เล่มที่ 21
วีรสตรีไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ท้าวเทพกระษัตรี - ท้าวศรีสุนทร วีรสตรีแห่งเมืองถลาง


อนุสาวรีย์ท้ายเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร ที่อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

เมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นับจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแห่งใหม่ ณ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๕ นอกจากจะต้องทรงสร้างบ้านสร้างเมืองให้เหมือนกับเมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี เพื่อบำรุงขวัญอาณาประชาราษฎร์แล้ว ยังต้องทรงเตรียมการ สำหรับป้องกันภัยจากข้าศึกศัตรูภายนอก อันมีพม่าเป็นสำคัญอีกด้านหนึ่งด้วย

การณ์ก็เป็นไปอย่างที่ทรงคาดคิด เพราะหลังจากสร้างพระนครได้เพียง ๓ ปี เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชในปีพุทธศักราช ๒๓๒๘ พม่าก็ยกทัพใหญ่เข้ามาถึง ๙ ทัพ โดยกำหนดให้ทัพต่างๆ เข้าตีหัวเมืองทั้งหัวเมืองฝ่ายเหนือ หัวเมืองปักษ์ใต้ฝั่งตะวันตก และเข้าตีกรุงเทพฯ ซึ่งพระเจ้าปดุงกำหนดให้ตีพระนครให้แตกพ่าย เพื่อจะได้มีพระเกียรติยศเลื่องลือเหมือนดังที่พระเจ้าบุเรงนองแห่งกรุงหงสาวดีเคยตีได้กรุงศรีอยุธยา

ศึกเก้าทัพนี้เองที่ประวัติศาสตร์ชาติไทยจารึกวีรกรรมของสตรีสองพี่น้องแห่งเมืองถลาง ซึ่งได้นำชาวเมืองต่อสู้กองทัพพม่า ปกป้องบ้านเมือง ให้รอดพ้นจากการถูกยึดครองอย่างองอาจกล้าหาญ จนข้าศึกต้องถอยทัพกลับไป เมื่อความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นเป็นท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทร เพื่อเป็นบำเหน็จความชอบและประกาศเกียรติคุณในความกล้าหาญ เรื่องราววีรกรรมของสองวีรสตรีแห่งเมืองถลางในครั้งนั้น เป็นความภาคภูมิใจที่จารึกในความทรงจำของชาวเมือง และของชาวไทยทั้งชาติ ตราบจนกระทั่งทุกวันนี้

อนึ่ง เพื่อให้การศึกษาประวัติชีวิตของบุคคลซึ่งได้รับการยกย่องขึ้นเป็นวีรบุรุษวีรสตรีของชาติ มีความเป็นเหตุเป็นผลที่ศึกษาและเข้าใจได้ มิใช่เป็นแต่เพียงคำสรรเสริญอย่างไร้หลักฐาน จึงขอนำข้อมูลประวัติศาสตร์ที่บันทึกเรื่องราวชีวิตและเหตุการณ์ของ ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร มาเสนอไว้ดังต่อไปนี้

ท้าวเทพกระษัตรี มีนามเดิมว่า "จัน" ส่วนท้าวศรีสุนทร มีนามเดิมว่า "มุก" เป็นบุตรีของเจ้าเมืองถลาง มีชื่อเรียกตามถิ่นที่ตั้งของเมืองถลางสมัยนั้น ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านตะเคียนว่า จอมร้างบ้านตะเคียน มารดามีเชื้อสายเจ้าเมืองไทรบุรี จันและมุกมีน้องสาวน้องชายร่วมบิดามารดาอีก ๓ คน คือ หมา อาด และเรือง

ท้าวเทพกระษัตรีหรือจัน เกิดในสมัยกรุงศรีอยุธยาราวปีพุทธศักราช ๒๒๘๐ เมื่อเจริญวัยเป็นสาวได้สมรสครั้งแรกกับหม่อมศรีภักดี บุตรจอมนายกองเมืองนครศรีธรรมราช และเมื่อหม่อมศรีภักดีถึงแก่กรรม ได้กลับมาเมืองถลาง ได้สมรสใหม่กับพระพิมล อดีตเจ้าเมืองกระชุมพร มีบุตรชายหญิงรวม ๕ คน คือ ปราง เทียน ทอง จุ้ย และเนียม พระพิมลสามีของท่าน เคยออกไปเป็นเจ้าเมืองพัทลุงระยะหนึ่งก่อนจะกลับมาเป็นเจ้าเมืองถลางต่อจากพระยาถลาง ซึ่งเป็นน้องชายท้าวเทพกระษัตรี

ส่วนท้าวศรีสุนทรหรือมุก ไม่พบหลักฐานรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตครอบครัว บ้างว่าสมรสกับอาจ เป็นพระปลัด แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน และบ้างก็ว่าท่านน่าจะมิได้สมรส ดังนั้นในส่วนของรายละเอียดหลักฐานที่ปรากฏ จึงเป็นเรื่องราวของท้าวเทพกระษัตรีเสียเป็นส่วนใหญ่

สำหรับเหตุการณ์วีรกรรมของท่านทั้งสองตามที่มีบันทึกในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ มีความดังนี้

"...ฝ่ายกองทัพพม่าซึ่งพระเจ้าอังวะให้ยกลงไปตีหัวเมืองไทยฝ่ายตะวันตกตามชายทะเลนั้นก็ยกกองทัพบกเรือลงไปพร้อมกันอยู่ ณ เมืองมะริด แต่เดือนอ้าย ปีมะเส็ง สัปตศก (พ.ศ.๒๓๒๘) แกงวุ่นแมงยี่ แม่ทัพใหญ่จึงให้ยี่วุ่น เป็นนายทัพถือพล ๓,๐๐๐ กับนายทัพนายกองทั้งปวงยกทัพเรือลงไปทางทะเลไปตีเมืองถลาง แล้วให้เนมโยคุงนรัดเป็นทัพหน้ากับนายทัพนายกองทั้งปวงถือพล ๒,๕๐๐ ยกทัพบกมาทางเมืองกระบุรี เมืองระนอง เข้าตีเมืองชุมพร ตัวแกงวุ่นแมงยี่แม่ทัพใหญ่ถือพล ๔,๕๐๐ ยกหนุนมาทั้ง ๒ ทัพ เป็นคน ๗,๐๐๐..."

"...ฝ่ายยี่วุ่นแม่ทัพเรือพม่าก็ยกทัพเรือลงไปตีเมืองตะกั่วป่าตะกั่วทุ่งแตก แล้วยกไปถึงเกาะถลาง ให้พลทหารขึ้นบกเข้าตั้งค่ายล้อมเมืองถลางไว้เป็นหลายค่าย และเมื่อกองทัพพม่าไปถึงเมืองนั้น พระยาถลางถึงแก่กรรมเสียก่อนแล้ว ยังหาได้ตั้งเจ้าเมืองใหม่ไม่ และจันภรรยาพระยาถลางกับน้องหญิงคนหนึ่งชื่อมุก คิดอ่านกับกรมการทั้งปวงเกณฑ์ไพร่พลตั้งค่ายใหญ่สองค่าย ป้องกันรักษาเมืองเป็นสามารถ และตัวภรรยาพระยาถลางกับน้องผู้หญิงนั้น องอาจกล้าหาญมิได้เกรงกลัวย่อท้อต่อข้าศึก เกณฑ์กรมการกับพลทหารทั้งชายหญิงออกระดมยิงปืนใหญ่น้อยนอกค่ายสู้รบกับพม่าทุกวัน ทัพพม่าจะหักเอาเมืองมิได้ แต่สู้รบกันอยู่ประมาณเดือนเศษ พม่าขัดเสบียงอาหารจะหักเอาเมืองมิได้ ก็เลิกทัพลงเรือกลับไป..."

จากศึกถลางครั้งนี้แม้บ้านเมืองจะรอดจากการยึดครองของพม่าไปได้ แต่ก็มีสภาพบอบช้ำจากภัยสงครามอย่างมาก ท่านผู้หญิงจันต้องรับภาระกอบกู้สถานการณ์ทุกด้าน ตั้งแต่การจัดหาข้าวปลาอาหารสำหรับชาวเมือง ไปจนถึงการฟื้นฟูการประกอบอาชีพ การทำมาหากิน ซึ่งมีการทำเหมืองแร่ดีบุกเป็นสำคัญ ท้าวเทพกระษัตรีหรือท่านผู้หญิงจันในฐานะภริยาเจ้าเมืองถลาง ได้มีหนังสือไปถึงพระยาราชกปิตัน หรือฟรานซิสไลท์ เจ้าเมืองปีนังแจ้งข่าวเรื่องศึกพม่า และขอความอนุเคราะห์เรื่องเสบียงอาหารของชาวเมืองที่กำลังขาดแคลนดังนี้

"หนังสือท่านผู้หญิงจำเมรินมายังท่านพญาราชกปิตันเหล็กก็ให้แจ้งด้วยมีหนังสือฝากให้แก่นายเรือตะหน้าวถือมาเถิงเป็นใจความว่า เมื่อท่านอยู่ ณ เมืองบังลา รู้ข่าวไปว่า พม่ายกมาตีเมืองถลาง จะได้เมืองถลางประการใด แลตูข้าลูกเต้าทั้งปวงจะได้ไปด้วยหรือประการใดมิแจ้ง ต่อท่านมาถึงเมืองไซ รู้ไปว่าเมืองถลางไม่เสียแก่พม่า แลตูข้าลูกเต้าทั้งปวงอยู่ดีกินดี ค่อยวางใจลงในหนังสือ มีเนื้อความเป็นหลายประการนั้นขอบใจเป็นหนักหนา พระคุณท่านหาที่สุดมิได้ แลอยู่ทุกวันนี้ ณ เมืองถลาง พม่าตีบ้านเมืองเป็นจลาจลอดข้าวปลาอาหารเป็นหนักหนา ตูข้ายกมาตั้งทำดีบุกอยู่ ณ ตะปำ ได้ดีบุกบ้างเล็กน้อย เอาซื้อข้าวแพง ได้เท่าใด เอาซื้อสิ้นเท่านั้น...

อนึ่ง ตูข้าได้จัดดีบุกสิบภารา เป็นส่วนเจ้าลิบแปดภารา ส่วนตูข้าสองภารา จัดให้มาแก่ท่านและเจ้าลิบนั้นได้แต่งให้จีนเฉียวพี่ชาย และตูข้าได้แต่งนายแช่มจินเสมียนอิ่ว คุมเอาดีบุกไปถึงท่านให้ช่วยจัดซื้อข้าวให้ อนึ่ง ถ้าข้าว ณ เกาะปุเหล้าปีนังขัดสน ขอท่านได้ช่วยแต่งให้ผู้หนึ่งผู้ใดไปช่วยจัดซื้อข้าว ณ เมืองไซ ถ้าได้ข้าวแล้วนั้นขอท่านได้ช่วยแต่งสุหลุปกำปั่นเอามาส่งให้ทัน ณ เดือนสิบเอ็ด เห็นว่าจะได้รอดชื่อเห็นหน้าท่านสืบไป..."

จากหลักฐานดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ในฐานะเป็นภริยาเจ้าเมือง ท้าวเทพกระษัตรีต้องรับภาระช่วยเหลือหน้าที่ราชการของสามีทั้งในการปกครอง การติดต่อซื้อขายกับพ่อค้าชาวต่างชาติ ทั้งในยามปกติและในยามที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะขาดแคลนเสบียงอาหาร ซึ่งเป็นผลมาจากการศึกสงคราม ทั้งนี้เพื่อช่วยในการฟื้นฟู และบรรเทาความอดอยากของราษฎร ด้วยการเร่งรัดให้ชาวเมืองช่วยกันผลิตดีบุก เพื่อนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกับข้าวและอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อเตรียมการป้องกันการรุกรานจากข้าศึกที่อาจจะเข้ามารุกรานอีก

ท้าวเทพกระษัตรีหรือท่านผู้หญิงจันนั้น เป็นสตรีที่มีความชาญฉลาดมีไหวพริบ และมีความกล้าเกินกว่าสตรีทั่วไปในยุคสมัยเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ที่พยายามรักษาสิทธิและเกียรติยศชื่อเสียงในฐานะทายาทของตระกูลเจ้าเมืองถลางไว้อย่างเต็มความสามารถ เมื่อทางกรุงเทพฯ ได้แต่งตั้งเจ้าพระยาสุรินทราชา (จันทร์ จันทโรจวงศ์) ให้มาเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองถลางและหัวเมืองในภาคใต้อีก ๘ หัวเมือง ท้าวเทพกระษัตรี ซึ่งหมายมั่นว่าจะให้บุตรชายขึ้นเป็นเจ้าเมือง แต่พลาดโอกาส จึงพาบุตรธิดา คือ พระยาทุกขราษฎร์เทียน จุ้ย เนียม และทอง เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ดังมีหลักฐานในหนังสือของท่านและบุตรชาย มีไปถึงพระราชกปิตันพรรณนาเหตุการณ์ และการเตรียมการ เพื่อเข้าไปเฝ้า ณ กรุงเทพมหานคร ดังนี้

"...หนังสือข้าพเจ้าท่านผู้หญิงปราณีบัติมายังโตกพญาท่านด้วย ณ เดือนแปดข้างแรมนี้ ข้าพเจ้าจะเข้าไปกรุงเป็นแน่ แต่จะมาทางเมืองตรัง ถ้าข้าพเจ้ามาถึงเกาะตะลิโบงแล้ว จะให้พญาทุกราชกับพ่อจุ้ยมากราบเท้าพญานายท่าน จะขอพึ่งชื่อของท่านสักสามสิบสี่ภารา จะได้เอาเข้าไปแก้ไข ณ กรุง ... แลพญานายท่านได้เห็นดูแก่ข้าพเจ้าเช่นนี้ด้วยเถิด ข้าพเจ้าหามีผู้ใดเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่แล้ว ยังเห็นหน้าแต่ท่านแห่งเดียว และให้โตกพญานายท่านช่วยจัดปืนสะตันสัก ๕๐ บอก ผ้าขาวก้านแย้งลายเครือผ้าขาวอุเหมาเนื้อดี ผ้าขาวกาษาหน้าทอง หน้าจั่ว ผ้าลายดอกต่างกัน ผ้าเข้มขาบ โหมดตาด ผ้าดำเนื้อดี แพรดาไหรสีต่างกัน น้ำมันจันน้ำกุหลาบ... ข้าพเจ้าว่ากล่าวคิดอ่านออกมาให้พญาทุกราชทำการ ณ เมืองถลางดูสักครั้ง..."

ในการเข้าเฝ้าครั้งนั้น ท้าวเทพกระษัตรีได้นำบุตรสาวชื่อ ทอง เข้าถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาได้รับพระมหากรุณาให้เป็นเจ้าจอม ต่อมาได้มีพระราชธิดา ๑ องค์ พระนามว่า พระองค์เจ้าหญิงอุบล ส่วนบุตรชายคือ พระยาทุกขราษฎร์ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาเพชรคิรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง เจ้าเมืองถลาง และต่อมาได้เป็นผู้ช่วยเจ้าพระยาสุรินทราชา ผู้สำเร็จราชการ ๘ หัวเมือง เพื่อแบ่งเบาภาระอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย นอกจากนี้บุตรชายชื่อจุ้ย ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระยายกรบัตร บุตรชายชื่อเนียม ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กวังหลวง นับว่า ท้าวเทพกระษัตรีสามารถทำหน้าที่ในการสร้างความสัมพันธ์อันแนบแน่น ระหว่างอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นกับการปกครองส่วนกลาง โดยเฉพาะราชสำนักเป็นผลสำเร็จอย่างดียิ่ง

นับว่าประวัติการต่อสู้ของวีรสตรีเมืองถลางคือ ท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทรนั้น เป็นแบบอย่างที่แสดงให้เห็นว่า บทบาทของหญิงไทยนั้น ต้องทำหน้าที่ทุกอย่างได้ ทั้งในยามบ้านเมืองเป็นปกติ หรือในยามคับขัน

เพื่อเป็นการยกย่องวีรกรรมของท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทรให้จารึกในจิตใจลูกหลานเมืองถลาง และของชาวไทย ทางการได้ตั้งนามสถานที่ตั้งเมืองถลางเมื่อครั้งศึกพม่าว่า ตำบลเทพกระษัตรี และให้รวมตำบลท่าเรือ กับตำบลลิพอนตั้งเป็นตำบลชื่อว่า ศรีสุนทร นอกจากนี้ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๐ ยังได้สร้างอนุสาวรีย์ของวีรสตรีแห่งเมืองถลาง ไว้ที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นเครื่องหมายและอนุสรณ์แห่งความกล้าหาญของสตรีในประวัติศาสตร์ชาติไทยอีกแห่งหนึ่ง