            การทำมาหากินก็เปลี่ยนจากการทำเพื่อยังชีพไปเป็นการผลิตเพื่อการขาย ผู้คนต้องการเงิน เพื่อซื้อเครื่องบริโภคต่างๆ ทำให้สิ่งแวดล้อม ปลี่ยนไป ผลิตผลจากป่าก็หมด สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ผู้นำการพัฒนาชุมชนหลายคน ที่มีบทบาทสำคัญในระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ เริ่มเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาชาวบ้าน หน่วยงานทางภาครัฐ และภาคเอกชน ให้การสนับสนุน และส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ประยุกต์ และค้นคิดสิ่งใหม่ ความรู้ใหม่ เพื่อประโยชน์สุขของสังคม