เล่มที่ 19
สารกึ่งตัวนำ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การเติมสารเจือปน

สารกี่งตัวนำชนิด N และ P

            เมื่อมีการเติมอะตอมของสารเจือปนที่อยู่ในหมู่ V (อะตอมที่มีอิเล็กตรอน ที่อยู่ในวงโคจรนอกสุด จำนวน ๕ อิเล็กตรอน) ลงไปในผลึกสารกึ่งตัวนำที่อยู่ในหมู่ IV (อะตอมที่มีอิเล็กตรอนที่อยู่ในวงโคจรนอกสุดจำนวน ๔ อิเล็กตรอน) จะเกิดอิเล็กตรอนอิสระ ๑ ตัว ทำให้สารกึ่งตัวนำที่อยู่ในหมู่ IV นี้นำไฟฟ้าได้แบบ N อะตอม สารเจือปนที่ทำหน้าที่จ่ายอิเล็กตรอนอิสระได้นี้เรียกว่า โดเนอร์ (Donor : ผู้ให้) และมีประจุไฟฟ้าเป็นบวก สารเจือปนชนิด N ได้แก่ ฟอสฟอรัส (P) อาเซนิก (As) แอนติโมนี (S b)



            เมื่อมีการเติมอะตอมของสารเจือปนที่อยู่ในหมู่ III (อะตอมที่มีอิเล็กตรอนที่อยู่ในวงโคจรนอกสุดจำนวน ๓ อิเล็กตรอน ลงไปในผลึกสารกึ่งตัวนำที่อยู่ในหมู่ IV จะขาดอิเล็กตรอน ๑ ตัว เราเรียกสถานะนี้ว่า โฮล (Hole แปลว่า หลุม) โฮลจะจับอิเล็กตรอนที่อยู่ข้างเคียงได้ จึงทำให้เกิดโฮลข้างเคียง จนดูเหมือนว่า โฮลเคลื่อนที่ได้ ผลึกที่มีโฮลเคลื่อนที่ได้นี้ จึงมีการนำไฟฟ้าแบบ P อะตอมของสารเจือปนที่ให้เกิดโฮลนี้ เรียกว่า เอกเซบเตอร์ (Acceptor : ผู้รับ) เมื่อรับอิเล็กตรอนมาแล้ว อะตอมนี้จึงมีประจุไฟฟ้าเป็นลบ สารเจือปนชนิด P ได้แก่ โบรอน (B) อินเดียม (In)