สมเด็จพระสุริโยทัย พระวีรกษัตรีแห่งกรุงศรีอยุธยา การศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยนั้น เคยมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เพราะเหตุใดจึงมีเหตุการณ์ทำศึกสงครามอยู่มากและในการทำศึกสู้รบนั้น ก็ดูเหมือนจะมีชาติพม่าเป็นคู่กรณี ที่ขับเคี่ยวต่อสู้กันมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี ความดังกล่าวอาจอธิบายได้ว่า เพราะในอดีตนั้น ยังเป็นช่วงระยะเวลาสร้างบ้านสร้างเมืองซึ่งแต่ละฝ่ายต่างต้องการผู้คน ไว้เป็นกำลังส่งเสริมแสนยานุภาพของแว่นแคว้น รวมทั้งยังมีคติความเชื่อในเรื่องของความเป็นพระมหาจักรพรรดิราช คือความเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่กว่ากษัตริย์พระองค์อื่นใด ด้วยการทำศึกสงคราม เพื่อแผ่พระบรมเดชานุภาพจึงเป็นจารีตที่ปฏิบัติกันสืบมา ตราบจนกระทั่งลัทธิล่าอาณานิคมจากตะวันตกแพร่ขยายเข้ามาลักษณะความ สัมพันธ์ของบรรดารัฐใกล้เคียงกับไทยจึงเปลี่ยนแปลงไป และการเผชิญหน้าในรูปของการทำศึกสงครามต่อกัน ก็จบสิ้นลงไปด้วย สงครามระหว่างไทยกับพม่าในประวัติศาสตร์นั้น มีเหตุการณ์เรื่องราวมากมายจนสามารถบันทึกเป็นเรื่องเป็นราวได้เฉพาะ ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ทรงพระนิพนธ์ไว้เป็น "พงศาวดาร ไทยรบพม่า" ซึ่งในเหตุการณ์สู้รบต่อกันนี้ ล้วนเป็นตำนานแห่งการต่อสู้การเสียสละของบรรพชนคนแล้วคนเล่า ฝากไว้ให้ลูกหลานไทยได้รับรู้ และจดจำไปชั่วกาลนาน ใน "พงศาวดาร ไทยรบพม่า" จำนวน ๔๔ ครั้งนี้ ได้มีบันทึกสงครามสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เรียกว่า "สงคราม ครั้งที่ ๒ คราวสมเด็จพระสุริโยทัยขาดคอช้าง ปีวอก พุทธศักราช ๒๐๙๑" ได้จารึกพระวีรกรรมแห่งสมเด็จพระมเหสีพระองค์หนึ่ง ทรงมีพระนามว่า สมเด็จพระสุริโยทัย ได้พลีพระชนม์ชีพปกป้องพระราชสวามีอย่างองอาจกล้าหาญ จนทรงได้รับการสดุดีพระเกียรติ ให้ทรงเป็นพระวีรกษัตรีในประวัติศาสตร์ชาติไทยพระองค์หนึ่ง และเป็นเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น | |
พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย บริเวณทุ่งมะขามหย่อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา | |
ความเป็นมาของสงครามระหว่างไทยกับพม่าใน ครั้งนั้น มีเหตุการณ์สืบเนื่องมาจากพระเจ้าหงสาวดีตะเบงชะเวตี้ ได้รู้ข่าวกรุงศรีอยุธยาเกิดเหตุวุ่นวาย เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช เกิดการแย่งชิงราชสมบัติระหว่างพระแก้วฟ้า พระราชโอรส และขุนวรวงศาธิราช และอัญเชิญพระราชอนุชาต่างพระชนนีในสมเด็จพระไชยราชาธิราชขึ้นเสวยราช สมบัติ ทรงพระนามว่า "สมเด็จ พระมหาจักรพรรดิ" เมื่อกองทัพพระเจ้ากรุงหงสาวดียกมาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว กองทัพกรุงศรีอยุธยาได้ยกออกไป ดังมีความบันทึกใน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ว่า "...ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันอาทิตย์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๔ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า จะเสด็จยกพยุหโยธาทวยหาญออกไปดูกำลังข้าศึก ณ ทุ่งภูเขาทอง จึงทรงเครื่องราชอลังการยุทธ เสด็จทรงช้างต้นพลายแก้วจักรพรรดิ สูงหกศอกคืบห้านิ้วเป็นพระคชาธาร ประดับคชาลังการาภรณ์เครื่องมั่นมีกลางช้างและควาญ พระสุริโยทัยผู้เป็นเอกอัครราชมเหสี ประดับพระองค์เป็นพระมหาอุปราช ทรงเครื่องสำหรับราชณรงค์ เสด็จทรงช้างพลายทรงสุริยกษัตริย์ สูงหกศอกเป็นคชาธารประดับคชาภรณ์ เครื่องมั่นเสร็จมีกลางช้างและควาญ พระราเมศวรทรงเครื่องสิริราชปิลันะนาวราภรณ์สำหรับพิชัยยุทธสงคราม เสร็จ เสด็จทรงช้างต้นพลายมงคลจักรพาฬ สูงห้าศอกคืบแปดนิ้ว ประดับคชาภรณ์เครื่องมั่น มีควาญและกลางช้าง พระมหินทราธิราช ทรงราชวิภูษนา-ลังการาภรณ์ สำหรับพระมหาพิชัยยุทธ เสด็จทรงช้างต้นพลายพิมานจักรพรรดิ สูงห้าศอกคืบแปดนิ้ว ประดับกุญชรอลงกต เครื่องมั่นมีกลางช้างและควาญ ครั้นได้มหาศุภวารฤกษ์ราชดฤถี พระโหราลั่นฆ้องชัยประโคมอุโฆษแตรสังข์อึงอินทเภรี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าก็ยาตราพระคชาธารข้ามฟากไป พระอัครมเหสีและพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ โดยเสด็จเหล่าคชพยุหดั้งกันแทรกแซงค่ายค้ำพังคาโดดแล่น มีทหารประจำขี่กรกุมปืนปลายขอประจำคอทุกตัวสาร ควาญประจำท้ายล้อมเป็นกรรกงโดยขนัดแล้วถึงหมู่พยุหแสนยากร โยธาหาญเดินเท้าถือดาบดั้งเสโลโตมรหอกใหญ่หอกคู่ ธงทวนธนูปืนนกสับคับคั่งซ้ายขวาหน้าหลัง โดยกระบวนคชพยุหสงคราม เสียงเท้าพลและเท้าช้างสะเทื้อนดังพสุธาจะทรุด สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า เสด็จยืนพระคชาธารประมวลพลและคชพยุหโดยกระบวนตั้งอยู่ ณ โคกพระยา..." กองทัพฝ่ายกรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งมีสมเด็จพระสุริโยทัย พระอัครมเหสี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทั้งสองพระองค์ เสด็จมาในทัพด้วยนี้ ได้ปะทะกับกองทัพพระเจ้าแปร ซึ่งเป็นทัพหน้าของพระเจ้ากรุงหงสาวดี ได้ทรงเข้าชนช้างกัน ความในพงศาวดารไทยรบพม่าพรรณนาไว้ว่า "...ช้าง พระที่นั่งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสียที สมเด็จพระสุริโยทัยเกรงพระราชสวามีจะเป็นอันตราย จึงขับช้างทรงเข้าขวางช้างข้าศึกไว้ พระเจ้าแปรได้ทีฟัน สมเด็จพระสุริโยทัย ด้วยสำคัญว่า เป็นชาย สิ้นพระชนม์ซบลงกับคอช้าง..." | |
พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย แห่งใหม่ บริเวณทุ่งมะขามหย่องอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา | |
ความตอนนี้นับเป็นเหตุการณ์สำคัญ ที่แสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยที่กล้าหาญเด็ดเดี่ยว โดยยอมถวายพระชนม์ชีพ เพื่อป้องกันพระราชสวามีจากอันตราย "...ข้าพระองค์ผู้ผ่านพิภพกรุง ศรีสัตนาคนหุต ขอถวายอภิวาทวันทนามายังสมเด็จพระปิตุราธิราช ผู้ผ่านพิภพกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาฯ... ข้าพระองค์ยังไป่มีเอกอัครราชกัลยาณี ที่จะสืบศรีสุริยวงศ์ ในกรุงศรีสัตนาคนหุตต่อไปมิได้ ข้าพระองค์ขอพระราชทานพระราชธิดาอันทรงพระนามพระเทพกษัตรี ไปเป็นปิ่นศรีสุรางคนิกรกัญญา ในมหานคเรศปราจีนทิศ เป็นทางพระราชสัมพันธไมตรีสุวรรณปัฐพีแผ่นเดียวกันชั่วกาลปวสาน..." ซึ่งการที่พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต มีพระราชสาส์นมาทูลขอพระเทพกษัตรี พระราชธิดาในครั้งนั้น กล่าวกันว่า เป็นเพราะทรงสดับเรื่องราวแห่งพระวีรกรรมในสมเด็จพระสุริโยทัย พระราชชนนี ก็ปรารถนาที่จะได้หน่อเนื้อเชื้อไข แห่งพระวีรกษัตรีไปเป็นพระอัครมเหสี ดังมีความในพระราชพงศาวดารบันทึกไว้ต่อมาว่า ในครั้งนั้นพระเทพกษัตรีกำลังทรงพระประชวรอยู่ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงพระราชทานพระแก้วฟ้าพระราชธิดาไปแทน แต่พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตได้ขอถวายพระแก้วฟ้าคืน โดยทรงมีเหตุผลว่า "...เดิมเราจำนงขอพระเทพกษัตรี ซึ่งเป็นพระราชธิดาพระสุริโยทัย อันเสียพระชนม์แทนพระราชสามีกับคอช้าง เป็นตระกูลวงศ์กตัญญูอันประเสริฐ ตรัสแล้วก็แต่งให้พระยาแสน พระยานคร พระยาทิพมนตรี เป็นทูตานุทูตให้มาส่งพระแก้วฟ้าราชบุตรีคืนยังกรุงพระนครศรี อยุธยา..." การขอพระราชทานพระเทพกษัตรี พระราชธิดาในสมเด็จพระสุริโยทัยครั้งนี้ ปรากฏความต่อมาว่า เมื่อพระราชธิดาทรงหายจากอาการพระประชวรแล้ว ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเชิญเสด็จไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุต แต่พระเจ้าหงสาวดีได้ให้กองทัพคุมกำลังมาสกัด และอัญเชิญพระเทพกษัตรีไปยังกรุงหงสาวดีเสียก่อน พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต จึงมิได้พระเทพกษัตรีพระราชธิดาสมเด็จพระสุริโยทัย ตามที่ทรงมีพระราชประสงค์ แต่ความตอนนี้ก็เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า พระเกียรติคุณแห่งความกล้าหาญในสมเด็จพระสุริโยทัยนั้น เป็นที่เลื่องลือ และกล่าวขวัญถึงด้วยความยกย่องไปในแว่นแคว้นใกล้ไกล สมเด็จพระสุริโยทัยพระองค์นี้ก็คือ สมเด็จพระอัยกีในมหาราชที่สำคัญพระองค์หนึ่งของไทยคือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช นั่นเอง พระราชานุสรณ์แห่งสมเด็จพระสุริโย ทัย เรื่องราวอันเป็นวีรกรรมในสมเด็จพระสุริโยทัย นอกจากจะมีกล่าวไว้ในบันทึกพระราชพงศาวดาร เป็นที่รับรู้ และเล่าขานสืบกันมาแล้ว ยังมีพระราชานุสรณ์ที่ปรากฏเป็นสถานที่ และปูชนียสถาน ซึ่งเกี่ยวเนื่องในพระองค์ ยังปรากฏมาจนทุกวันนี้ นั่นคือ พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย ณ วัดสบสวรรค์ อันเป็นที่ถวายพระเพลิงพระศพ ณ กรุงศรีอยุธยานั่นเอง ความเป็นมาของพระราชานุสาวรีย์แห่งนี้มี ความว่า เมื่อปลายรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ หลังจากทรงมอบราชสมบัติให้สมเด็จพระมหิน- ทราธิราช พระราชโอรสแล้ว ก็ได้เสด็จมาประทับ ณ บริเวณสวนหลวง อันมีพระอารามสบสวรรค์ พระอนุสรณ์แห่งพระอัครมเหสีตั้งอยู่ ประดุจว่า ได้ประทับอยู่ใกล้พระมเหสีที่ทรงอาลัยยิ่ง บริเวณนี้ต่อมาได้เป็นสถานที่ตั้งของพระราชวังหลังของพระนครศรีอยุธยา ด้วย ตราบจนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ในพุทธศักราช ๒๓๑๐ แล้วก็คงจะถูกทิ้งร้างเรื่อยมา จนถึงปลายรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการตั้งกรมทหารมณฑลกรุงเก่าขึ้น ในบริเวณที่เคยเป็นสวนหลวง วังหลัง และวัดสบสวรรค์ โดยมิทราบว่า สถานที่นั้น มีความสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จมาทรงประกอบพระราชพิธีสังเวยอดีตมหาราช ณ กรุงเก่าพระนครศรีอยุธยา ในพุทธศักราช ๒๔๕๑ พระยาโบราณราชธานินทร์ ได้ศึกษาสอบค้นเกี่ยวกับสถานที่ตั้งสำคัญในกรุงศรีอยุธยาขึ้น ทูลเกล้าฯ ถวายเป็นหนังสือชื่อ "อธิบาย แผนที่ พระนครศรีอยุธยา" ระบุสถานที่กรมทหารที่สร้างใหม่ว่า อยู่ตรงบริเวณที่เคยเป็นสวนหลวง วังหลัง และวัดสบสวรรค์ ตามหลักฐานที่พระยาโบราณราชธานินทร์ สอบค้นพบนี้ ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว "เหล่า เสนาข้าทูลละอองธุลีพระบาทราชบริพาร" จึงพร้อมใจกัน ขอพระบรมราชานุญาตสร้างอนุสาวรีย์เทิดพระเกียรติ จารึกข้อความสดุดีวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระสุริโยทัยไว้ในบริเวณ นั้น ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับพระเจดีย์ขนาดใหญ่ของวัดสบสวรรค์ที่ยังเหลืออยู่อีก ๑ องค์ พระเจดีย์องค์นี้เองที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่าเป็น "... พระเจดีย์ที่บรรจุพระอัฐิสมเด็จพระสุริโยทัย" และได้รับชื่อเรียกต่อมาว่า "พระ เจดีย์ศรีสุริโยทัย" พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย จึงเป็นปูชนียสถานของวัดสบสวรรค์เพียงแห่งเดียวที่ยังคงปรากฏมาจนปัจจุบัน การถือพระเจดีย์องค์นี้เป็นพระราชานุสาวรีย์แห่งสมเด็จพระสุริโยทัย ก็เป็นเหตุผลที่ยอมรับนับถือได้ โดยไม่ขัดเขินใจแก่ผู้ถวายราชสักการะ พระเจดีย์ศรีสุริโยทัยได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์และ งดงามสืบมา โดยเฉพาะในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ ทางการได้ปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากร ที่โปรดให้สร้างขึ้น ในวโรกาสมหามงคล ดังกล่าว มาประดิษฐานในพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๔ พระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ตามพระนามแห่งพระวีรกษัตรี และพระนามาภิไธยในพระองค์ว่า "พระ พุทธสุริโยทัยสิริกิติทีฆายุมงคล" และได้ทรงมีพระราชดำริให้ก่อสร้าง พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยประดิษฐาน ณ ตำบลอันเป็นสถาน ที่ทรงสละพระชนม์ชีพ ในการศึกกับพม่า ณ บริเวณทุ่งมะขามหย่องอีกแห่งหนึ่ง พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย นับว่าพระวีรกรรมแห่งสมเด็จพระสุริโยทัย สมควรได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์ชาติไทยสืบไปอีกนานเท่านาน |